“กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านทำผงนัว” บ้านยางโล้น ตำบลโคกภู อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร ได้เข้าร่วมอบรมโครงการแปรรูปเครื่องใช้ครัวเรือน กับสำนักงานการปฏิรูปที่ดิน จังหวัดสกลนคร (ส.ป.ก.สกลนคร) นำผักพื้นบ้านที่ปลูกแบบอินทรีย์มาพัฒนาเป็นผงผักปรุงรส เพิ่มมูลค่าผักท้องถิ่นให้เป็นรายได้เสริมให้กับสมาชิกในชุมชน

นางนวลมณี มุสิริ ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านทำผงนัว บ้านยางโล้น จังหวัดสกลนคร กล่าวว่า เดิมทีกลุ่มตนเป็นการรวมกลุ่มที่ทำงานเกี่ยวกับนวเกษตร เช่น การปลูกป่า ปลูกไม้ผสมผสาน ปลูกผัก ทั้งเพื่อไว้กินและจำหน่ายตามท้องตลาด ส.ป.ก.สกลนคร ได้เล็งเห็นความสำคัญของผักพื้นบ้านและทำความร่วมมือกับสถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตสกลนคร โดยมีอาจารย์นิภาพรอามัสสาเป็นตัวแทนเพื่อคิดค้นและวิจัยเกี่ยวกับผงนัว ซึ่งหลังจากการเข้าร่วมอบรม กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านยางโล้นได้ผลิตผงปรุงรสขึ้นเป็นจุดเริ่มต้นของการทำผงผักหรือผงนัวเครือข่ายอินแปง ผงนัวคือเครื่องปรุงที่ใช้แทนผงชูรสเพื่อหลีกเลี่ยงสารเคมีโดยการหันมาใช้ผักจากธรรมชาติ 100% สามารถประกอบอาหารได้ทุกประเภท เพิ่มรสชาติของอาหาร รสชาติที่จะได้ออกเปรี้ยว หวาน มัน ซึ่งรสชาติเหล่านี้มาจากผัก 13 ชนิดซึ่งล้วนเป็นผักพื้นบ้าน ประกอบด้วย มะรุม ข้าวโพด ผักหวานป่า ย่านาง กุยช่าย(แป้น) ผักขม ผักหวานบ้าน ชะมวง ชะเอมป่า คันทรง ฟักทอง ผักคอนแคน และ หม่อน ทั้งหมดปลูกในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินโดยใช้สวนของนางนวลมณีที่มีพื้นที่กว่า 6 ไร่เป็นพื้นที่หลักในการปลูกผักที่จะนำมาแปรรูป ซึ่งพื้นที่นี้เป็นการทำแบบอินทรีย์สวนเกษตรผสมผสานที่ได้รับมาตรฐานออร์แกนิกไทยแลนด์

กระบวนการทำงานเริ่มต้นจากการเก็บผักที่เป็นส่วนประกอบทั้งหมดมาจำแนกแต่ละชนิด เนื่องจากลักษณะความชื้นในผักมีความแตกต่างกัน ก่อนจะนำมาล้างทำความสะอาดก่อนไปผึ่งแดดและนำเข้าเครื่องอบเพื่อให้ผักมีความกรอบแห้ง โดยผักแต่ละชนิดใช้เวลาในการอบไม่เท่ากันและในขั้นตอนสุดท้ายคือบดให้ละเอียดนำผงผักอบแห้งผสมกันในอัตราส่วนที่กำหนดทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหรือเครือข่ายอินแปงและอาจารย์ผู้คิดค้นได้นำนวัตกรรมใหม่เข้ามาช่วยผ่อนแรงและลดเวลาให้สามารถเพิ่มผลผลิตตามความต้องการของลูกค้า รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจาก ส.ป.ก.สกลนคร จัดหาอุปกรณ์เครื่องทุ่นแรงและตั้งโรงเรือนในการผลิตพร้อมให้ความรู้แก่สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจกลุ่มแม่บ้านผงนัวบ้านยางโล้น เช่น เครื่องสูญญากาศและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกอื่นๆ

โดย ส.ป.ก.สกลนคร ต้องการสร้างมาตรฐานของผลิตภัณฑ์แปรรูปให้ผ่านเกณฑ์กำหนดมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยการนำนวัตกรรมกระบวนการพัฒนาแนวทางวิธีผลิตที่สะอาดได้มาตรฐานรูปแบบที่ทันสมัยลดขั้นตอนกระบวนการผลิตเพื่อประหยัดต้นทุนและเวลา จนสามารถจดเครื่องหมายการค้าผงนัวได้ทั้งหมด 2 สูตร คือ สูตรเจ สำหรับคนรักสุขภาพ และ สูตรดั้งเดิม 

​​​​​​​ ​​​​​​​

ในส่วนของการส่งเสริมรายได้นั้น เดิมทางกลุ่มแม่บ้านจัดจำหน่ายผักสดในตัวเมือง หลังจากมีการแปรรูปผักพื้นบ้านเป็นผงผักหรือผงนัวสามารถสร้างรายได้แก่ชุมชนมากขึ้น มีการจ้างงานในชุมชนทั้งผู้สูงอายุ วัยทำงาน และวัยหนุ่มสาวมีรายได้ ปัจจุบันกลุ่มรุ่นใหม่เข้ามาดูแลเรื่องช่องทางจัดจำหน่ายออนไลน์ facebook:ผงนัวยางโล้นส่วนใหญ่เป็นลูกหลานคนในชุมชนที่ช่วยวางแผนการตลาดและโปรโมทผลิตภัณฑ์ ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้ศึกษาพัฒนาสูตรผงนัวการใช้ผักพื้นบ้านให้เกิดคุณค่า สร้างรายได้จากต้นทุนเดิมสู่ผลิตภัณฑ์ ออร์แกนิก 100% ปลอดภัยต่อร่างกายเพื่อให้สุขภาพแข็งแรง