ก.ล.ต.ปรับปรุงหลักเกณฑ์การห้ามสนับสนุนการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าหรือบริการ (Means of Payment : MOP) ให้ครอบคลุมผู้ประกอบสินทรัพย์ดิจิทัลทุกประเภทในปัจจุบัน และปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อให้ผู้ประกอบการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. สามารถเข้าทดสอบภายใต้โครงการ Programmable Payment Sandbox ของ ธปท. เพื่อส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินดิจิทัล โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6 ก.ย.67

เมื่อวันที่ 3 ก.ย.67 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องและผู้สนใจ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 เกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ต้องไม่มีลักษณะเป็น MOP ให้ครอบคลุมธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทุกประเภท และการปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อให้ผู้ประกอบการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. สามารถเข้าร่วมโครงการ Programmable Payment Sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ เพื่อส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินดิจิทัล โดยผู้แสดงความเห็นส่วนใหญ่เห็นด้วย

ก.ล.ต. จึงออกประกาศ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

(1) ปรับปรุงหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ต้องไม่มีลักษณะเป็น MOP เพื่อขยายขอบเขตให้ครอบคลุมผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Custodial Wallet Provider) ซึ่งเป็นธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทใหม่

(2) ปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับความเห็นชอบจาก ธปท. ให้เข้าร่วมการทดสอบในโครงการ Programmable Payment Sandbox สามารถให้บริการหรือกระทำการอันมีลักษณะเป็น MOP ภายใต้การทดสอบดังกล่าวได้

(3) ปรับปรุงบัญชีรายชื่อคริปโทเคอร์เรนซีที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกำหนด ซึ่งผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัล ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล และผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล สามารถรับเป็นการตอบแทนหรือในการทำธุรกรรม เพื่อรองรับการดำเนินการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลในโครงการ Programmable Payment Sandbox

ทั้งนี้ ประกาศหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2567 เป็นต้นไป

#กลต #สินทรัพย์ดิจิทัล #ชำระค่าสินค้า #ธปท #ข่าววันนี้