กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เดินหน้าให้ความรู้นักบัญชีและผู้ประกอบธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ก่อนการบังคับใช้ประกาศกรมฯ เรื่อง กำหนดรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงิน สำหรับการจัดทำงบการเงินรอบปี 2567 จัดทัพวิทยากรทีมบัญชีโรดโชว์ทำความเข้าใจ พร้อมติวเข้มระบบงานใหม่กระตุ้นให้เห็นความสำคัญในการยกระดับการจัดทำบัญชีและงบการเงินที่ทันสมัยสอดรับระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ช่วยสร้างธรรมาภิบาลแก่ภาคธุรกิจ รวมทั้ง สามารถบริหารจัดธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านแนวคิด SMILE SME & Franchise 
  
เมื่อวันที่ 3 ก.ย.67 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ได้มอบหมายให้ ม.ล.ภู่ทอง ทองใหญ่ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดการอบรมหลักสูตร ‘ยกระดับการจัดทำบัญชีและงบการเงินตามประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่อง กำหนดรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงิน พ.ศ.2566 เพื่อเสริมสร้าง SMILE SME & Franchise Road Show 2024’ วันอังคารที่ 3 กันยายน 2567 ณ ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี โดยปัจจุบันประเทศไทยมีนิติบุคคลคงอยู่ จำนวน 928,369 ราย ซึ่งกรมฯ ได้อยู่เคียงข้างภาคธุรกิจไทยอย่างต่อเนื่อง ร่วมกันสร้างความเข้มแข็งแก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความยั่งยืนแก่ภาคธุรกิจ ซึ่งความยั่งยืนของธุรกิจสามารถวัดผลและดำเนินการผ่านกระบวนการจัดทำบัญชีและงบการเงินที่มีคุณภาพตามกฎหมายและมาตรฐานการบัญชี ดังนั้น หนึ่งในภารกิจสำคัญที่กรมฯ ดำเนินการมาโดยตลอดคือ การกำกับดูแลและส่งเสริมพัฒนาการบัญชีของภาคธุรกิจ ภายใต้กฎหมาย 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 และ พระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ.2547 

ทั้งนี้ กรมฯ ได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อเร่งผลักดันให้ธุรกิจไทยเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนอย่างมีธรรมาภิบาล โดยผู้ที่มีบทบาทสำคัญช่วยผลักดันให้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวสัมฤทธิผล คือ ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี ปัจจุบันประเทศไทยมี 1) ผู้ทำบัญชี จำนวน 76,276 ราย 2) ผู้สอบบัญชี จำนวน 15,263 ราย และ 3) สำนักงานบัญชี 11,013 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นสำนักงานบัญชีคุณภาพที่กรมฯ ให้การรับรอง จำนวน 172 แห่ง ทั้งนี้ปี 2565 สภาวิชาชีพบัญชีได้มีการปรับปรุงมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ หรือ TFRS for NPAEs ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ววันที่ 1 มกราคม 2566 และในปีต่อมา 2566 กรมฯ ได้มีประกาศกรมฯเรื่องกำหนดรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงิน พ.ศ.2566 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา จึงถือได้ว่าในช่วงสองปีที่ผ่านมาเป็นก้าวแห่งการเปลี่ยนผ่านทางบัญชีที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งของนักบัญชีและธุรกิจไทย 

อธิบดีอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี และผู้ประกอบธุรกิจ จำนวน 1,575 รายเข้าร่วมอบรม เป็นการเตรียมความพร้อมแก่ภาคธุรกิจและนักบัญชีให้สามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง รวมทั้ง เปิดตัวรูปแบบงบการเงินฉบับใหม่อย่างเป็นทางการ ซึ่งธุรกิจทั้ง 9 แสนกว่ารายต้องเริ่มจัดทำและนำส่งงบการเงินฉบับใหม่แก่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในปี 2568 รวมทั้ง ได้รับทราบถึงข้อควรระวังต่างๆ ของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี และข้อบกพร่องที่พบจากการตรวจสอบบัญชีของกรมฯ ในการอบรมคราวนี้ด้วย 

นอกจากการอบรมแล้ว ภายในงานกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้นำระบบงานใหม่ๆ มาร่วมจัดแสดงและให้บริการ ประกอบด้วย ระบบการจดทะเบียนนิติบุคคลทางดิจิทัล (DBD Biz Regist) ระบบคลังข้อมูลธุรกิจ (Data Warehouse+) ระบบยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (e-Foreign Business) และสำนักงานบัญชีคุณภาพ รวมทั้ง ยังได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรของกรมฯ มาร่วมจัดแสดงบูธ ได้แก่ สภาวิชาชีพบัญชี ซอฟแวร์ทางด้านบัญชี และธุรกิจแฟรนไชส์ เป็นต้น 

ทั้งนี้ ตามกฎหมายที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากำกับดูแลทั้งสองฉบับข้างต้น ภาคธุรกิจต้องจัดให้มีการทำบัญชีและงบการเงิน รวมทั้ง ต้องจัดให้มีผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชีของกิจการ กรมฯ มุ่งหวังที่จะสร้างองค์ความรู้ด้านบัญชีให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อให้สามารถใช้ข้อมูลทางการบัญชีในการเสริมศักยภาพการบริหารจัดการธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคงและแข็งแกร่ง ผ่านแนวคิด SMILE SME & Franchise คือ S = Sustainable (ความยั่งยืน) M = Modern (ความทันสมัย) I = Intelligent (ความฉลาด) L = Leading (การเป็นผู้นำ) และ E = Efficient (ความมีประสิทธิภาพ) ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจและผู้ทำบัญชีเห็นถึงความสำคัญต่อการสร้างความยั่งยืนแก่ภาคธุรกิจโดยมีธรรมาภิบาลธุรกิจเป็นเสาค้ำที่สำคัญ   

#SuperDBD #กรมพัฒนาธุรกิจการค้า #กระทรวงพาณิชย์ #ข่าววันนี้