วุฒิสภา มีมติ118 เสียง ตีตกญัตติด่วนสอบจริยธรรมตุลาการศาลรธน.  “นันทนา” โวยญัตติฯ ถูกสว.เสียงข้างมากตีตก ยกเป็นกรณีตัวอย่าง บุคคลที่ให้คุณ-โทษ “นายกฯ-พรรคการเมือง” ควรถูกตรวจสอบด้วย

ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 2 ก.ย.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม โดยก่อนที่จะเข้าสู่ระเบียบวาระ น.ส.นันทนา นันทวโรภาส ส.ว. เสนอญัตติด่วนเพื่อตรวจสอบจริยธรรมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากที่พบการวิจารณ์ที่ไม่เหมาะสมและส่อขัดต่อประมวลจริยธรรมที่ใช้บังคับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการเสนอญัตติดังกล่าวพบว่ามี ส.ว.ที่เห็นต่างและประท้วง เนื่องจากมองว่าไม่ใช่เรื่องด่วนหากเทียบกับการเสนอญัตติเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม อีกทั้งยังมองว่าไม่มีความจำเป็นเพราะกากรตั้งญัตติดังกล่าวเป็นการกระทบกับบุคคลภายนอกรัฐสภา นอกจากนั้นยังขอให้วุฒิสภาพิจารณาร่างแก้ไขข้อบังคับวุฒิสภาให้เสร็จเพื่อตั้งกรรมาธิการ จากนั้นจึงควรเสนอเรื่องดังกล่าวให้ กมธ.พิจารณา อย่างไรก็ดี ส.ว.ในกลุ่มที่สนับสนุนญัตติด่วนของน.ส.นันทนาลุกโต้แย้งและมองว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่าสภาผู้แทนราษฎรได้วินิจฉัยในญัตติที่มีเนื้อหาทำนองเดียวกันและถือเป็นญัตติด่วน ดังนั้นวุฒิสภาจึงสามารถพิจารณาเรื่องดังกล่าวได้

ทั้งนี้ พล.อ.เกรียงไกร ได้วินิจฉัยให้น.ส.นันทนาเสนอญัตติด่วนได้ แต่ต้องใช้มติของวุฒิสภาตัดสินว่าจะพิจารณาญัตติด่วนดังกล่าวหรือไม่ โดยผลการลงคะแนนพบว่าเสียงข้างมาก 118 เสียง ไม่เห็นด้วยกับญัตติดังกล่าว ต่อ 37 เสียง และงดออกเสียง 12 เสียง


ด้าน น.ส.นันทนา นันทวโรภาส ส.ว. ให้สัมภาษณ์ถึงการยื่นญัตติด่วนด้วยวาจากรณีให้ตรวจสอบจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ว่า จากกรณีการบรรยายสาธารณะ โดยมีการกล่าวถึงการยุบพรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา ระหว่างที่ตนนำเสนอในที่ประชุม รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่งได้ปิดไมค์ ซึ่งอาจทำให้ประชาชนมีความรู้สึกว่าวุฒิสภาควรจะเป็นที่ที่มีการสื่อสารกัน ในเรื่องความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเป็นอารยะ แต่กลับมีการปิดไมค์ ไม่มีการรับฟัง ไม่มีการรับรองญัติติ และเปิดให้อภิปรายใดๆ

“ในวันนี้ก็ได้นำญัตติเดิมกลับมาเสนออีกครั้ง เพื่อยืนยันว่าข้อบังคับที่ 40 (1) กำหนดให้ ส.ว. สามารถเสนอญัตติด่วนได้ ซึ่งในวันนี้ได้รับอนุญาตให้นำเสนอ แต่ก็มีการประท้วง ในที่สุดก็มีการลงมติไม่เห็นชอบตามเสียงข้างมาก ที่จะมีการส่งเรื่องต่อให้กับศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อตรวจสอบเรื่องจริยธรรมกันเอง ซึ่งจะเป็นบททดสอบ เบื้องต้นที่ทำให้เห็นว่า การนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ที่เสียงข้างมากไม่เห็นด้วย ก็จะถูกตีตกด้วยการลงมติ และวันนี้ก็มีการสั่งให้มีการลงมติอย่างรวดเร็ว เนื่องจากทราบว่าอย่างไรก็ตามญัตตินี้จะต้องตกไป และไม่สามารถนำกลับมาเสนอในสมัยการประชุมนี้ได้อีก ในรูปแบบการเสนอญัตติ แต่ยังสามารถหารือได้ ซึ่งก็มีข้อจำกัดในเรื่องเวลา อย่างน้อยการนำเสนอในวันนี้ ก็ทำให้ประชาชนเห็นว่าบทบาทของ ส.ว. สามารถนำเสนอเรื่องราวปัญหาเข้าสภาได้”

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไป เนื่องจากมีการเสนอให้นำเรื่องนี้ไปยื่นต่อองค์กรอิสระ หรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง น.ส.นันทนา กล่าวถึงบทบาทและขอบเขตอำนาจขององค์กรอิสระ ว่าเป็นเรื่องทางโครงสร้าง การหยิบยกนำพฤติกรรมของตุลาการบางคนขึ้นมา เป็นกรณีตัวอย่างว่า บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับอำนาจสูงสุด ในแง่ที่สามารถให้คุณให้โทษ ต่อนายกรัฐมนตรี ต่อพรรคการเมืองได้ ก็ควรจะต้องถูกตรวจสอบด้วย แต่ทั้งนี้ด้วยโครงสร้างจะต้องมีการปรับแก้ และยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะขอบเขตอำนาจขององค์กรอิสระนับวันจะกว้างขึ้น และขยายออกไป แต่อย่างไรก็ตาม คงไม่มีการไปดำเนินการเอง หรือร่วมกันเข้าชื่อในบทบาทของ ส.ว.