จับตา! พายุ “ยางิ” ทวีความรุนแรงระดับ 5 เป็น “ซูเปอร์ไต้ฝุ่น” เตรียมขึ้นฝั่งเวียดนาม-จีน "กรมอุตุฯ" ประกาศเตือน "ยางิ" เคลื่่อนตัวขึ้นฝั่งเวียดนาม ส่งผลให้ภาคเหนือ-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน" ของไทย เตรียมรับมือฝนที่ตกหนัก "ปภ." เตือน 10 จังหวัดภาคกลาง รวมกรุงเทพฯ เฝ้าระวังระดับน้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูง
เมื่อวันที่ 5 ก.ย.67 เพจเฟซบุ๊ก “World Forum ข่าวสารต่างประเทศ” ได้อัปเดตสถานการณ์เส้นทางพายุไต้ฝุ่น “ยางิ” โดยระบุว่า “พายุโซนร้อน ยางิ ทวีความรุนแรงเป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่น ความเร็วลม 240 กม./ชม. JTWC คาดการณ์ “ยางิ” จะเป็นพายุระดับ 5 ขึ้นฝั่ง เวียดนามและจีน”
วันเดียวกัน ว่าที่ร้อยตรี ธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 04.00 น. ของวันที่ 5 ก.ย. กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเรื่อง พายุ "ยางิ" ฉบับที่ 7 เรื่องพายุไต้ฝุ่น "ยางิ" บริเวณทะเลจินใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ที่ ละติจูด 19.2 องศาเหนือ ลองจิจูด 116.0 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 185 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกอย่างช้าๆ คาดว่าในช่วงวันที่ 6-7 ก.ย. จะเคลื่อน ผ่านเกาะไหหลำ ประเทศจีน และขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนตกหนัก และลมกระโชกแรงบางแห่ง ในช่วงวันที่ 7-8 ก.ย.
อนึ่ง ในช่วงวันที่ 5-6 ก.ย. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ใน ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝังตะวันตก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม
ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่น สูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วย ความระมัดระวังและหลีกเลี้ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 8 ก.ย.นี้ไว้ด้วย จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซด์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ด้าน ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สทนช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการเตรียมพื้นที่รองรับน้ำในเขื่อน เพื่อรับมือกับสถานการณ์ฝน รวมถึงจะมีการใช้พื้นที่หน่วงน้ำ ก่อนที่ปริมาณน้ำจะไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งในช่วงวันที่ 9–10 ก.ย. อาจจะต้องระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอยู่ในอัตราประมาณ 2,000 ลบ.ม. ต่อวินาที และคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำทำให้เกิดน้ำท่วมเพิ่มเติมในบริเวณพื้นที่ริมแม่น้ำ พื้นที่ลุ่มต่ำ และพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ จ.ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี
ทั้งนี้ ในวันที่ 5 ก.ย. สทนช. ได้ประชุมหน่วยบริหารจัดการน้ำร่วมกับหน่วยงานด้านน้ำและทุกจังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยา รวมถึงจะพิจารณาจัดตั้งศูนย์พักพิงและเตรียมถุงยังชีพ เพื่อเป็นการดูแลและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่
สำหรับพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ แม่น้ำยม แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำจันทบุรี แม่น้ำตราด แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณ คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และแม่น้ำน้อย ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา
ขณะที่ นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้รับแจ้งจากกรมชลประทาน ว่า ในช่วงวันที่ 3-9 ก.ย. ร่องมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคกลาง และภาคใต้
จากการคาดการณ์ปริมาณน้ำล่วงหน้า 1-7 วันข้างหน้า พบว่าปริมาณน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในวันที่ 9 ก.ย. ที่สถานี C.2 อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน ประมาณ 1,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และคาดการณ์ปริมาณน้ำจากลำน้ำสาขา ประมาณ 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งทำให้ปริมาณน้ำที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณ 1,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และรับน้ำเข้าระบบกรมชลประทานทั้ง 2 ฝั่ง ในอัตรา 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตราระหว่าง 1,400-1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 0.25-0.40 เมตร และอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ย.เป็นต้นไป
กอปภ.ก. จึงได้ประสาน 10 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ รวมถึงกรุงเทพมหานคร เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ
พร้อมประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชนที่ประกอบกิจการในแม่น้ำ อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร ท่าเทียบเรือโดยสารสาธารณะ ตลอดจนประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จุดเสี่ยงที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำให้เฝ้าระวังระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ รวมถึงเตรียมพร้อมในการขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงให้พ้นจากแนวน้ำท่วม
นอกจากนี้ ยังได้ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ตรวจสอบแนวคันกั้นน้ำและแนวป้องกันน้ำท่วมให้มีความแข็งแรง เพื่อป้องกันระดับน้ำล้นข้ามแนวคันกั้นน้ำ อีกทั้งจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย เพื่อเตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง