วันที่ 3 ก.ย.2567 ที่รัฐสภา น.ส.นันทนา นันทวโรภาส ให้สัมภาษณ์ว่า สืบเนื่องจากที่ประชุมวุฒิสภาเมื่อวานนี้ (2 ก.ย.) มีการลงมติเห็นชอบกับข้อบังคับการประชุมและกำหนดให้มีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญประจำวุฒิสภา 21 คณะ จากเดิมมี 26 คณะ ซึ่งได้มีข้อเสนอในการที่จะยกร่างข้อบังคับการประชุมว่าด้วยกมธ. ที่มีผู้ยกร่างทั้งสิ้น 5 ร่าง ซึ่ง 4 ร่างเป็นของสมาชิกเสียงข้างน้อย เราจึงมีความรู้สึกว่าเสียงของวุฒิสมาชิกเสียงข้างน้อยไม่มีความสำคัญ และไม่เคารพ ตกลงแล้วกันมาทำงานในสภา เราไม่สามารถผลักดันอะไรได้เลย แม้จะมีข้อตกลงเพื่อลงมติร่วมกันแต่ถึงเวลาก็ใช้เสียง

เมื่อถามว่าสว. เสียงข้างน้อยจะทำงานยากหรือไม่ น.ส.นันทนา กล่าวว่า ยากลำบากมาตั้งแต่ต้นที่เรามีจำนวนเกินกว่าที่เราจะไปชนะในมติใดๆได้ แต่เรายังคิดว่าสว. เป็นผู้ที่มาจากอาชีพที่หลากหลายและการเข้ามาร่วมเข้ามาทำงานต้องมีเสียงข้างมากหรือข้างน้อย  และควรให้กลุ่มอาชีพได้แสดงความรู้ความสามารถผลักดันวาระ แต่สุดท้ายเราไม่ได้เห็นความหลากหลายตรงนี้ ถือเป็นเรื่องยากที่จะผลักดันวาระต่อไป ไม่ต้องพูดถึงการแก้รัฐธรรมนูญ

“เราคงทำได้แค่ส่งเสียง ให้สื่อมวลชนสื่อสารไปยังประชาชนว่าเราพยายามเต็มที่แล้ว“น.ส.นัทนา กล่าว

เมื่อถามว่า หากเหตุการณ์เป็นเช่นนี้เรื่องที่ส.ว. เสียงข้างน้อยอยากผลักดัน จะไม่สำเร็จเลยใช่หรือไม่ น.ส.นันทนา กล่าวว่า น่าจะเป็นเช่นนั้น เราได้เสนอญัตติน้ำท่วม ซึ่งคนทั่วไปเขาเห็นความเดือดร้อน เป็นญัตติของเสียงข้างน้อยก็ไม่ได้รับการบรรจุ กว่าจะบรรจุน้ำก็คงลดไปแล้ว

“เราคงได้ยินมาแล้วว่าจะมีประธานกมธ.จากสีน้ำเงิน 21 เก้าอี้ ต้องถามประชาชนว่าเห็นชอบหรือไม่ เสียงข้างมากไม่ได้แปลว่าจะต้องกินรวบทั้งหมด หรือจะได้เป็นประธานกมธ.ทุกคณะ ผู้ที่มาดำรงตำแหน่ง ประธานกมธ.ควรเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถตรงกับภาระหน้าที่ ไม่ใช่เข้ามาเพื่อรับผลประโยชน์ มีห้องทำงาน หรือขอเครื่องราชฯ ได้ เพราะประชาชนจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย”น.ส.นันทนา กล่าว