วันที่ 3 ก.ย.67 เมื่อเวลา 09.10 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงการตรวจสอบคุณสมบัติว่าที่รัฐมนตรี ในรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ว่า ขณะนี่ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีการตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว โดยสำนักงานเลขาคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้ส่งเรื่องมายังคณะกรรมการกฤษฎีกา และมีการตั้งประเด็นคำถาม เกี่ยวกับลักษณะผู้ที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีของพนักงานอัยการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และอยู่ระหว่างการเตรียมคำฟ้อง จะมีการวินิจฉัยอย่างไร และขัดหรือไม่ขัด ซึ่งทางคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีการให้ความเห็นตามประเด็นที่ถามมาประมาณ 10 กว่าประเด็นในภาพรวม แต่ไม่ได้มีการตรวจสอบเป็นรายบุคคล เนื่องจากตนไม่ได้เห็นรายชื่อเป็นรายบุคคล และไม่ทราบว่ามีทั้งหมดกี่ราย
นายปกรณ์ กล่าวว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาดูเพียงประเด็นที่สอบถามมาเท่านั้น ไม่ได้ลงไปในรายละเอียด เนื่องจาก หากจะลงรายละเอียดจะต้องดูข้อเท็จจริงเยอะ ทั้งนี้ กรณีที่มีการร้องเรียนไปยัง ป.ป.ช.แล้ว และอยู่ระหว่างการไต่สวน ยังไม่ได้มีการชี้มูล เราก็ไปตัดสินว่าเขาผิดไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุไว้ขนาดนั้น ถือเป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการถูกกล่าวหา จึงสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีการพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่ามีการกระทำความผิด อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกฤษฎีกาได้แนะนำกลับไปว่าจะต้องมีการดูรายละเอียดเป็นกรณีไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากตรวจสอบเป็นประเด็นแต่ไม่ได้ตรวจสอบรายบุคคล จะทำให้เกิดปัญหาในอนาคตหรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า คณะกรรมการกฤษฎีกามีหน้าที่เพียงให้ความเห็นประกอบการดุลพินิจของนายกรัฐมนตรี ส่วนอำนาจในการตัดสินวินิจฉัยเป็นของศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ การถูกร้องไปที่ป.ป.ช.แล้วจะ เหมารวมว่ามีมลทินก็ไม่แฟร์กับผู้ที่ถูกร้อง เพราะบางเรื่องป.ป.ช.ไม่ได้มีการชี้มูล จึงต้องดูรายละเอียดเป็นกรณีไป ซึ่งกระบวนการร้องเรียนในประเทศไทยทำได้ง่าย ร้องเรียนได้ตลอดเวลา ไม่ต้องห่วงจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลจึงจะเป็นข้อยุติ
เมื่อถามย้ำว่า จะไม่มีปัญหาเหมือนกรณีของนายพิชิต ชื่นบาน ใช่หรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของศาล ซึ่งการบริหารราชการแผ่นดิน ยึดความซื่อสัตย์สุจริตในส่วนของเรา คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ไม่รู้ แต่ถ้าเราสุจริตจริงก็ไม่มีปัญหา