วันที่ 3 ก.ย.2567 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาฯที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 วาระ 2 เป็นการพิจารณารายมาตรา ต่อมาเวลา 09.50 น.น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กมธ.เสียงข้างน้อย อภิปรายว่า ขอปรับลดงบประมาณลงอีกราว 2 แสนล้านบาทให้เหลือ 3.5 ล้านบาทเศษ ซึ่งได้ตั้งข้อสังเกตว่ารัฐวิสาหกิจถูกปรับลดไปครึ่งหนึ่งจากที่ของบประมาณมาบางหน่วยงานถูกตัดงบจนไม่เหลือเลย เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่ง ธ.ก.ส. ของบประมาณมา 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่อยู่ในแผนบริหารชำระหนี้ไม่ถูกตัดงบ แต่ส่วนของแผนยุทธศาสตร์กลับถูกตัดงบประมาณลงทั้งหมด รวมแล้วรัฐวิสาหกิจที่เป็นธนาคารของรัฐ ถูกตัดงบลงไป 3.5 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีการปรับลดงบของหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม ตัดลงไป 7% ในโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 เชฟ ประมาณ 120 ล้านบาท, กระทรวงดิจิทัล ตัดงบประมาณของระบบเตือนภัย Cell Broadcast เนื่องจากซ้ำซ้อนกับงบของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ของกระทรวงมหาดไทย ประมาณ 200 ล้านบาท ขณะที่สำนักนายกฯตัดงบงวดงาน และงบประมาณในส่วนของโครงการซอฟท์พาวเวอร์ ส่วนกระทรวงกลาโหมถูกตัดงบประมาณน้อยกว่าทุกปี
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า งบบางส่วนที่ไม่ควรตัดกลับถูกตัด เช่น ธนาคารรัฐวิสาหกิจ และยังมีส่วนที่เป็นไขมันและยังรีดได้อีกมาก คือโครงการที่ซ้ำซ้อน ไม่สมเหตุสมผล ยังขาดเป้าหมายวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน เช่น โครงการ Anywhere Anytime ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีการถกเถียงว่าใช้งบประมาณทำแบบเรียนออนไลน์สูงเกินจริง และสุดท้ายไม่ได้ตัดงบประมาณส่วนนี้ โดยอีก 3 วันต่อไปนี้ จะมีการอภิปรายลงรายละเอียดว่ามีงบประมาณส่วนใดที่เป็นไขมันสามารถตัดออกได้อีกบ้าง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เหตุผลที่จำเป็นต้องปรับลดงบประมาณลง เพราะเราไม่ได้มีศักยภาพมากพอจะใช้จ่ายงบประมาณถึง 3.7 ล้านล้านบาท เนื่องจากงบประมาณ 2568 ได้ประมาณการรายได้มาตั้งแต่ธ.ค. 2566 ที่ประมาณการรายได้ไว้ถึง 2.887 ล้านล้านบาท และเชื่อว่าเศรษฐกิจในปี 2567 จะโตขึ้น 3.2% แต่เหตุการณ์ได้เปลี่ยนไปมาก เพราะเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะชะลอตัวลง
“ ปี 2567 การเติบโตของเศรษฐกิจเหลือ 2.5% แล้ว ย่อมส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลโดยตรง ปี 2568 ก็เช่นเดียวกัน ถูกปรับลดการเติบโตทางเศรษฐกิจเหลือ 3.0% เท่านั้น แล้วเราจะจัดเก็บรายได้เท่าเดิมที่ประมาณการไว้คือเกือบ 2.9 ล้านล้านบาท ได้อย่างไร เหตุการณ์เปลี่ยนแปลง แต่ประมาณการรายได้ของปี 2568 ไม่ได้ถูกปรับเปลี่ยนเลย และเมื่อมีแนวโน้มจะจัดเก็บรายได้ไม่ตรงตามที่คาดหมายไว้ ยิ่งควรปรับลดงบประมาณลง ยกตัวอย่างเช่น กรมสรรพสามิต ที่ตั้งเป้าไว้ในปี 2567 ว่าจะจัดเก็บรายได้เกือบ 6 แสนล้านบาท แต่เก็บจริงกลับหลุดเป้าไปเกือบ 7 หมื่นล้านบาท เก็บได้อย่างไรก็ไม่น่าเกิน 530,000 ล้านบาท เนื่องจากเรามีการปรับลดภาษีราคาน้ำมันเพื่อช่วยค่าครองชีพ
และปรับภาษีรถยนต์ EV เพื่อกระตุ้นการลงทุนในรถ EV รวมถึงบุหรี่ที่ไม่สามารถเก็บภาษีได้ และพลาดเป้าไปเกือบ 1 หมื่นล้านบาท และในปี 2568 ก็ตั้งเป้าไว้อย่างท้าทายว่าจะจัดเก็บรายได้ถึง 609,700 ล้านบาท แต่เก็บจริงจะได้เท่าไหร่ ซึ่งไม่มีทางที่จะเป็นไปไม่ได้ เพราะนโยบายภาษี EV ยังไม่แนวโน้มที่จะมีการเปลี่ยนแปลง และภาษีบุหรี่ก็ไม่มีการปรับปรุงนโยบายแต่อย่างใด เพราะยังมีความท้าทายจากบุหรี่เถื่อน บุหรี่ไฟฟ้า และกรมสรรพสามิตก็ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนท่าทีว่าอัตราภาษี
ดังนั้นเป้าที่ตั้งไว้ก็ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ เพื่อความระมัดระวังและสามารถที่รองรับสภาวะที่ไม่แน่นอนในอนาคตได้ขอปรับลดงบประมาณลอีกราว 2 แสนล้านบาท ให้เหลือ 3.5 ล้านล้านบาทเศษ” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว