กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) ติวเข้มคณะกรรมการและคณะทำงาน ตรวจสอบวิเคราะห์คุณภาพสินค้า OTOP ระดับประเทศ เพื่อวางแผนการทำงานร่วมกันในการพิจารณาให้ค่าคะแนนคัดสรรจัดระดับผลิตภัณฑ์ หรือ การให้ระดับดาว 1-5 ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ถูกต้อง เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน โดยจะดำเนินการในระหว่างวันที่ 18 - 27 กันยายน 2567 นี้ ณ ศูนย์การประชุม อิมแพ็คฟอรั่ม ฮอลล์ 4 เมืองทองธานี คาดปีนี้ จะมีผู้สมัครเข้าคัดสรรฯ กว่า 16,000 ผลิตภัณฑ์
วันที่ 3 ก.ย.67 นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานในพิธีเปิดงานประชุมเชิงปฏิบัติการและชี้แจงคณะกรรมการคณะทำงาน การคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ปี พ.ศ. 2567 หรือ OTOP Product Champion : OPC โดยมีรองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน ผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน พร้อมด้วยคณะกรรมการคณะทำงานตรวจพิจารณาให้ค่าคะแนน จำนวนกว่า 300 คน เข้ารับฟัง ณ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยว่า ขณะนี้ การคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ระดับประเทศ ประจำปี 2567 ได้เริ่มเปิดรับสมัครผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ทั่วประเทศแล้ว และจะสิ้นสุดการรับสมัครระดับกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 3 กันยายน และระดับจังหวัด สิ้นสุดวันที่ 13 กันยายน กรมการพัฒนาชุมชน จึงได้จัดประชุมชี้แจงให้กับคณะกรรมการและคณะทำงาน เพื่อวางแผนร่วมกันในการพิจารณาค่าคะแนน ในส่วน ค. ซึ่งเป็นการพิจารณาตรวจสอบ วิเคราะห์คุณภาพ ตามประเภทผลิตภัณฑ์ และโอกาสทางการตลาดสู่สากล โดยปี 2567 นี้ คาดว่าจะมีผู้สมัครเข้าคัดสรรฯ กว่า 16,000 ผลิตภัณฑ์
ทั้งนี้ คณะกรรมการ คณะทำงานทำหน้าที่ตรวจและให้ค่าคะแนนผลิตภัณฑ์ใน 5 ประเภทผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย ประเภทอาหาร โดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมประเภทเครื่องดื่ม โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย โดย กระทรวงอุตสาหกรรม ประเภทของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก โดย กระทรวงพาณิชย์ และประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร โดย กระทรวงสาธารณสุข
ทั้งนี้ กรมการพัฒนาชุมชนได้ดำเนินการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย โดยเฉลี่ยทุก 2 ปี โดยดำเนินการมาแล้วทั้งสิ้น จำนวน 8 ครั้ง เพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้ผลิตภัณฑ์ OTOP ได้มีโอกาสพัฒนาให้มีคุณภาพมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับแก่บุคคลทั่วไป จนสามารถใช้เป็นแหล่งสร้างรายได้และความเข้มแข็งให้กับชุมชน อีกทั้งเป็นการกระตุ้นให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และชุมชนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้มีมาตรฐานในระดับสากลต่อไป