เตรียมเปิดตัวอย่างเป็นทางการกับคณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีหญิง ที่ชื่อ “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” กับสูตรรัฐบาลผสม ที่ครั้งนี้มีพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมแจม โดยได้ 2 เก้าอี้ คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นอกนั้นพรรคการเมือง และเก้าอี้รัฐมนตรียังเหมือนเดิม
เป็นไปตามดิวที่ตกลงไว้!!!
เมื่อเป็นเช่นนี้โครงการต่าง ๆ ที่รัฐบาลที่ผ่านมาทำไว้ ก็สานต่อได้อย่างไร้รอยต่อ!!!
โดยเฉพาะโครงการที่จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่เวลานี้ไม่สามารถรอได้ จะต้องเร่งขับเคลื่อนโดยเร็ว หรือจะเรียกได้ว่า “ครม.เศรษฐกิจ”
ดังนั้นกลุ่มขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ จึงเป็นที่จับตามองว่าจะทำอะไรบ้าง!?!
และบุคคลที่คาดว่าจะมาทำหน้าที่ “ครม.เศรษฐกิจ” จากกระแสข่าวออกมา ยังคงเป็นทีมครม.เศรษฐกิจ หน้าตาเดิม หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ “นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ตามด้วย “นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ และนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล” รมช.คลัง ,นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม ,นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม ,นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม ,นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ,นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ ,นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์ ,นายสุชาติ ชมกลิ่น รมช.พาณิชย์ ,นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม และน.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ทั้งนี้ในมุมมองของนักวิชาการได้เปิดใจกับ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ถึงโฉมหน้ารัฐมนตรีที่คาดว่าจะมาทำหน้าที่ครม.เศรษฐกิจในชุดนี้ โดย “ผศ.ดร. สิงห์ สิงห์ขจร” คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา กล่าวว่า หลังจากที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีการแถลงหลังรับสนองพระบรมราชโองการ ในเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ การแก้ไขปัญหายาเสพติด ระบบสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกที่ ผลักดันนโยบายไทยแลนด์ซอฟต์พาวเวอร์อย่างต่อเนื่อง และการเพิ่มเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ สิ่งที่น่าสนใจคือการที่คณะรัฐมนตรีที่ยังเป็นทีมเดิมที่ทำงานมาก่อนหน้านี้ ซึ่งสามารถทำงานได้ทันทีอย่างไร้รอยต่อ ทำให้การขับเคลื่อนนโยบายต่างๆสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ในส่วนของนโยบายเรื่อง ดิจิทัลวอลเล็ต จะมีการเดินหน้าต่อแต่อาจจะปรับวิธีการเป็นให้เงินสดแทน การกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เกิดการหมุนเวียนเงินในระบบเศรษฐกิจในประเทศ โดยในช่วงเดือนกันยายนมีส่วนที่รัฐบาลของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ต้องให้ความสำคัญคือการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2568 วงเงิน 3,752,700 ล้านบาท ที่กำลังอยู่ในการพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งรายละเอียดของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2568 ในด้านเศรษฐกิจมีความน่าสนใจในประเด็น การสร้างเศรษฐกิจไทยเติบโตได้เต็มศักยภาพ สร้างรายได้ให้กับประชาชนและประเทศ การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลาง 8 อุตสาหกรรม บนการพัฒนา 6 พื้นฐานสำคัญ
ในส่วนของการท่องเที่ยวไทยเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ส่งเสริมการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ การขยายสนามบินสุวรรณภูมิ Runway 3 จะเปิดใช้งานเป็นทางการในปีนี้ ที่จะสามารถทำให้รองรับนักท่องเที่ยวได้เริ่มมากขึ้น สนับสนุนการสร้างความหลากหลายด้านการท่องเที่ยวสอดคล้องความต้องการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ กลุ่มคุณภาพ กลุ่มกีฬา กลุ่มสุขภาพ และกลุ่มความสนใจพิเศษ การสนับสนุนและผลักดันให้ชุมชนเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การพัฒนาชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี 100 หมู่บ้าน แหล่งท่องเที่ยวทางมรดกศิลปวัฒนธรรม 11 แหล่ง และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นแหล่งเรียนรู้ 8 แห่ง การส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) จัดงานแสดงสินค้าและนิทรรศการระดับนานาชาติ การส่งเสริมยกระดับซอฟต์พาวเวอร์ที่คนทั่วโลกรู้จักอย่าง มวยไทย อาหารไทย รวมไปถึงการส่งเสริมกีฬา E-sport และการส่งเสริมด้านแฟชั่นไทยให้ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ การส่งเสริมเขตเศรษฐกิจใหม่ New Business Zone เพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ การให้มาตรการที่ชัดเจนในการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ที่กำหนดสอดรับกับนโยบายศูนย์กลาง 8 อุตสาหกรรม
ดังนั้นการแถลงนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ จะมีนโยบายใหม่ๆ ที่ทำให้นักลงทุนชาวไทยและชาวต่างประเทศ รวมไปถึงประชาชนคนไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยปี 2568 จะเติบโตไปอย่างมั่นคง
ขณะที่ “นายทวีสันต์ วิชัยวงษ์” ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ถึงเวลานี้ภาคอุตสาหกรรมอยากเห็นทีมเศรษฐกิจในรัฐบาลของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่เข้มแข็งและสามารถฝากความหวังที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศไปได้ เพราะภาคอุตสาหกรรมเองก็ชัดเจนว่าอยากเห็นภาพของ “ครม.อุ้งอิ้ง1” เป็นทีมเศรษฐกิจที่เข้มแข็งชัดเจน ทั้งในส่วนของกระทรวงพาณิชย์, อุตสาหกรรม, ดีอี แม้กระทั่งกระทรวงศึกษาธิการหรือกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนามาตรฐานด้านอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการไทย
สุดท้ายความคาดหวังของเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร!?!
จะสามารถทำให้การแข่งขันการค้า-การลงทุน ตื่นเต้นได้มากน้อยแค่ไหน???
ได้เวลาลุ้นกันแล้ว!!!