ต้องร้องขอเพิ่มซ้ำกันอีกปี

สำหรับ งบประมาณกลาโหมของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่มีทหาร มีเพียง “กองกำลังป้องกันตนเอง” เรียกว่า “กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น” หรือ “เจเอสดีเอฟ” (JSDF : Japan Self-Defense Force)

ทั้งนี้ แม้ได้ชื่อว่า เป็นเพียง “กองกำลังป้องกันตนเอง” แต่ก็ต้องขอบอกว่า กองกำลังนี้แข็งแกร่งมากๆ สมรรถนะ ประสิทธิภาพทางการทหาร แทบจะไม่แตกต่างของกองกำลังที่ได้ชื่อว่า เป็นกองทัพทหารหาญกองทัพหนึ่งก็ไม่ปาน

กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น ฝึกการรบภาคสนาม (Photo : AFP)

โดยกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นที่ว่านี้ ก็เริ่มถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แล้วทางสหรัฐอเมริกา ในฐานะชาติผู้นำของฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งเป็นฝ่ายชนะสงครามเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ยุบ “กองทัพจักรพรรดิญี่ปุ่น” ไปแล้วจัดตั้งกองกำลังนี้ขึ้นแทน เพื่อใช้ในภารกิจป้องกันประเทศ หรือกิจการภายในของประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น พร้อมกับอยู่ภายใต้การกำกับในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่สหรัฐฯ ในฐานะผู้ชนะสงครามเป็นผู้ร่างขึ้น

ทว่า ในกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น ก็มีพัฒนาการต่างๆ ขึ้นมาเป็นลำดับ รวมถึงอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ที่ไว้ใช้ประจำการ และงบประมาณที่ถูกนำมาจัดสรรให้แก่กระทรวงกลาโหม อันเป็นกระทรวงต้นสังกัดของกองกำลังป้องกันตนเองดังกล่าว ซึ่งการพัฒนาก็เป็นไปตามบริบทแวดล้อมจากสถานการณ์ด้านความมั่นคงนอกประเทศพาให้เป็นไป ถึงขนาดที่กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น ตบเท้าออกนอกเกาะ ไปร่วมปฏิบัติภารกิจรักษาสันติภาพกับกองกำลังสันติภาพระหว่างประเทศ ในนามของ กองกำลังรักษาสันติภาพแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นก็เคยมีมาแล้ว

กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น ฝึกการรบในชุมชนเมือง (Photo : AFP)

แน่นอนว่า เมื่อสถานการณ์ด้านความมั่นคงเปลี่ยนไปดังนี้ ก็ย่อมต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้แก่กระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่น เพื่อใช้เป็นกระสุนในการดำเนินงานของกองกำลังป้องกันตนเองดังกล่าวเพิ่มขึ้นตามมา โดยทางการญี่ปุ่น ได้เพิ่มงบประมาณให้แก่กระทรวงกลาโหมอยู่เป็นระยะๆ

ล่าสุด ทางกระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่น ก็ได้เรียกร้องขอเพิ่มงบประมาณของกระทรวงฯ กันอีกหน โดยเป็นงบประมาณที่จะใช้ในปี 2025 (พ.ศ. 2568) ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนเมษายนปีหน้านี้เป็นต้นไป

จำนวนงบประมาณที่กระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่น ร้องขอเพิ่มขึ้นมานั้น ก็มากถึง 5.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นเงินไทยก็มากกว่า 2.01 ล้านล้านบาท)

งบประมาณที่ร้องขอเพิ่มเติมข้างต้น ก็ถือว่า เป็นการร้องขอที่มากที่สุดของกระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่นเท่าที่เคยมีมาเลยทีเดียว

ทั้งนี้ หากรัฐสภาญี่ปุ่นพิจารณาอนุมัติให้ตามการร้องขอ ก็ยังเป็นทำลายสถิติของงบประมาณกระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่น ประจำปี 2024 คือ ปีนี้อีกด้วย ที่มีจำนวนมากถึง 5.67 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นเงินไทยราวกว่า 1.93 ล้านล้านบาท) ซึ่งงบประมาณก้อนนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา และได้รับการกล่าวขวัญว่า เป็นงบประมาณจำนวนมากที่สุดของกระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่นนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 มาเลยก็ว่าได้

นอกจากนี้ ยังเป็นงบประมาณของกระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นเป็นปีที่ 13 ติดต่อกัน

กำลังพลของกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น กับรถถังที่พวกเขาพัฒนาประสิทธิภาพต่างๆ ให้ดีขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย (Photo : AFP)

เหตุปัจจัยที่ทำให้ทางกระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่น ต้องร้องของบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างชนิดทุบสถิติปีก่อนๆ ที่ผ่านมานั้นก็คือ ความหวั่นเกรงภัยคุกคามด้านความมั่นคงที่มาจากจีน เกาหลีเหนือ และรัสเซีย นั่นเอง

ไล่มาจาก “รัสเซีย” ก็เป็นกรณีพิพาทเรื่องหมู่เกาะคูริล หมู่เกาะที่อยู่นอกฝั่งทางตอนเหนือของญี่ปุ่น และนอกฝั่งทางใต้ของทางด้านตะวันออกไกลของรัสเซีย ที่ทั้งญี่ปุ่นและรัสเซีย ยังมีปัญหาเรื่องอาณาเขตระหว่างกันอยู่ ซึ่งภายหลังจากรัสเซีย ปฏิบัติการทางทหารต่อยูเครน ทำให้ทางญี่ปุ่น ต้องเพิ่มความระมัดระวัง เพราะเกรงว่า จะเกิดเสียงปืนแตกกับรัสเซียจากกรณีพิพาทนี้เข้าให้

ส่วนภัยคุกคามด้านความมั่นคงจาก “เกาหลีเหนือ” นั้น ปรากฏว่า หลายครั้งหลายคราในช่วงที่ผ่านมา ญี่ปุ่นถูกเกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธพิสัยทำการต่างๆ ข้ามหัว หรือข้ามศีรษะ เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของขีปนาวุธมาหลายครั้งแล้ว สร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงให้แก่ญี่ปุ่น ที่แม้จะประท้วง ประณามกันอย่างรุนแรงออกไปอย่างไร แต่สถานการณ์ถูกยิงขีปนาวุธข้ามหัวก็ยังคงปรากฏอยู่ ท่ามกลางความหวั่นเกรงว่า ขีปนาวุธจะตกบนแผ่นดินญี่ปุ่นเข้าให้สักวัน

ขณะที่ ภัยคุกคามด้านความมั่นคงจาก “จีน” นั้น ก็เป็นการขยายอิทธิพลของจีนไปในน่านน้ำต่างๆ ท้องทะเลต่างๆ ด้านชายฝั่งตะวันออก และตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ทะเลจีนตะวันออก เป็นต้น

ทั้งนี้ นอกจากการขยายอิทธิพลแล้ว จีนก็ยังสำแดงแสนยานุภาพทางการทหารของตนในพื้นที่ต่างๆ กันอีกต่างหากด้วย

ล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กองทัพจีนได้ส่งเครื่องบินแบบ “วาย-9 (Y-9)” ซึ่งเป็นเครื่องบินที่สามารถใช้ลาดตระเวน และการสอดแนมได้ด้วย เข้ามาบินเหนือน่านฟ้าของหมู่เกาะตันโจ ที่ตั้งอยู่ในทะเลจีนตะวันออก ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น

ทั้งนี้ ปฏิบัติการดังกล่าว ถือเป็นการละเมิดน่านฟ้าของญี่ปุ่น ส่งผลให้ทางการญี่ปุ่น ต้องส่งเครื่องบินรบเข้าสกัด ให้เครื่องบินเจ้าปัญหาของจีนบินพ้นออกจากน่านฟ้าไป พร้อมกันนั้น ทางการญี่ปุ่น ก็ได้เรียกตัวทูตจีน มารับหนังสือประท้วง สำหรับการละเมิดน่านฟ้าของญี่ปุ่นในลักษณะนี้เป็นครั้งแรกอีกด้วย

ศูนย์เทคโนโลยีระดับสูงด้านการป้องกันประเทศของญี่ปุ่น แสดงประสิทธิภาพโดรนที่ทางศูนย์วิจัยพัฒนาขึ้น (Photo : AFP)

โดยงบประมาณก้อนใหม่และก้อนใหญ่ที่ร้องขอไป ทางกระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่น ก็หวังจะใช้ในการเสริมศักยภาพของกองกำลังป้องกันตนเอง และการพัฒนาเทคโนโลยีอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ให้ทันสมัย โดยเฉพาะ “โดรนทางการทหาร” ที่ทางกระทรวงฯ เห็นว่า จะเป็นหนึ่งในอาวุธชี้ขาดในการศึกสงครามนับจากนี้ รวมถึงจัดสรรเป็นเงินเดือน สวัสดิการต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ฯ ให้เพิ่มสูงขึ้น เพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่ ให้ตบเท้าเข้าสู่กำลังพลของกองกำลังป้องกันตนเองให้มากกว่าที่เป็นอยู่ แทนที่จะไปทำงานกับบริษัทห้างร้านต่างๆ ที่มีค่าตอบแทนสูงกว่า