ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต
“...พลังแห่งปรารถนาของชีวิตนั้นมีคุณค่าที่ยิ่งใหญ่เสมอ โดยเฉพาะพลังด้านบวกแห่งการก่อเกิดความเป็นมิตรไมตรี..มันไม่มีประมาณ..ไม่มีข้อจำกัด หากมนุษย์เราสามารถสื่อสารสัมพันธ์กับตัวตนอันลึกซึ้งและเปิดกว้างได้ ..ด้วยการบ่มเพาะและเปิดรับองค์รวมแห่งความจริงอันตื่นตระการด้วยคุณประโยชน์ต่างๆ..ชีวิตมักเป็นเช่นนี้..ด้วยการติดตรึงและโอบกอดในกันและกันด้วย “จิตประภัสสร”..อันหมายถึงธรรมชาติของจิตที่เปิดรับ..กระจ่างชัด และมีความกรุณา..
ว่ากันว่า..เมื่อเราสัมผัสสิ่งนี้ภายในตัวเราเเละผู้อื่นอย่างเข้าใจ...เราก็จะพบว่า..แท้จริงในโลกนี้..ไม่มีอะไรที่เราจะเข้าใจได้อย่างสมบูรณ์หรอก..มันไม่สามารถจะอธิบายถึงประเด็นนี้ออกมาด้วยคำพูดใดๆได้ กระทั่ง เมื่อเราเกิดการนึกถึงความว่าง โดยการสืบเสาะจิตประภัสสรของเรา ผ่านความเข้าใจ..
“การนึกคิดถึงความว่างในลักษณะนี้ ..ทางจิตวิทยามองว่า ..อาจทำให้เกิดความรู้สึกพร่อง รู้สึกถึงความว่างเปล่า..หรือ ความเบื่อหน่าย..”
เราอาจจะเคยสงสัยกันว่า..ความตายจะเหมือนกับสิ่งนี้หรือไม่?..และหากต้องพิจารณากันในแง่นี้ ก็อาจทำให้เกิดความรู้สึกกลัว “กลัวความไม่มี เมื่อฉันตายไป..มันจะไม่เหลืออะไรเลย..”
ปฐมบททางความคิดเหล่านี้...ถือเป็นนัยสำคัญ ต่อยวิถีแห่งจิตบำบัดแนวภาวนา ที่ปรากฏอย่างมีคุณค่าต่อการตระหนักรู้..ผ่านหนังสือของ “คาเรน คิสเซล เวเกลา”..มิตรไมตรีไม่มีประมาณ (How to Be a Help Instead of a Nuisance).. ชึ่งแปลเป็นภาษาไทยโดย “ดวงฤทัย ชาติพุทธิกุล”..และมี “ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์” เป็นบรรณาธิการ..
หนังสือเล่มนี้นำเสนอเนื้อหา เพื่อเชื่อมโยงภาวนา เพื่อพัฒนาจิตของผู้ทำหน้าที่ให้การช่วยเหลือ เข้ากับกระบวนช่วยเหลือทางจิตใจ โดยมีฐานความเชื่อว่า “มนุษย์เรามีศักยภาพอยู่ภายใน ที่สามารถค้นหาคำตอบสำหรับชีวิตตนเองได้ และการช่วยเหลือที่ดี คือการช่วยให้มนุษย์เราเข้าถึงศักยภาพดังกล่าวนั้น..” ว่ากันว่า..เมื่อเราต่างพบกับความไม่สบายใจ...มีปัญหาที่แก้ไม่ตก และอยากพูดคุยกับใครสักคน เราล้วนต่างอยากให้คนคนนั้นปฏิบัติตัวเช่นไร..เมื่อเราเอ่ยปากพูดคุยกับเขา และอยากเข้าไปนั่งใกล้ๆ..เพื่อเตรียมจะพูดคุยกัน ..แท้จริงเราต่างมีคำตอบกันอยู่ในใจ..และคนส่วนใหญ่ก็น่าจะมีคำตอบในเรื่องนี้กันอยู่แล้วเช่นกัน..เเต่เราต่างก็คงเคยพบว่า..มีอยู่บ่อยครั้งที่สิ่งที่เราทำขึ้นมาด้วยเจตนาดี เพื่อเป็นการช่วยเหลือเพื่อนหรือคนรู้จัก อาจกลายเป็นการทำร้ายต่อเขา..ทำให้เขารู้สึกแย่ลง หรืออาจถึงขั้นผิดใจกันได้ ถ้าไม่รู้วิธีพูดคุยหรือปฏิบัติตนในสถานการณ์เช่นนี้น..
นี่คือ..ประเด็นสำคัญ..ที่ก่อเกิดเป็นหนังสืออันมีค่าเล่มนี้.. “มิตรไมตรีไม่มีประมาณ”..หนังสือที่นำเสนอเนื้อหาเชื่อมโยง..การภาวนา เพื่อพัฒนาจิตของผู้ทำหน้าที่ให้การช่วยเหลือ ให้เข้ากับกระบวนการช่วยเหลือทางจิตใจ โดยมีฐานความเชื่อที่ว่า..มนุษย์เราต่างมีศักยภาพอยู่ภายใน..ซึ่งสามารถค้นหาคำตอบสำหรับชีวิตของตนเองได้..และการช่วยเหลือที่ดีนั้น ก็คือการช่วยให้มนุษย์เราเข้าถึงศักยภาพดังกล่าวโดยแท้จริง..
ในครึ่งแรกของหนังสือเล่มนี้..ระบุถึงการปฏิบัติเพื่อให้รู้จักกับการอยู่เงียบๆกับตัวเอง การฝึกฝนเพาะบ่มจิตใจของตนให้เปิดกว้าง มีความกระจ่างชัด และมีความกรุณาทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ซึ่งเป็นพื้นฐานของการช่วยเหลือ...
ส่วนในครึ่งหลังของหนังสือเล่มนี้ จะเน้นไปสู่การปฏิบัติมากขึ้น ครอบคลุมหัวข้อสำคัญที่ผู้ทำหน้าที่ให้การช่วยเหลือควรที่จะรู้และปฎิบัติได้..ไม่ว่าจะเป็น ข้อผิดพลาด เช่นการตั้งคำถาม การปิดท้ายด้วยบทที่ว่าด้วยเรื่องการดูแลตนเอง..หัวข้อเหล่านี้ ล้วนเป็นมิติมาตรฐานสำหรับผู้ทำหน้าที่ให้การช่วยเหลือทั้งสิ้น
“สิ่งสุดท้ายและสำคัญที่สุดของการให้ คือการต้อนรับการดูแลจิตใจของเรา ในขณะนั้น..ซึ่งเราสามารถมอบให้แก่ผู้อื่นได้..คือการสร้างสรรค์บรรยากาศหรือสิ่งแวดล้อมแห่งมิตรไมตรีและความมีสติแก่ผู้อื่น..ความสามารถน้อมนำการต้อนรับมาสู่ทุกที่ซึ่งเราไปถึง..เป็นวิธีพื้นฐานที่สุดสำหรับผู้ให้ความช่วยเหลือ..ที่แท้จริง..”
“ความว่าง” นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะก้าวไปข้างหน้า..เนื่องเพราะ..เมื่อเรานึกถึงความว่างโดยนัยสามัญแล้ว..เรามักคิดว่ามีที่ว่างเพียงพอหรือไม่ ..เราต่างคิดถึงความว่างเป็นบางอย่างที่ว่างเปล่าเป็นสุญญากาศ หรือเป็นพื้นที่ไม่มีอะไรอยู่เลย..ซึ่งเราจะนำสิ่งของใส่ลงไป..เราถือว่าของเหล่านี้เป็นสิ่งที่แยกต่างหากออกมาจากความว่าง..โดยการคิดถึงความว่างในแง่นี้..ในทางจิตวิทยามองว่า อาจทำให้เกิดความรู้สึกพร่อง รู้สึกถึงความว่างเปล่า หรือความเบื่อหน่าย..เราอาจสงสัยว่า..ความตายจะเหมือนกับสิ่งนี้หรือไม่..เหตุนี้การพิจารณาความว่างในแง่นี้ จึงอาจทำให้รู้สึกกลัว..กลัวในความไม่มี.. “เมื่อฉันตายไป..มันจะไม่เหลืออะไรเลย..”
ความหมายหนึ่งของความว่างนั้น เหมือนกับลักษณะของความไม่มีอะไร..เพราะความว่างบรรจุสิ่งอื่นไว้..เหมือนท้องฟ้า อะไรก็ตามอาจปรากฏขึ้นบนท้องฟ้า ไม่ว่าจะเป็น แสงแดด พายุ ฟ้าแลบ เหยี่ยว ลูกโป่ง หรือ ดาวเทียม..ไม่มีอะไรทำอันตรายท้องฟ้าหรือทำร้ายความว่าง ซึ่งเป็นพื้นฐานของทุกสิ่ง.. “ในแง่นี้..ความว่างสามารถรองรับทุกสิ่งทุกอย่าง..เช่นเดียวกับจิตของเราที่มีคุณลักษณะนี้ในการรองรับสิ่งต่างๆ..ได้..ดังนั้นเราจึงสามารถรับอารมณ์และความคิดได้ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นความคิดที่มีความสุข ความคิดที่สิ้นหวัง ความคิดที่ปนความโกรธ..หากมองในแง่ความว่างแล้ว..ถือว่าทุกประสบการณ์ล้วนเท่าเทียมกัน”
ประเด็นที่น่าใคร่ครวญอีกประการหนึ่งของความว่าง.. “ความเงียบ”..ก็นับเป็นความว่างเปล่า..เราอาจพูดได้ว่า “ความเงียบคือความว่าง”..เราอาจพบว่า..เราจัดการกับความเงียบแบบเดียวกับที่เราจัดการกับความว่าง..เป็นความว่างเปล่า..เรามักหลีกเลี่ยงความเงียบหรือไม่ก็พยายามทำลายความเงียบ หรือรู้สึกหวาดกลัว..ในทางกายความว่างอาจเป็นเหมือนความนิ่ง..เราอาจรู้สึกอึดอัดหากต้องอยู่นิ่งๆ เราอาจต้องทำอะไรบางอย่างให้เกิดขึ้น..เริ่มทำกิจกรรม เพื่อที่จะเบนความสนใจของเราออกจากความว่าง ออกจากความเงียบ และ ออกจาก ความนิ่ง..
“ความหมายของความว่าง ในอีกแง่หนึ่ง..คือการเปิดรับความว่างเปล่า..และอีกความหมายหนึ่งก็คือ..ความซึ่งต่างจากความคิดแบบเดิมๆ..ซึ่งก็หมายถึงว่า..ความว่างเป็นความเต็มเปี่ยมด้วยเช่นกัน..ความว่างแสดงให้เห็นถึงปรากฏการณ์ที่เผยแสดงอยู่ตลอดเวลา ..เป็นสิ่งที่มีความสมบูรณ์เป็นนิรันดร์..”
ถัดจากความเงียบ..การรับรู้และปล่อยวาง..ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญอีกส่วนหนึ่ง..ต่อการรับรับรู้และปล่อยวางในวิถีแห่งมิตรไมตรีไม่มีประมาณ...เพราะการฝึกสมาธิทำให้เรานิ่งขึ้นและมองเห็นตัวเองในทุกแง่มุม บางครั้งก็อาจรู้สึกว่า ค่อนข้างผ่อนคลายและพอใจกับความนิ่ง บางครั้งก็สังเกตว่าอยากจะเลิกนั่ง..เราสังเกตเห็นว่า เราหลงใหลไปกับความคิด..เราใช้เวลาไปกับความทรงจำในอดีตมาก..หรือสร้างภาพว่าเราจะวางตัวอย่างไร แต่ความเป็นอารมณ์นั้นเกิดขึ้นและดับไป บางทีดูเหมือนว่าอารมณ์คงอยู่เป็นเวลานาน. ..และถ้าหากว่ามีอารณ์ที่น่ายินดีเกิดขึ้นเราอาจจะไม่รังเกียจหรือกระทั่งเพลิดเพลินไปกับมัน..
“ยิ่งเรานั่งสมาธิมากเท่าไหร่..เราก็ยิ่งเห็นเมล็ดพันธุ์แห่งประสบการณ์ที่เราได้หว่านไว้..เติบโต เมื่อเรารับรู้ประสบการณ์และการปล่อยวางแล้ว ไม่มีหลักประกันว่า..ต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น เป็นไปได้ว่ามันอาจเกิดในสิ่งที่คล้ายกันนี้ขึ้นอีกในชั่วขณะต่อไป..ในกรณีนี้ เราก็ต้องปฏิบัติเช่นเดิมอีก.. “รับรู้และปล่อยวาง”..ครั้นเมื่อเราปฏิบัติตามวิธีการนี้..สิ่งเดิมจะไม่กลับมาอีก..เราจะพบว่าแต่ละชั่วขณะนั้นใหม่และสดเพียงใด..!บนเส้นทางสายนี้..การก้าวไปสู่ความสำเร็จเบื้องหน้า..เราจำเป็นจะต้องให้การต้อนรับที่แท้จริงแก่ผู้เราอยากจะช่วยเหลือ..เราจะทำได้อย่างไร?
“เมื่อเราเปิดบ้านออก เราเปิดประตูและเชื้อเชิญให้ทุกคนเข้ามาได้ โดยไม่ต้องมีบัตรเชิญหรือแต่งกายสากล..เราไม่ไปยืนพูดที่ประตูว่า “คุณเข้ามาได้..ส่วนคุณเข้าไม่ได้” ..บ้านที่เปิดจะไม่ทำเช่นนั้น และการต้อนรับอย่างเต็มเปี่ยมก็จะไม่ทำเช่นนั้น.. “เพียงแค่เปิดออก ย่อมเป็นยิ่งกว่าการเปิดออก” จริงๆแล้วมันคือการต้อนรับ รู้สึกปีติปราโมทย์กับการปรากฏตัว..ของเราทุกคน..."
ที่สุดแล้ว..ชีวิตจะต้องมีสมดุลและสร้างสมดุลที่ลงตัวและเป็นความสุข..ผ่าน “การให้และการรับ” การรักษาสมดุลระหว่างที่หายใจออกคือการให้..ส่วนการหายใจเข้าคือการรับ..ทั้งสองสิ่งนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญ..โดยเราจะสังเกตพบว่า เรามักจะเอนเอียงไปในด้านใดด้านหนึ่งเสมอ เราอาจจะไม่รู้สึกเต็มใจที่จะรับความทุกขทั้งที่เป็นของตัวเองและผู้อื่น..
เมื่อเราหายใจเข้า เราได้ทำให้ตัวเราอ่อนโยนและอยู่กับสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว เราจะระลึกได้ถึงจิตประภัสสร อันเป็นธรรมชาติแห่งความว่างของเรา..เมือเราหายใจเข้า เราได้เข้าไปสู่ความว่างอันไพศาล ที่สามารถปรับให้เป็นสิ่งที่เราต้องการได้อย่างง่ายดาย “เมื่อได้ปฏิบัติ..ตามแนวทางนี้ เราก็จะค้นพบความว่างเพื่อการรองรับนี้ ทั้งเราจะเข้าใจได้ว่า..ความทุกข์ของเราและผู้อื่นนั้น..ไม่ใช่สิ่งที่เที่ยงแท้ถาวร..แต่อย่างใด!”
ปัญหาสำคัญที่เราควรหลีกเลี่ยง คือความกรุณาที่ไม่่มีปัญญากำกับ เพราะการคล้อยตามนั้นเป็นเรื่องง่ายกว่า การให้ความช่วยเหลือแท้จริง..เรามักจะพากันหลงอยู่กับความกรุณาที่ไม่มีปัญญากำกับ..ครั้นเมื่อเราทำในสิ่งที่เราบอกกับตัวเราว่า..เราปรารถนาจะปัดเป่าความเจ็บปวดให้ผู้อื่น แต่แท้จริงแล้วมันเป็นความสับสนของเรา เราก็มักจะแก้ต่างว่านั่่นเป็นการบรรเทาทุกข์เมื่อเกิดความจำเป็นเร่งด่วน..
“แต่ในระยะยาวแล้ว..สิ่งนี้เป็นภัยอย่างยิ่ง การให้ยาเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดแก่ผู้ติดยาที่กำลังจะเลิกยา เป็นตัวอย่างของความกรุณาที่ปราศจากปัญญา..โดยแท้..” “มิตรไมตรีไม่มีประมาณ”..คู่มือให้การปรึกษาและจิตบำบัดแนวภาวนา แปลเป็นหนังสืองามแห่งจิต..หนังสือที่สร้างแนวคิดแห่งจิตปัญญา เพื่อการเชิดชูการมีชีวิตอยู่อย่างมีความหมายและมีความหวัง มันคือขุมทรัพย์ที่ซ่อนอยู่ในก้นบึ้งของนัยสำนึก..ด้วยการเปลี่ยนจากพฤติกรรมที่ไม่มีสติ มาสู่การฝึกสติด้วยวิธีการต่างๆ..หากเรานั่งลงไปบน “เบาะสมาธิ” และใช้เวลาไปกับการเพ้อฝันเพื่อหนีีจากสถานการณ์ปัจจุบัน ครั้นเมื่อมีบางขณะเกิดความตื่นรู้เรากลับไม่สนใจ การทำเช่นนี้เท่ากับเราได้เปลี่ยนให้การกระทำของเราเป็นการกระทำที่ขาดสติ..เหตุนี้..
“เราทุกคนต่างสามารถใช้พฤติกรรมไม่มีสติ มาเป็นเครื่องเตือนให้เราตื่นขึ้น..เมื่อเราพบว่าเรากำลังเล่นลวดหนีบกระดาษหรือเคาะนิ้ว..เราอาจใช้สิ่งนี้นำเรามาสู่ปัจจุบันขณะ..”