เมื่อเวลา 13.00 น. ของวันที่ 4 ก.ย.67 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม มอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานแก่ผู้บริหารงานราชทัณฑ์ทั่วประเทศ ในการประชุมผู้บริหารงานราชทัณฑ์ทั่วประเทศ ครั้งที่ 3/2567 โดยมี นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นางจิรภา สินธุนาวา รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมฯ ณ ห้องสัมมนากรมราชทัณฑ์ ชั้น 3 จังหวัดนนทบุรี
โอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้กล่าวมอบนโยบายฯ โดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า ขอขอบคุณและขอให้กำลังใจข้าราชการกรมราชทัณฑ์ทุกคนในฐานะที่ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมกัน เพราะอาจถือได้ว่าเป็นครั้งประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นยุคที่กรมราชทัณฑ์ถูกสื่อมวลชนให้ความสนใจมากที่สุด ทั้งนี้ สิ่งสำคัญ คือ อยากให้กรมราชทัณฑ์เป็นโอกาสและสิ่งท้าทายของสังคมไทย โดยกรมราชทัณฑ์ควรจะเป็นที่เริ่มต้นสำหรับการสร้างอนาคตที่ดีให้กับคนในสังคมไทย
สำหรับสิ่งที่เป็นเรื่องท้าทายสำหรับกรมราชทัณฑ์ คือ การลดความแออัดของผู้ต้องราชทัณฑ์ โดยอาจใช้มาตรการการปรับกำหนดกฎเกณฑ์เรื่องสถานที่คุมขังอื่นนอกจากเรือนจำ โดยที่คุมขังประเภทต่าง ๆ ไม่ควรมีอภิสิทธิ์เหนือกัน ควรมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน รวมไปถึงเรื่องการระบุเลขประจำตัว 13 หลักของผู้ต้องราชทัณฑ์ เพื่อความเป็นมาตรฐานในการปฏิบัติงาน
ทั้งนี้ จากคำกล่าวที่ว่า “เรือนจำคือดินแดนต้องห้าม คนต้องคำสาป” แต่ในยุคนี้เราต้องเปลี่ยนเป็น “ดินแดนของการให้โอกาส” เพื่อไปสร้างอนาคตที่ดีให้แก่ผู้ที่เข้าไปอยู่ในเรือนจำ โดยฝากให้ผู้บัญชาการเรือนจำและผู้ที่เกี่ยวข้องไปศึกษาและวิเคราะห์เรื่องการจำแนกและพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขัง ซึ่งอาจจะต้องถูกออกเป็นกฏกระทรวง เพื่อนำมากล่อมเกลาและเปลี่ยนแปลงคนให้เป็นคนดีของสังคม โดยกรมราชทัณฑ์จะเปลี่ยนชีวิตที่ดีขึ้นด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการสร้างคน รวมทั้งเรื่องสิทธิของผู้ต้องราชทัณฑ์ เรือนจำต้องให้ผู้ต้องราชทัณฑ์ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย ให้อ่านออก เขียนได้และคิดเลขเป็น รวมถึงการมีคุณธรรม จริยธรรม และสร้างโอกาสในการสร้างงานสร้างอาชีพ นอกจากนี้ ขอฝากให้ผู้บัญชาการเรือนจำดูแลเรื่อง 6 อ. ของผู้ต้องราชทัณฑ์ ได้แก่ 1) อาหาร 2) ที่อยู่อาศัย 3) อนามัย 4) ให้มีโอกาส 5) ให้มีอาชีพ และ 6) อัตลักษณ์ และสิ่งที่ไม่ควรมี 1อ. คือ ความอยุติธรรม
ด้านปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า ในตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาที่ได้มีโอกาสไปร่วมตรวจราชการทั้งในฐานะของปลัดกระทรวงยุติธรรม และในฐานะที่เป็นกรรมการในคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ ได้มีโอกาสลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและได้เห็นการทำงานของเรือนจำและทัณฑสถานหลายแห่ง ซึ่งพบว่า แต่ละแห่งมีการดำเนินงานที่มีความโดดเด่นและมีความหลากหลาย ซึ่งเป็นไปในทิศทางที่น่าพึงพอใจ
ทั้งนี้ ส่วนที่อยากให้ความสำคัญ คือ เรื่องการขับเคลื่อนงานของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งกรมราชทัณฑ์มีบุคลากรที่มีองค์ความรู้ในงานราชทัณฑ์เป็นจำนวนมาก ซึ่งองค์ความรู้เหล่านี้จะช่วยปกป้องท่านได้เป็นอย่างดี ดังนั้น จึงควรให้ความสำคัญในการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่รุ่นน้อง สู่ผู้ใต้บังคับบัญชาต่อไป และอยากเห็นงานวิชาการของกรมราชทัณฑ์ที่เป็นที่อ้างอิงได้ ทำออกมาให้เป็นที่เชื่อถือของสังคม ซึ่งหากกรมราชทัณฑ์สามารถมีมาตรฐานทางวิชาการในการตอบและออกไปสื่อสารกับสังคมภายใต้มาตรฐานเดียวกันได้ ก็จะเป็นการกอบกู้ภาพลักษณ์ เป็นการยกระดับกรมราชทัณฑ์ และสามารถนำมาตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาด้านการสื่อสารกับสื่อมวลชนได้อีกด้วย
เรื่องสำคัญอีกประการหนึ่งที่อยากฝากไว้ คือ เรื่องการดูแลบุคลากรของกรมราชทัณฑ์ สิทธิมนุษยชนของเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ โดยสำนักงาน ก.พ. จัดว่างานราชทัณฑ์เป็นงานที่ไม่น่าอภิรมย์ จึงควรมีการดูแลบุคลากรของกรมราชทัณฑ์มากกว่าปกติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพจิต การกินอยู่ หรือที่พักอาศัย เป็นต้น
ทั้งนี้ กรมราชทัณฑ์อาจจะไม่ได้ดำเนินงานในเชิงรับอย่างเดียว อยากให้มีการดำเนินงานในเชิงรุกด้วย เช่น กรณีนักโทษล้นเรือนจำ หากท่านสามารถคิดในเชิงวิชาการและมีมาตรการในการนำเสนอต่อผู้บังคับบัญชา ในการทำให้ผู้ต้องขังลดลงโดยที่ไม่ผิดหลักของมาตรการทางกระบวนการยุติธรรมได้ สามารถเสนอแนะมาได้ กระทรวงยุติธรรมเราพร้อมที่จะรับฟังและช่วยแก้ปัญหาเพื่อผลสำเร็จในการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
#กระทรวงยุติธรรม #มอบนโยบาย #แนวทางการปฏิบัติงาน #ผู้บริหารงานราชทัณฑ์ทั่วประเทศ