สยามรัฐ ยึดมั่นอุดมการณ์ปกป้องเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ยืนหยัดรับใช้สังคมด้วยจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบ …*…

 อัพเดทความคืบหน้าการฟอร์มครม.อุ๊งอิ๊ง 1 ล่าสุด ทุกอย่างลงตัวเรียบร้อย รายชื่อได้รับการโปรดเกล้าฯลงมาแล้ว…*…

ทั้งนี้ ทั้งนั้นเชื่อว่า“คุณสมบัติ”ของรัฐมนตรีในครม.ชุดนี้ไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะตามข่าวแล้ว ผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มข้นจาก 2 มือกฎหมายชั้นอ๋องคือนายมีชัย ฤชุพันธุ์ และนายวิษณุ เครืองาม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาตกม้าตายซ้ำรอยนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ …*…

 แต่ในแง่ “คุณวุฒิ”มีความเหมาะสมกับตำแหน่งหรือไม่ประการใดนั้น ต้องรอให้ผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์ …*…

 ขณะที่ภาพลักษณ์รัฐบาลอุ๊งอิ๊งดูเหมือนจะไม่ต่างอะไรเท่าไรนักเมื่อเทียบกับรัฐบาลเศรษฐาที่เคยถูกประณามหยามเหยียดว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากการตระบัดสัตย์ เพราะฉีกเอ็มโอยูที่เคยทำไว้กับพรรคก้าวไกล แล้วข้ามขั้วมาจับมือกับพรรค 2 ลุง ทั้งที่เคยประกาศเสียงดังฟังชัดในทำนอง “ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ”ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง …*…

 เนื่องด้วยผู้คนจำนวนไม่น้อยมองว่ารัฐบาลอุ๊งอิ๊งก็มาจากการหักหลังพรรคพลังประชารัฐ หลังจากที่ร่วมโหวตสนับสนุนให้น.ส.แพทองธารขึ้นเป็นนายกฯ และหันไปจูบปากกับพรรคการเมืองที่ยืนตรงกันข้ามมาตลอดอย่างประชาธิปัตย์ ทั้งที่ไม่มี สส.ประชาธิปัตย์คนใดยกมือให้ น.ส.แพทองธารเลย …*…

 “เรื่องของพรรคพลังประชารัฐไม่ได้เกี่ยวกับพรรคเพื่อไทย แต่เกี่ยวข้องกับนายกฯ หลังมีสัญญาประชาคมร่วมกัน ซึ่งเสมือนหนึ่งเป็นคำมั่น กับพรรคพลังพลังประชารัฐที่แสดงออกต่อสาธารณะไปแล้วว่าจะให้พรรคพลังประชารัฐ ร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี และให้พรรคพลังประชารัฐมีเก้าอี้รัฐมนตรีตามสัดส่วนเดิม หลังจากนั้นพรรคพลังประชารัฐก็ออกเสียงโหวตให้ น.ส.แพทองธารเป็นนายกรัฐมนตรี 39 คน เว้นพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคที่ติดภารกิจตามความจำเป็น ถือว่าพรรคพลังประชารัฐได้ ทำตามคำมั่นที่ให้ไว้แล้ว ดังนั้นเป็นเรื่องที่นายกฯจะต้องดำเนินตามคำมั่น”ถ้อยแถลงบางช่วงบางตอนจากนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เมื่อได้รับทราบข่าวถูกเขี่ยพ้นรัฐบาลอุ๊งอิ๊ง …*…

พร้อมกันนี้รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐยังได้ย้ำด้วยว่าหากนายกฯไม่ปฏิบัติตามคำมั่น วิญญูชนโดยทั่วไป ก็จะว่าได้ท่านนายกรัฐมนตรี อาจมีปัญหาเสียงวิพากษ์วิจารณ์ อาจจะขาดความซื่อสัตย์สุจริตไม่เป็นที่ประจักษ์หรือไม่ …*…

ไม่ใช่แค่ น.ส.แพทองธาร เท่านั้นที่ถูกตั้งคำถามเรื่องหักหลังพรรคพลังประชารัฐ ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์เองก็ถูกมองว่าหักหลังกองเชียร์เช่นกัน จึงไม่แปลกที่คะแนนนิยมที่ย่ำแย่อยู่แล้ว ยิ่งเหลือลงน้อยนิดไปอีก โดยเห็นจากผลการสำรวจของซูเปอร์โพลหลังมีข่าวนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทย พบว่า คะแนนนิยมต่อพรรคประชาธิปัตย์เพิ่มขึ้นหรืออยู่ในแดนบวก เพียงร้อยละ 39.9 ในขณะที่คะแนนนิยมส่วนใหญ่ต่อพรรคประชาธิปัตย์ลดลงหรืออยู่ในแดนลบ ถึงร้อยละ 60.1 และที่น่าพิจารณาคือ เมื่อจำแนกออกตามกลุ่มอาชีพของคนเคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์ พบว่าเสียคะแนนนิยมในกลุ่มพนักงานเอกชนที่เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์มากที่สุด คือร้อยละ 81.1 รองลงมาคือกลุ่มเกษียณอายุ ร้อยละ 66.7 กลุ่มค้าขายอาชีพอิสระ ร้อยละ 65.3 กลุ่มข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 62.3 และกลุ่มเกษตรกร ร้อยละ 54.7 …*…

 และต้องบอกว่าเป็นเรื่องลำบากแสนสาหัสของพรรคประชาธิปัตย์ในการกอบกู้ความเชื่อมั่นกลับคืน ตราบใดที่ยังมีการแชร์คลิปตอกย้ำถึงการไม่รักษาคำพูดของนายเฉลิมชัยเมื่อครั้งยังเป็นเลขาฯพรรค ที่เคยกล่าวไว้ช่วงก่อนเลือกตั้งปี 2566 ว่า “ผมประกาศไว้ชัดเจนแล้ว รอบนี้ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ได้ต่ำกว่า 52 ที่ ผมเลิกเล่นการเมืองทั้งชีวิต เลิกเล่นนะ ไม่ใช่หยุดเล่น เลิกคือหันหลังเดินออกไปเลย”…*…

 เพราะในวันนี้ นายเฉลิมชัยไม่เพียงแต่ยังไม่เลิกเล่นการเมืองเท่านั้น ยังขยับจากตำแหน่งเลขาฯ ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค และนำพาประชาธิปัตย์ไปสู่เส้นทางที่สร้างความปวดร้าวให้แก่แฟนพันธุ์แท้ของพรรคโดยเฉพาะในเขตจังหวัดภาคใต้ …*…