วันที่ 5 ก.ย.67 ที่ศาลาว่าการกทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังประชุมหัวหน้าหน่วยงาน ถึงกรณีกระแสข่าว กทม.ประวิงเวลาจ่ายหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1และ 2 ให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด หรือ บีทีเอสซี ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ซึ่งมีการส่งหนังสือแจ้งบังคับคดีแล้ว เป็นจำนวนเงิน 14,549,303,752.489 บาท ว่า ยืนยันว่าไม่ได้ประวิงเวลา เนื่องจากมีขั้นตอนและต้องนำเข้าสภากทม. เพื่อนำเงินสะสมจ่ายขาดมาจ่ายหนี้ ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากสภากทม. แต่ขณะนี้สภากทม.อยู่ระหว่างการพิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ2568 ต้องรอการพิจารณาดังกล่าวแล้วเสร็จก่อน โดยได้กำหนดกรอบเวลาดำเนินการ 140 วัน แต่จะพยายามทำให้เร็วขึ้นให้เหลือเพียง 100 วัน เพราะมีค่าดอกเบี้ย กทม.ไม่ได้มีเจตนาที่จะดึงเรื่อง แต่ต้องทำให้ถูกต้อง เข้าใจว่าคนอยากได้เงิน แต่ว่าเราเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องทำให้ถูกต้องตามระเบียบ ศาลเองก็เข้าใจกำหนดให้ กทม.ชำระภายใน 180 วัน เพราะรู้ว่าไม่สามารถจ่ายได้ทันทีหลังศาลตัดสิน  เนื่องจากการจ่ายเงินหลวง มีขั้นตอน จึงขอให้ใจเย็นๆ ไม่ต้องเร่งรัดหรือจะเอาผิดอาญาตามมาตรา157  เพราะไม่ได้มีเจตนา  และพร้อมที่คุยกับบีทีเอสซี ไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม หรืออยากจะลดหนี้ หยุดดอกเบี้ยให้ ถ้ามีใจจะช่วย กทม.ยินดีและขอบคุณ

 

นายชัชชาติ กล่าวว่า เรื่องการจ่ายเงิน กทม.เดินเรื่องให้เต็มที่อยู่แล้ว แต่ต้องเข้าสภากทม. ไม่ได้มีเจตนาดึงเรื่อง ทำให้บีทีเอสซี มีภาระต้องเสียดอกเบี้ยวันละ 7 ล้านบาทแต่อย่างใด  กทม.รู้ว่าต้องจ่าย เพราะเป็นคำสั่งศาล อีกส่วนที่ต้องดูให้รอบคอบคือเรื่องคำพิพากษา เนื่องจากป.ป.ช.ยังไม่ชี้มูล จึงไม่มีผลต่อการชำระเงิน แต่จุดนี้ป.ป.ช.ชี้มูลไปแล้ว จึงต้องทำให้รอบคอบ กทม.ได้สอบถามความเห็นหน่วยงานต่างๆ กรณีดังกล่าวกทม.สามารถจ่ายเงินได้หรือไม่แต่ไม่มีหน่วยงานใดให้คำตอบได้ ล่าสุดได้สอบถามกฤษฎีกา ตอบกลับมาว่าเป็นเรื่องภายในองค์กร ให้ไปถามกระทรวงมหาดไทย (มท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลกทม.โดยตรง

 

ส่วนกระบวนการการฟ้องคดีที่2 ต้องรอดูว่าจะเป็นอย่างไร แต่ได้ตั้งคณะกรรมการฝ่ายกฎหมาย ดูความผูกพันของคำพิพากษาครั้งนี้จะมีผลผูกพันกับคดีที่ 2 ด้วยหรือไม่ อีกประเด็นที่ต้องดูคือการจ่ายเงินสัญญจ้างเดินรถส่วนต่อขยายที่ 2 ที่ไม่เคยผ่านสภากทม. เพื่อก่อหนี้ผูกพันเลย จะเอาเงินไปจ่ายได้หรือไม่ ในอนาคตต้องนำเข้าสภากทม.ให้ถูกต้องตามกระบวนการให้เรียบร้อย  ส่วนเงินสะสมจ่ายขาดที่ยังคงเหลืออยู่นั้น กทม.ต้องใช้งบประมาณอย่างประหยัด เพราะ กทม.มีภาระดูแล ทั้งการศึกษา พัฒนาชุมชน ซึ่งหากนำเงินไปจ่ายหนี้ทั้งหมด อาจจะกระทบการดูแลด้านดังกล่าว ขณะเดียวกันการพัฒนาเมือง โครงสร้างพื้นฐาน ก็ยังดำเนินการควบคู่กันต่อไป 


นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า ปัญหานี้เป็นของชุดที่แล้ว สมาชิกสภากรุงเทพมหานครและผู้บริหาร ชุดที่ได้รับแต่งตั้งมา ไม่ยอมจ่ายหนี้ ทำให้ต้องมาจ่ายหนี้ในชุดนี้ ถ้าจะบอกว่าเป็นผลงานตน ก็บอกได้ เพราะตนจ่ายหนี้ ส่วนนโยบายการเวนคืน(ซื้อคืน)รถไฟฟ้า คงไม่ได้ทำทันที ขณะนี้กทม.มีโครงการศึกษาการทำการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน. (Public Private Partnership: PPP) รถไฟฟ้า ซึ่งต้องศึกษาอยู่แล้ว เพราะสัมปทานจะหมดภายใน5ปี หรือ 2572 ถ้ารัฐบาลจะทำให้คิดรวมเรื่องนี้ไปด้วยทุกอย่างเป็นไปได้ แต่หัวใจอยู่ที่จะซื้อคืนหรือไม่ซื้อคืน ถ้ามีโอเนอร์ชิปคนเดียว แต่มีหลายโอเปอเรเตอร์ จะช่วยให้มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการที่ดี จึงเป็นเหตุผลที่กทม.ไม่ทำรถไฟฟ้าเพิ่ม ทั้งสายสีเงิน สีเทา จะโอนให้รฟม.ทำ เพื่อให้เป็นซิงเกิ้ลโอเนอร์ เพราะกทม.มีงบจำกัดเพียง 9 หมื่นล้านบาท เฉพาะค่าจ้างรถไฟฟ้าอย่างเดียว 8พันล้านบาทหรือเกือบ10% ของงบประมาณ ขณะที่มีรายได้เพียง 2 พันล้านบาท ขาดทุน 6 พันล้านบาท หลังจากสัมปทานหมด กทม.จะมีเงินเพิ่มขึ้น แต่ไม่หวง ถ้าวิธีไหนดีกับประชาชนสูงสุด ต้องเลือกวิธีนั้น เคยพูดตั้งแต่ตอนหาเสียงแล้ว ยินดีที่จะโอนโครงการคืนให้