ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย
วันนี้จะขอพักเรื่องน่าเศร้าของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ที่ดำเนินการโดยอิสราเอล ภายใต้การนำของปีศาจเนทันยาฮู ที่สั่งระดมโจมตีกาซา ทั้งทางเหนือและทางใต้ โดยไม่ฟังแม้กระทั่งการบรรลุข้อตกลงหยุดยิง 3 วันที่มีสหรัฐฯ อียิปต์ และกาตาร์เป็นเจ้าภาพระหว่างฮามาส และตัวแทนอิสราเอล ซึ่งการหยุดยิงนี้มีวัตถุประสงค์ให้องค์การอนามัยโลก ได้ดำเนินการให้วัคซีนกับเด็กที่กำลังถูกคุกคามจากโรคโปลิโอ
ดังนั้นไม่ว่าสื่อตะวันตกจะพยายามให้ข่าวว่ามันเป็นสงครามระหว่างฮามาสและอิสราเอล แต่มันชัดเจนว่านี่ไม่ใช่สงคราม แต่มันเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ภายใต้การชี้นำของลัทธิไซออนิสต์ โดยมีเป้าหมายที่จะยึดครองแผ่นดินปาเลสไตน์ทั้งหมด เพราะขณะนี้อิสราเอลก็ได้เปิดฉากโจมตีเวสต์แบงก์ของปาเลสไตน์ ปิดล้อมเมืองเจนินถล่มยับไปถึง 70% และเปิดการโจมตีเมืองเฮบรอนในเวสต์แบงก์
เหตุนี้เราจะหันมาติดตามความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในแอฟริกา ทวีปเก่าแก่ที่ถูกกดขี่ขูดรีดจากตะวันตก ที่เข้าทำการยึดครอง จัดตั้งเป็นอาณานิคม กอบโกยทรัพยากรธรรมชาติ แม้กระทั่งจับคนแอฟริกันไปเป็นทาสตั้งแต่สองสามศตวรรษที่ผ่านมา
ทวีปนี้ถูกปล่อยทิ้งให้จมอยู่ในความยากจน แห้งแล้งอดอยากหิวโหย สงครามแย่งชิงอำนาจของเหล่าขุนศึกที่ตกเป็นเครื่องมือของตะวันตก การสนับสนุนอาวุธแลกกับทรัพยากร การจัดตั้งกองกำลังทหารเด็กที่บ่อนทำลายโครงสร้างอารยธรรมของมนุษย์
บัดนี้มีหลายประเทศได้ลุกขึ้นมาปลดแอกตนเองจากการครอบงำของอดีตเจ้าอาณานิคม โดยเฉพาะฝรั่งเศส ซึ่งยังไม่ยอมปล่อยมือในการกดขี้ขูดรีดประเทศที่ตนเคยปกครอง ด้วยนโยบายต่างๆด้านเศรษฐกิจและการทหาร และฝรั่งเศสคือเจ้าอาณานิคมหลักในแอฟริกา
ทั้งนี้หลังจากมาลี บูร์กินาฟาโซ และ กินี ที่ได้มีการยึดอำนาจโดยคณะทหารจากรัฐบาลพลเรือนที่คอร์รัปชัน และยอมตนเป็นทาสของฝรั่งเศส ล่าสุดไนเจอร์ก็เกิดการยึดอำนาจขับไล่กองทหารฝรั่งเศส และจนที่สุดกองทหารอเมริกัน
ทว่าการยึดอำนาจโดยคณะทหารก็ถูกสื่อตะวันตกและหลายประเทศในแอฟริกา ที่มีรัฐบาลพลเรือนที่มีการเลือกตั้งและโปรตะวันตกโจมตี โดยใช้เรื่อง “ประชาธิปไตย” ในรูปแบบของตะวันตกมาโจมตีและแซงก์ชัน
แต่ไนเจอร์ มิได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว เพราะรุ่นพี่อย่างมาลี บูร์กินาฟาโซ และกินี ต่างประกาศสนับสนุน และพร้อมจะส่งทหารไปช่วย ท่ามกลางการถูกคุกคามจากตะวันตก และบางประเทศในแอฟริกา เช่น ไนจีเรีย
อย่างไรก็ตามเบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงเพื่อปลดแอกจากอดีตเจ้าอาณานิคม อย่างฝรั่งเศสนั้นได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย ซึ่งเข้าไปมีบทบาทอยู่ในแอฟริกา เช่นในซูดาน สาธารณแอฟริกากลาง ชาด เอริเทรีย และลิเบีย (ภายหลังจากที่ถูกทำลายจากตะวันตกและกลายเป็นรัฐล้มเหลว)
น่าเสียดายท่านผู้นำกัดดาฟี ที่ถูกโค่นโดยตะวันตก เพราะในยุคของท่าน ลิเบียที่มั่งคั่ง มีบทบาทสำคัญในการช่วยสนับสนุนการพัฒนาในแอฟริกา และมีแนวคิดจะจัดตั้งสหภาพแอฟริกา ที่จะใช้เงินสกุลเดียวกัน มีทองคำหนุนหลัง แต่การกระทำของท่านมันขัดผลประโยชน์ของตะวันตก จึงถูกโค่นล้มและถูกฆ่าตายอย่างอนาถกลางถนน
กลับมาดูกลุ่มประเทศที่ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย และปลดแอกจากอดีตเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสดู โดยการพิจารณาจากแผนที่
เริ่มจากเอริเทรีย ซูดาน ชาด ไนเจอร์ มาลี ซูร์กินาฟาโซ และเซเนกัล จะเห็นว่ามันเป็นแนวจากทะเลแดง ที่เชื่อมกับมหาสมุทรอินเดีย ไปสู่มหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งจะเรียกแนวทางนี้ว่า Sahel Corridor คือกลุ่มประเทศเหล่านี้อยู่ทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา เป็นพื้นที่ที่ไม่มีประชากรหนาแน่นเกินไป แต่ภูมิอากาศไม่ทุรกันดารเหมือนในเขตซาฮารา
จากเซเนกัล ในแอตแลนติก ข้ามฝั่งไปก็ไม่ไกลจากนิการากัวในอเมริกากลาง ซึ่งขณะนี้จีนได้สัมปทานและกำลังขุดคลองเชื่อม 2 ฝั่ง ผ่านทะเลสาบนิการากัว ไปออกมหาสมุทรแปซิฟิค โดยมีรัสเซียไปตั้งฐานทัพเรืออยู่ที่นั่น
ในด้าน Sahel Corridorหรือระเบียงซาเฮล นั้นหากมองว่าเอริเทรียและซูดาน ยังมีบริเวณที่แคบในการเชื่อมต่อกับมหาสมุทรอินเดีย เพราะอยู่ในทะเลแดง ก็อาจขยับมาที่โซมาเลียและเอทิโอเปีย ที่กำลังเข้าเป็นสมาชิก BRICS ก็จะทำให้ช่องทางระเบียง Sahel กว้างขึ้น ส่วนด้านมหาสมุทรแอตแลนติก หากมีปัญหาที่เซเนกัล เพราะประเทศนี้ยังมีแนวโน้มโปรตะวันตกอยู่ ก็ขยับขึ้นมายังมอริตาเนีย ที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ แต่ประชากรน้อย เพราะมีพื้นที่ทะเลทราย ซาฮารา อยู่กว่าค่อนประเทศ
มองระเบียงอย่างนี้ในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ และภูมิเศรษฐศาสตร์ รัสเซียก็สามารถสร้างเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างมหาสมุทรอินเดีย กับมหาสมุทรแอตแลนติก โดยตัดผ่านช่วงที่กว้างที่สุดของแอฟริกา ไม่ว่าจะทำเป็นคลอง (โดยใช้นิวเคลียร์) หรือทางรถไฟความเร็วสูง คู่ขนานไปกับถนนมาตรฐาน
เมื่อเส้นทางขนส่งไปออกมหาสมุทรแอตแลนติกแล้วก็สามารถเชื่อมโยงไปยังคลองที่นิการากัวที่จะมาแทน คลองปานามาที่กำลังตื้นเขินตามธรรมชาติจำเป็นต้องลงทุนขยายคลองอีกพอสมควรและใช้เวลา
หากมองในแง่ยุทธศาสตร์เส้นทางขนส่งสินค้าที่รัสเซียมีแผนนี้ จีนก็ให้ความสนใจเพราะมันสอดรับกับโครงการ BRI ความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ที่จีนสนใจไปลงทุนในแอฟริกา
นอกจากนี้เราก็จะเห็นได้ว่าทฤษฎีทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ว่าด้วย Heart Land ของแมคคินลี หรือต่อมาเกิดทฤษฎี Rim Land ที่ทำให้อังกฤษเป็นเจ้าโลก โดยการพัฒนากองเรือปืนและยึดช่องแคบสำคัญอย่างมะละกา ยิบรอนตา คลองปานามาหรือคลองสุเอซ ในระยะต้นต้องมีอันพังทลายลง ซึ่งก็ลามไปถึงยุทธศาสตร์เรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯ ที่จะต้องหมดความสำคัญลงในการควบคุมโลกในที่สุด
เพราะเส้นทาง Sahel Corridor เชื่อมต่อจากมหาสมุทรอินเดีย ไปแอตแลนติก และเชื่อมต่อกับคลองนิการากัวไปออกมหาสมุทรแปซิฟิก จะทำให้ย่นการเดินทางรอบโลก และกระจายผลประโยชน์ไปสู่ประเทศ Global South ได้อีกมาก
และนี่จะทำให้แอฟริกากลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของโลกอีกจุดหนึ่ง ตลอดจนได้กระจายผลประโยชน์จากเส้นทาง Sahel Corridor ไปสู่ส่วนต่างๆของแอฟริกา ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
แต่งานนี้แน่นอนจะต้องถูกตะวันตกขัดขวาง เพราะมันจะไปทำให้ตะวันตกเสียผลประโยชน์อย่างมาก ซึ่งก็อาจเป็นอีกแรงจูงใจให้ตะวันตกต้องรีบทำสงครามกับรัสเซีย เพื่อตัดไฟแต่ต้นลมหรือไม่