ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

ชีวิตแม้ไม่ได้เป็นไปเหมือนดังที่ฝันไว้ แต่ก็ยังหล่อเลี้ยงประโลมใจได้ดีแม้จะอยู่ในความทุกข์ระทม

ในยุคที่อมิตตาเติบโตมาเป็นยุคที่เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้ามารายรอบ คนที่ไม่รู้หรือใช้คอมพิวเตอร์ไม่ได้จะเป็นคน “เอ้าท์” หรืออยู่นอกสังคม แม้แต่คนเฒ่าคนแก่ที่กลัวหรือไม่กล้าใช้เทคโนโลยีก็ต้องหันมาลองแตะ พอเริ่มเป็นก็เริ่มตื่นเต้น พอลองไปจนใช้การได้ก็สนุกสนาน ที่สุดก็ “เสพติด” เช้าสายบ่ายค่ำจนดึกดื่นก็ “ร่ำเล่น” แต่เฟสแต่ไลน์ ส่วนหนุ่มสาวหรือเด็ก ๆ ก็ไม่ต้องพูดถึง เพราะมือถือได้กลายเป็น “อวัยวะที่ 33” ไปเรียบร้อย เหมือนเกิดมาก็มีโทรศัพท์มือถือติดตัวออกมาด้วย ชีวิตทุกวินาทีก็ขลุกอยู่กับเจ้าแท่งแบน ๆ ในมือนี้ ส่วนที่เคลื่อนไหวก็มีเพียงนิ้วมือที่ “จิ้มและจีบ” ไปบนหน้าจอ กับสายตาซ้ายขวาที่ “กลอกกลิ้ง” ไล่ไปบนหน้าจอและตามทิศทางที่นิ้วพาไป อวัยวะนอกนั้นเหมือนจะไม่สำคัญและถูกลืมไปจนหมดสิ้น

อมิตตาเรียนปริญญาโทจบมาก็อายุย่างเข้าเบญจเพส เป็นปีเดียวกันกับที่แม่ป่วยหนักหลังทำบุญกระดูกของพ่อ ที่ไปเสียชีวิตในประเทศเพื่อนบ้านเมื่อก่อนหน้านั้น หลังจากที่ต้องหลบหนีเจ้าหนี้ต่าง ๆ หลังวิกฤติต้มยำกุ้งอยู่กว่า 10 ปี อมิตตาอยากให้แม่สบายใจเผื่อว่าจะฟื้นฟูอาการต่าง ๆ ให้สุขภาพดีขึ้นมาได้บ้าง เธอก็ไปสมัครทำงานในบริษัทด้านนำเข้าและส่งออก เพราะเธอมีความรู้ทั้งทางด้านการเงินและเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ค่อนข้างดี แต่ทำอยู่ได้ 2 ปีก็เปลี่ยนไปทำบริษัทด้านโลจิสติกส์ที่ได้เงินเดือนดีกว่า รวมถึงทำงานได้ยืดหยุ่นกว่า คือไม่ต้องไปประจำออฟฟิศ สามารถทำงานแบบอยู่กับบ้านหรือ “Work from Home” ได้ จึงทำให้เธอมีเวลาทำอะไรอื่น ๆ มากขึ้น ซึ่งในตอนแรกก็แค่จะทำเอาสนุก แต่พอทำไป ๆ กลับยิ่งสนุกเพราะทำให้มีรายได้ตามมา ซึ่งไม่ใช่รายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ แต่มากพอสมควรแบบที่เรียกว่า “เป็นกอบเป็นกำ”

ที่บ้านเธอเลี้ยงแมวอยู่ 2 ตัว เริ่มต้นคือเลี้ยงเอาไว้เป็นเพื่อนแม่ ให้แม่ได้ลูบหัวลูบตัว “เล่นกับแมว” ซึ่งตามคำแนะนำในเฟสบุ๊คเพจหนึ่งบอกว่าสามารถช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยด้านจิตใจได้ดี เช่นในประเทศญี่ปุ่นที่มีผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เขาก็เลี้ยงแมวไว้เป็นเพื่อน โดยแมวนี้มีข้อดีกว่าหมาในเรื่องการยึดติดกับเจ้าของ คนที่เลี้ยงหมาเมื่อเจ้าของตายหมาจะเสียใจและไม่สบายอยู่นาน แต่สำหรับแมวจะไม่มีอาการแบบนั้น คนญี่ปุ่นจึงนิยมเลี้ยงแมวมาก เช่นเดียวกันกับแม่ของเธอ เมื่อได้แมวมาเลี้ยงแล้วก็ดูสดใสแช่มชื่นขึ้น ไม่เพียงแต่จะจับเอาแมวมาทำความสะอาดและแต่งตัวให้สวยงาม แต่ตัวของแม่เองก็ได้รับการเอาใจใส่ดีขึ้น แม่กลับมาแต่งตัวสวย ๆ และบางทีก็แต่งตัวให้เข้ากันกับแมว และแม่ก็มีความสุขมาก

อมิตตาแอบถ่ายภาพและวิดีโอที่แม่เล่นกับแมว เอาแมวมาแต่งตัวและแม่เองก็แต่งตัวให้เข้ากัน แบบที่วัยรุ่นญี่ปุ่นเรียกว่า Cosplay คือแต่งเป็นตัวการ์ตูนหรือนางเอกต่าง ๆ แรก ๆ เธอก็แชร์เข้าไปในไลน์ของเพื่อน ๆ ทั้งของเธอและของแม่ ต่อมาก็สร้างเพจขึ้นในเฟสบุ๊คและนำไปลงยูทูป ก็มีคนมากดไลค์กดแชร์ รวมถึงที่มา “สับ” (Subscribe) เป็นสมาชิกติดตามดู จากร้อยเป็นพัน แล้วก็เป็นหมื่นเป็นหลาย ๆ หมื่น จนทำให้มีรายได้เข้ามา รวมถึงที่มีธุรกิจขายอาหารแมวและอุปกรณ์เกี่ยวกับการเลี้ยงแมว แม้แต่ของใช้ในบ้านและขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ ก็มาขอแจมเป็นสปอนเซอร์ด้วย รายได้ก็เพิ่มขึ้นอีกหลายทาง โดยที่เธอก็ผันตัวเองเป็นคน “รีวิว” สินค้าต่าง ๆ เพิ่มอีกด้วย ตลอดจนหาสินค้าต่าง ๆ มาขาย โดยไปเปิดเพจขึ้นใหม่ ซึ่งก็มีลูกค้าคับคั่ง ที่อาจจะเป็นด้วยความสามารถในการนำเสนอ การพูดจาที่คล่องแคล่วชวนซื้อ หรือด้วยพวกสัตว์ต่าง ๆ ที่เธอมาร่วมแสดงเป็น “พร็อพ” ในการเสนอขาย ฐานลูกค้าของเธอจึงขยายตัวกว้างขึ้น ซึ่งเธอก็ได้เก็บรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ของลูกค้าเป็น “ดาต้าเบส” ไว้เป็นอย่างดี ทั้งที่เข้ามาซื้อหรือไม่ซื้อก็ตาม

ตอนที่อมิตตาเรียนปริญญาโท เธอก็พบกับสารวัตรตำรวจหนุ่มคนหนึ่ง ที่มาเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยนั้นเช่นกัน เพียงแต่เป็นคนละคณะ และเป็นคนที่เธอไปปรึกษาเรื่องน้องชายที่มีปัญหาเกี่ยวกับการเสพยาเสพติด ซึ่งก็ช่วยให้น้องชายของเธอพ้นจากการติดคุกไปได้ ทั้งคู่จึงมีความสนิทสนมกันมากขึ้น จนกระทั่ง “อยู่กิน” กันแบบไม่ได้แต่งงาน โดยนายตำรวจคนนี้พักอยู่ที่คอนโดมิเนียมย่านซอยอารีย์ พหลโยธิน โดยที่เธอก็ไม่เอะใจว่าทำไมนายตำรวจยศแค่พันตำรวจตรี จึงมีที่พักและใช้ชีวิตที่หรูหราได้เช่นนั้น จนต่อมาเมื่อเธอได้เป็น “สตาร์” หรือดาวดังในยูทูบ แฟนของเธอคนนี้ก็มาขอให้เธอมาช่วยทำธุรกิจอีกอันหนึ่ง ที่เขาเรียกว่า “การลงทุนออนไลน์” ทีแรกเธอก็ปฏิเสธไปว่าเธอยุ่งมากกับธุรกิจขายของออนไลน์ที่เธอทำอยู่ แต่เขาก็ยังเซ้าซี้ บอกว่าเธอไม่ต้องเหนื่อยมาก เพียงแต่คอยช่วยอยู่ “เบื้องหลัง” เป็นหุ้นส่วนอีกคนหนึ่ง เพียงแต่จะขอข้อมูลลูกค้าทั้งหลายของเธอ มาส่งเอกสารและประชาสัมพันธ์ให้มาร่วมลงทุน

ดีที่ว่าเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า “เอไอ – Artificial Intelligence” ก็กำลังเติบโตขึ้นมา มันมีความสามารถในการจัดการฐานข้อมูลต่าง ๆ ให้เอาไปใช้ประโยชน์ต่าง ๆ ได้สะดวก เช่นเดียวกับฐานข้อมูลลูกค้าของเธอที่เก็บไว้จากการที่คนเหล่ามานั้นมาดูและซื้อสินค้าของเธอ แน่นอนว่าส่วนหนึ่งก็เป็นคนที่มี “กำลังซื้อ” และที่สำคัญมี “ความโลภ” เทคโนโลยีเอไอจึงเข้ามาจัดแจงสร้างเป็นกลุ่มลูกค้าเกรดต่าง ๆ ให้กับการลงทุนออนไลน์ได้อย่างง่ายดาย ตามลักษณะความโลภและกำลังซื้อของลูกค้าเหล่านั้น แล้วเธอก็ส่งข้อมูลที่แยกแยะ “คัดเกรด” ไว้เป็นอย่างดีนี้ให้กับแฟนตำรวจของเธอ กระทั่งเมื่อต้นปีนี้เธอก็มีชื่อเป็นข่าวออกโทรทัศน์ว่าเป็น “ผู้ร้าย” คนหนึ่งขบวนการ “ต้มตุ๋นออนไลน์” โดยที่ไม่ได้มีชื่อนายตำรวจที่เป็นแฟนของเธอนั้นด้วยเลย

เธอติดต่อไปที่แฟน เขาก็บอกว่าให้ใจเย็น ๆ เขาจะหาทางช่วยเธอเต็มที่ ตอนนี้ก็ให้ไปพบตำรวจเพื่อมอบตัวรับทราบข้อหาก่อน โดยจะให้ลูกน้องคนหนึ่งของเขาพร้อมทนายความคอยติดตามช่วยเหลือ เพราะเขาเองจำเป็นจะต้องเก็บตัวเงียบไว้ก่อน ทนายความแนะนำว่าให้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และอย่าไปให้สัมภาษณ์หรือตอบคำถามอะไรกับใคร ๆ แม้แต่ญาติหรือเพื่อนฝูงก็ไม่ได้ เดี๋ยวเขาจะให้คนในบริษัทติดต่อลูกค้าทุกราย แล้วเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ คนพวกนี้ส่วนใหญ่ก็ไม่อยากเป็นข่าวเหมือนกัน เพราะกลัวอับอายและเสียชื่อเสียง จึงไม่มีปัญหาว่าใครจะไปขยายข่าวให้ใหญ่โต ที่ร้อง ๆ กันอยู่บ้างก็คือคนที่ตกใจกลัวและเสียดายเงินมาก ๆ เท่านั้น แต่ถ้าค่อย ๆ พูดแล้วให้ความหวังไว้ เดี๋ยวเรื่องก็จะสงบไปในที่สุด

ตอนนี้เธออยู่ในระหว่างประกันตัวและรอขึ้นศาล ระหว่างนี้แฟนของเธอก็ให้หุ้นส่วนที่ไม่ปรากฏชื่อบางคนติดต่อกับลูกค้าและเจรจาไกล่เกลี่ยกันไป หลายรายก็ไม่ฟ้องร้องหรือเอาความ รวมถึงที่ตัวเธอเองก็มีความหวังว่าอาจจะไม่มีความผิด แฟนนายตำรวจของเธอบอกว่า จะให้ทนายต่อสู้ว่าเธอไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะได้เตรียม “ผู้ร้ายทิพย์” 2-3 คนไว้รับโทษในคดีนี้แล้ว ถ้าจะยังมีลูกค้าบางคนที่ไม่ยอมความ รวมถึงที่คดีนี้ก็เป็นความผิดอาญาแผ่นดินยอมความไม่ได้ จึงต้องหา “แพะ” ไว้รับโทษดังกล่าว

ชีวิตของอมิตตาอยู่ท่ามกลางความฝันมาโดยตลอด แม้ในขณะนี้ที่ฝันอยู่เสมอว่า “เธอไม่ผิด” และเธอจะยังฝันเสมอว่า เธอจะมีความสุขในฝันนี้... ตลอดไป