วันอังคารที่ 3 กันยายน 2567 ที่ประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 9 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ได้มีมติให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 โดยมีการเสนอชื่อนายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ รองอัยการสูงสุด ให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ผลการออกเสียงลงคะแนนให้ความเห็นชอบ 184 เสียง จึงได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของวุฒิสภาให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ทั้งนี้ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจะได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งต่อไป

 
นายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ ว่าที่อัยการสูงสูงสุด คนที่ 19 สำเร็จการศึกษา นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา สมัยที่ 34 และ LL.M., Tulane University, U.S.A.
สำหรับประวัติการทำงานเริ่มรับราชการในตำแหน่ง อัยการผู้ช่วย กองคดีอาญา เมื่อปี พ.ศ. 2530 โดยสอบเข้ารับราชการได้ในลำดับที่ 1 และดำรงตำแหน่งสำคัญ ดังต่อไปนี้
พ.ศ. 2552 - 2558 อัยการพิเศษฝ่ายกิจการต่างประเทศ 3 สำนักงานต่างประเทศ
พ.ศ. 2558 - 2559 อัยการพิเศษฝ่ายยุทธศาสตร์และฐานข้อมูลคดีค้ามนุษย์ สำนักงานคดีค้ามนุษย์
พ.ศ. 2559 - 2561 อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 สำนักงานคดีอาญา
พ.ศ. 2561 - 2563 รองอธิบดีอัยการ สำนักงานต่างประเทศ
พ.ศ. 2563 - 2564 อธิบดีอัยการ สำนักงานการยุติการดำเนินคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการ
พ.ศ. 2564 - 2565 อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลแขวง
พ.ศ. 2565 - ปัจจุบัน รองอัยการสูงสุด
 
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีผลงานที่โดดเด่น อาทิ การริเริ่มให้มีการจัดโครงการ “อัยการไทย คุ้มครองสิทธิไปทั่วโลก” ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกระทรวงการต่างประเทศ โดยจัดพนักงานอัยการร่วมบรรยายและให้คำปรึกษาทางกฎหมายตามที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ และองค์กรที่มีถิ่นที่ตั้งในต่างประเทศร้องขอมา โดยนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นเครื่องมือในการขยายขอบเขตความคุ้มครองให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะคนไทยที่อาศัยอยู่ในต่างแดน ทำให้สามารถเข้าถึงประชาชนคนไทยในต่างประเทศได้จำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยสะดวกรวดเร็ว และไม่เป็นภาระแก่งบประมาณแผ่นดิน นอกจากนี้ นายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสามัญในคณะกรรมการบริหาร (the Ordinary Member of the Executive Committee) ของสมาคมอัยการระหว่างประเทศ (International Association of Prosecutor : IAP) ซึ่งเป็นสมาคมที่ไม่แสวงหากำไรและได้จัดขึ้นมาเป็นระยะเวลานานแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสมาคมที่เป็นศูนย์กลางและศูนย์รวมในการพบปะและแลกเปลี่ยนระหว่างพนักงานอัยการทั่วโลก ซึ่งประเทศไทย โดยสำนักงานอัยการสูงสุดได้รับเกียรติให้เป็นผู้แทนถาวรมาโดยตลอด นับเป็นเกียรติที่ได้เป็นผู้แทนของอัยการไทยในเวทีระดับโลก
 
นอกจากนั้น ยังได้ริเริ่มให้มีการจัดทำโครงการความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐหลายแห่งเพื่อประสานความร่วมมือและให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ในการป้องกันและปราบปรามปัญหาหนี้นอกระบบที่ทำให้เกิดความเสียหายทั้งต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพของประชาชน และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยการจัดให้พนักงานอัยการเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการต่าง ๆ ตามที่รัฐบาลร้องขอ ในการให้ความช่วยเหลือและคำแนะนำทางกฎหมายแก่ประชาชน และจัดโครงการรถคาราวานแก้ปัญหา โดยจัดหารถยนต์ตู้เคลื่อนที่ให้แก่สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัด เพื่อกระจายความช่วยเหลือดังกล่าวให้ออกไปยังผู้ยากไร้หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบซึ่งไม่สามารถที่จะเดินทางมาพบพนักงานอัยการ ณ สถานที่ทำการได้ ส่งผลให้ปัญหาหนี้นอกระบบลดลงอย่างมีนัยสำคัญ