วันที่ 4 ก.ย.2567 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาฯ ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯคนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 วาระ 2 เป็นการพิจารณาเรียงตามมาตรา วันที่สอง ต่อเนื่องในมาตรา 14 งบประมาณรายจ่ายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานในกำกับ วงเงิน  5.5หมื่นล้านบาท ซึ่งกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ปรับลดจากวงเงินเดิม ที่ 5.6หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายขอปรับลดงบของกระทรวงเกษตรฯ ในส่วนของค่าใช้จ่ายเดินทางไปราชการต่างประเทศ 8 โครงการเพื่อศึกษาดูงานการบริหารจัดการน้ำ การสร้างเขื่อน และการดูแล ที่ ประเทศญี่ปุ่นและ สหรัฐอเมริกา รวมวงเงิน 7.6ล้านบาท โดยมองว่าไม่เหมาะสมเนื่องจากประเทศไทยมีประสบการณ์เกี่ยวกับการสร้างและดูแลเขื่อนมากว่า 40 ปีแล้ว นอกจากนั้นมองว่ามีนัยสำคัญถึงทิศทางของรัฐบาลต้องการพัฒนาสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น หรือ เขื่อนน้ำยม แต่เชื่อว่าไม่ใช่แค่แห่งเดียว ทั้งนี้เขื่อนมีประโยชน์แต่เป็นการจัดการน้ำและแก้ปัญหาน้ำท่วม ได้แล้งได้จริงหรือไม่ เพราะมีผลการศึกษาว่าการสร้างเขื่อนได้ไม่คุ้มเสีย

“โครงการจัดการน้ำมีความจำเป็นแต่เขื่อนขนาดใหญ่ทั่วโลก มีข้อสรุปว่าไม่ใช่ทางออก ทั้งนี้ประเทศที่พัฒนาเลิกสร้างเขื่อน และเขื่อนที่หมดอายุได้ทยอยทุบทำลาย ความรู้ยุคสมัยใหม่มีวิธีการบริหารจัดการน้ำเองได้ไม่ต้องศึกษาดูงาน” นายเลาฟั้ง อภิปราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการอภิปรายมาตราดังกล่าว พบว่า สส.พรรคภูมิใจไทย ฐานะพรรคร่วมรัฐบาล ได้ใช้สิทธิอภิปรายเพื่อทวงถามความชัดเจนของนโยบายรัฐบาลในส่วนการช่วยเหลือเกษตรกร ที่ต่อยอดมาจากรัฐบาลที่ผ่านมา โดยนายอำนาจ วิลาวัลย์ สส.ปราจีนบุรี พรรคภูมิใจไทย อภิปรายขอความชัดเจนเกี่ยวกับรายการที่จะชดเชยและเยียวยาชาวนาในโครงการไร่ละ 1,000 บาทในส่วนของการสนับสนุนปัจจัยการผลิต อย่าให้ชาวนาหมดกำลังใจขายที่นาไปทำอย่างอื่น ประเทศไทยจะไม่มีข้าวกิน ทั้งนี้ตนขอฝากไปยังนายกฯ และสำนักงบประมาณ ช่วยชาวนาในการเยียวยา ที่จัดสรรให้ไร่ละ 1,340 บาท ไม่พอกับต้นทุนขอให้เพิ่มอย่างสมเหตุสมผล

ขณะที่นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย อภิปรายขอปรับลดงบ 2% ทั้งนี้ขอทวงถามโครงการที่ช่วยเกษตรกร เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตโดยเฉพาะชาวนา ทั้งนี้มีนโยบายที่ตั้งใจผลักดัน คือ ปุ๋ยคนละครึ่ง ทั้งนี้ในกระทรวงเกษตรกร ไม่มีรายการที่ช่วยเหลือเกษตรกร แม้จะอยู่ในช่วงตั้งรัฐบาลใหม่ เปลี่ยนรัฐมนตรี แต่โครการที่ช่วยชาวนาจำเป็นและต้องมี โดยกมธ.ได้ซักถามหน่วยงานหรือไม่ หรือหากมีการเปลี่ยนแปลงโครงการปุ๋ยคนละครึ่งเป็นรายการอื่นของงบประมาณขอให้ กมธ. ชี้แจง นอกจากนั้นในส่วนของกรมชลประทาน  ได้ตั้งงบไว้ 1.9 หมื่นล้านบาท แต่ปรับลด 57 ล้านบาท ซึ่งส่งผลต่อการแก้ปัญหาระบบน้ำในประเทศให้ลดน้อยลง ทั้งนี้ในกมธ.ได้พูดถึงการแก้ปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมอย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่

ทางด้านนายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกี้อ สส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย อภิปรายตอนหนึ่งด้วยว่า กระทรวงเกษตรต้องแก้ปัญหาราคายางที่ยุทธศาสตร์ เพื่อให้มีราคาที่ดีและชาวสวนยางมีความมั่นคั่ง นอกจากนั้นในราคาของทุเรียน ที่พบว่ามีราคาตกต่ำ โดยเฉพาะ พื้นที่จ.สงขลา ราคาที่ 80 บาท ทั้งที่ในช่วงต้นฤดูกาลและท้ายฤดูกาลของทุเรียนมีราคาสูงถึง 250 บาท ดังนั้นขอฝากให้กระทรวงเกษตรฯ พิจารณา ทั้งนี้ตนฝากรัฐบาลในรอบหน้า วันนี้ตนตัด 5% แต่สิ่งที่อยากฝากคือ การดูแลเกษตรกร เพราะถือเป็นหัวใจหลักของประเทศ

ด้านนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม. พรรคประชาชน ลุกอภิปรายขอตัดงบประมาณ 5% เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันเรื่องปลาหมอคางดำ ถือเป็นภัยคุกคามจากสัตว์น้ำต่างถิ่นที่ทำลายแหล่งน้ำธรรมชาติไปแล้ว 19 จังหวัด 76 อำเภอ มีเกษตรกรได้รับผลกระทบกว่า 50,000 ราย เป็นสิ่งที่จับต้องได้และเห็นได้ชัดว่าปี 2567 มีผลกระทบอย่างไร แต่ปี 2568 งบประมาณที่ขอมาเพิ่มผลผลิตแหล่งน้ำชุมชน เพื่อเพิ่มรายได้และลดค่าของชีพให้กับประชาชนจำนวน 307 ล้านบาท ถูกปรับลดไป 51 ล้านบาท ตนเห็นว่ารายการนี้ ถ้ากรมประมงทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ปกป้องแหล่งน้ำ ปกป้องสัตว์น้ำที่อยู่ในการดูแลของกรมประมงเอง ก็คงไม่ต้องใช้งบประมาณสูงขนาดนี้ ซ้ำร้ายไปกว่านั้น งบประมาณในการที่จะมาใช้แก้ไขปัญหาวิกฤตที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ซึ่งร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยกเป็นวาระแห่งชาติที่เรียบร้อยแล้ว

“แต่วาระแห่งชาติอย่างไร ในงบประมาณปี 2568 ไม่มีเลย เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าในเรื่องการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นของกรมประมงยังทำได้ไม่ดีพอ ไม่หนำซ้ำ ยังอนุมัติงบประมาณไปก่อสร้างศูนย์แสดงพันธุ์สัตว์น้ำที่จังหวัดของท่านรัฐมนตรีอีก 208 ล้านบาท เป็นงบผูกพันไปถึงปี 2570 ปีนี้ของบไป 41 ล้านบาท ผมคิดว่าไม่ควรอย่างยิ่ง วันนี้วิกฤติหนักหนักที่สุดและมากที่สุด ควรจะให้น้ำหนักไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณ บุคลากร เวลา และทรัพยากรอื่นๆที่ต้องมุ่งเน้นไป นั่นคือเรื่องวิกฤติการรุกรานจากปลาต่างถิ่น แต่ในงบประมาณปีนี้ไม่มีอะไรที่จริงใจและจริงจังเลย นอกจากพบสิ่งปลูกสร้างศูนย์แสดงพันธุ์สัตว์น้ำในบ้านท่านรัฐมนตรี การขุดลอกกว๊านพะเยาในบ้านท่านรัฐมนตรี ผมเห็นว่า ณ วันนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรมประมง ไม่จริงใจต่อการแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน เพราะฉะนั้น จึงขอเสนอปรับลดงบประมาณในส่วนของกรมประมง” นายณัฐชา กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศการประชุมในช่วงเช้าวันนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สส.มาประชุมกันตามปกติ  ไม่มีการลุกขึ้นประท้วงแต่อย่างใด