วันที่ 6 ก.ย.67 ที่ศาลาว่าการ กทม. นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยแนวทางบริหารจัดการบุคลากร กทม.ว่า ขณะนี้พบมีบุคลากรไม่ครบตามกรอบอัตราที่ กทม.ต้องการ จึงพยายามแก้ไขด้วยการเปิดสอบแข่งขันจากบุคคลภายนอกและภายใน ผู้พิการ รวมถึง ทำข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เพื่อผลักดันเข้าสู่ตำแหน่งงาน และเปิดโอกาสให้ลูกจ้างประจำของ กทม.ที่มีวุฒิการศึกษาตามมาตรฐานกำหนดสอบตรงเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการ

 

ที่ผ่านมา จากการเปิดให้บุคคลทั่วไปสอบแข่งขัน ทำให้ กทม.มีผู้มีความรู้ความสามารถหลากหลายเข้าทำงาน แต่ปัญหาหลักที่พบคือ ทำงานได้ไม่นาน เนื่องจากภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด ต้องมาอาศัยในกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีค่าครองชีพสูง จึงมีผลกระทบต่อการทำงานและลาออกไปจำนวนมาก เกิดตำแหน่งงานว่างเกือบร้อยละ 10 ยอมรับว่าการขาดอัตรากำลังเป็นเรื่องที่เร่งแก้ไขเรื่อยมา เพราะมีผลต่อกรุงเทพมหานคร ซึ่งปัจจุบันมีภาระงานจำนวนมากที่ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว รวมถึงมีความคาดหวังเรื่องประสิทธิภาพของงานสูง เบื้องต้น พยายามกระจายกำลังคนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนมากที่สุด และให้สิทธิ์บุคลากรภายในมีโอกาสโยกย้ายลำดับแรกเมื่อมีตำแหน่งว่าง

 

ทั้งนี้ ภาพรวมโดยประมาณ กรุงเทพมหานครมีบุคลากร 80,000 คน ประกอบด้วย ข้าราชการสามัญ 22,000 คน ครู 16,000 คน ลูกจ้างประจำ 30,000 คน ลูกจ้างชั่วคราว 10,000 คน อัตราว่างปัจจุบันไม่ถึง 1,000 คน

 

ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ยอมรับว่าบุคลากรไม่เพียงพอ แต่ได้แก้ปัญหา เช่น การรับผู้พิการเข้าทำงาน การทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เพื่อให้ได้บุคลากรเข้ามาทดแทนส่วนที่ขาดไป แต่ยังไม่เพียงพอ โดยสถานการณ์บุคลากรไม่เพียงพอ ไม่ได้เกิดกับ กทม.หน่วยงานเดียว แต่กระทรวงอื่น ๆ และจังหวัดต่าง ๆ ก็ไม่เพียงพอเช่นกัน มองว่าคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยนิยมเข้ารับราชการ แต่มักไปทำงานกับภาคเอกชน หรือขายของออนไลน์มากกว่า เพราะมีรายได้สูงกว่าจำนวนมาก ดังนั้น อนาคตจะใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพงาน โดยไม่ต้องใช้อัตรากำลัง เพื่อแก้ปัญหาอีกทางหนึ่งด้วย