ได้เวลาขยับปรับเปลี่ยนอย่างขนานใหญ่อีกครั้ง

สำหรับ กองทัพสหรัฐอเมริกา อันเป็นกองทัพของประเทศที่ยังคงถูกยกย่องให้เป็นมหาอำนาจหมายเลขหนึ่งของโลก ณ ชั่วโมงนี้ พ.ศ.นี้ นับตั้งแต่หลังสิ้นสุด “สงครามเย็น” เมื่อช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1990 หรือหลังการล่มสลายของอดีตสหภาพโซเวียตรัสเซีย เป็นต้นมา

ด้วยกำลังพลทหารประจำการที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่จำนวนมากกว่า 1,328,000 นาย ที่แม้ว่าจำนวนดังกล่าว ถูกจัดว่ามากเป็นอันดับ 3 ของโลก แต่อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีอันสุดล้ำสมัย ก็ส่งผลให้กองทัพสหรัฐฯ ถูกยกให้เป็นมหาอำนาจหมายเลขหนึ่งของโลก

โดยกองทัพสหรัฐฯ ที่ว่าก็กำลังปรับเปลี่ยนกันอย่างครั้งใหญ่

จากเดิมที่ที่เป็นไปเพื่อรับมือกับพิษภัยของขบวนการก่อการร้าย ก็เปลี่ยนไปเพื่อเตรียมการรับมือต่อภัยคุกคามจากรัสเซีย และจีน ที่นับวันจะเพิ่มอิทธิพลมากขึ้นทุกที

ก็ต้องถือว่า กองทัพสหรัฐฯ ก็ต้องถึงคราขยับปรับเปลี่ยนกันยกใหญ่อีกคำรบ ภายหลังจากได้ปรับเปลี่ยนกันแบบผ่าตัดใหญ่กันมาในระลอกที่แล้ว เมื่อช่วงต้นของคริสต์ทศวรรษที่ 2000 หลังเกิดเหตุวินาศกรรมตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ในมหานครนิวยอร์ก รัฐนิวยอร์ก และที่วอชิงตัน ในรัฐเวอร์จิเนีย เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 (พ.ศ. 2544) หรือที่เรียกกันจนติดปากว่า “เหตุการณ์ 11 กันยาฯ” บ้าง หรือ “ไนน์วันวัน” บ้าง ซึ่งเหตุวินาศกรรมดังกล่าว เกิดขึ้นด้วยฝีมือของพลพรรคของขบวนการก่อการร้ายอัลกออิดะฮ์ ที่มีนายอุสมะฮ์ บิน ลาเดน เป็นผู้นำ ส่งผลให้ทางกองทัพต้องปรับปรุงเปลี่ยนกองทัพขนานใหญ่เพื่อต่อกรกับขบวนการก่อการร้ายกลุ่มนี้ และกลุ่มอื่นๆ ที่เคลื่อนไหวทั้งในอิรัก และอัฟกานิสถาน จนนำเป็นสู่ทั้งสงครามอิรัก และสงครามอัฟกานิสถาน เพื่อปราบปรามขบวนก่อการร้ายข้างต้นในเวลาต่อมา เรียกว่า เป็น “สงครามต่อต้านการก่อการร้าย”

ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงปรับเปลี่ยนแผนการ และแนวนโยบายต่างๆ ของทางกองทัพสหรัฐฯ ครั้งกระนั้น ก็ถือเป็นการปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญเพื่อรับมือกับภัยก่อการร้ายที่สหรัฐฯ ถูกลูบคมถึงในบ้าน หรือมาตุภูมิของตนเอง ดังเช่น การก่อตั้ง “กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ” ของสหรัฐฯ เมื่อปี 2002 (พ.ศ. 2545) หรือ 1 ปีให้หลังจากการถูกกลุ่มก่อการร้ายก่อวินาศกรรมถึงในประเทศตนเอง เป็นต้น

โดยในการปรับเปลี่ยนเพื่อรับมือกับภัยก่อการร้ายดังกล่าว ก็เป็นการขยับครั้งใหญ่ หลังจากที่ก่อนหน้านั้น กองทัพสหรัฐฯ ได้ปรับเปลี่ยนมาครั้งหนึ่งแล้ว หลังการล่มสลายของอดีตสหภาพโซเวียตรัสเซีย เมื่อช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1990 ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนในการรับมือภัยคุกคามด้านความมั่นคง หลังหมดยุคสงครามเย็น ทั้งนี้ ในช่วงก่อหน้า กองทัพสหรัฐฯ ยังมียุทธศาสตร์ในการรับมือกับการเผชิญหน้ากับภัยคุกคามความมั่นคงที่มาจากกลุ่มประเทศของโลกสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ที่มีอดีตสหภาพโซเวียตรัสเซียเป็นผู้นำ แต่ในการรับมือกับภัยก่อการร้าย ก็จะเป็นภัยคุกคามความมั่นคงในอีกรูปแบบหนึ่ง

เมื่อภัยจากขบวนการก่อการร้ายเริ่มลดน้อยถอยลงไป เพราะถูกต่อต้าน ปราบปรามอย่างหนัก รวมไปถึงการสังหารระดับผู้นำ หรือแกนนำของขบวนการก่อการร้ายได้สำเร็จ เช่น การปลิดชีพนายอุสมะฮ์ บิน ลาดิน ผู้นำขบวนการก่อการร้ายอัลกออิดะฮ์ และการสังหารนายอาบูร์ บักร์ อัล-บักดาดี ผู้นำกลุ่มรัฐอิสลาม หรือไอเอส หรือไอซิส เป็นต้น

ทว่า เมื่อภัยคุกคามด้านความมั่นคงจากขบวนการก่อการร้ายต่างๆ จางไป ก็กลับมีภัยคุกคามด้านความมั่นคงใหม่ๆ เกิดขึ้นมาแทนที่

ตามการประเมินของ “กระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ” หรือ “เพนตากอน” ระบุว่า “รัสเซีย” และ “จีน” จะเป็นภัยคุกคามความมั่นคงใหม่ของสหรัฐฯ นับจากนี้ ซึ่งทาง “เพนตากอน” ได้เริ่มประเมินไว้เมื่อหลายปีก่อนแล้ว หรืออย่างน้อยก็ตั้งแต่ปี 2018 (พ.ศ. 2561) เป็นต้นมา ส่งผลให้ทางกองทัพสหรัฐฯ ต้องขยับปรับเปลี่ยนอย่างขนานใหญ่อีกคำรบ

โดยภัยคุกคามความมั่นคงจากรัสเซียนั้น ก็จะเป็นพื้นที่ในยุโรปตะวันออก ประชิดติดพรมแดนขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต ที่สหรัฐฯ เป็นผู้นำ นั่นคือ “สงครามกลางเมืองยูเครน” ที่รัสเซีย ก่อสงครามตัวแทนผ่านกลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกดินแดนภาคตะวันออกของยูเครน หรือที่เรียกว่า “สงครามดอนบาส”ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2014 (พ.ศ. 2557)

การบุกโจมตียูเครนโดยกองทัพรัสเซีย ในสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่เริ่มขึ้นเมื่อต้นปี 2022 (พ.ศ. 2565) (Photo : AFP)

ก่อนที่รัสเซีย ภายใต้การนำของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ได้เปิดฉากทำสงครามอย่างเต็มตัวกับยูเครน เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2022 (พ.ศ. 2565)เป็นต้นมา ถึง ณ ปัจจุบัน ไฟสงครามก็ยังโหมไหม้ และมีท่าทีที่จะลุกลามหนักขึ้นอีกด้วย ภายหลังจากมหาอำนาจตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ เปิดไฟเขียว คือ อนุญาตให้ยูเครนใช้อาวุธที่พวกเขาบริจาคให้ยูเครน สามารถใช้ถล่มโจมตีในดินแดนรัสเซีย สร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงให้แก่รัสเซีย จนต้องจับตาสถานการณ์กันอย่างไม่กะพริบ ณ ตั้งแต่บัดนี้ว่า การสู้รบจะเป็นไปอย่างไร ทั้งสองฝ่ายจะสัประยุทธ์กันไปมาเช่นไร รวมถึงรัสเซียจะตอบโต้ชาติมหาอำนาจตะวันตกอย่างไร

เมื่อกล่าวถึงกองทัพรัสเซีย ก็ต้องถือว่าเป็นกองทัพที่ยิ่งใหญ่กองทัพหนึ่ง สำหรับ โลกทหารในยุคปัจจุบันก็มีกำลังพลทหารประจำการมากเป็นอันดับ 4 ของโลก คือ กว่า 1.32 ล้านนาย น้อยกว่ากองทัพสหรัฐฯ ไม่กี่พันนายเท่านั้น

ขณะที่ ภัยคุกคามความมั่นคงจากจีน ก็เป็นผลพวงของการพัฒนากองทัพของจีนเอง ที่พัฒนาไปในด้านหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านเทคโนโลยีให้มีความทันสมัยของอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ เช่น การผลิตเรือรบบรรทุกเครื่องบินได้ การผลิตเครื่องบินรบแบบล่องหน ซึ่งยากต่อการตรวจจับได้ เป็นต้น นอกเหนือจากที่จีนมีกำลังพลทหารที่ประจำการเป็นจำนวนมากเป็นอันดับ 1 ของโลกแล้ว คือ กว่า 2 ล้านนาย

เรือบรรทุกเครื่องบินเหลียวหนิงของกองทัพเรือจีน (Photo : AFP)

นอกจากนี้ จากการที่จีนขยายอิทธิพลด้านต่างๆ ทั้งทางด้านการทหาร และเศรษฐกิจ และเทคโนโลยี เข้าไปในประเทศภูมิภาคต่างๆ แม้กระทั่งประเทศที่เคยเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ เองก็ตาม ก็ส่งผลให้ทางเพนตากอนต้องจัดอันดับให้จีนเป็นหนึ่งในภัยคุกคามด้านความมั่นคง พร้อมกันนั้นประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ คนปัจจุบัน ก็ได้อนุมัติให้ต้องปรับเปลี่ยนกองทัพสหรัฐฯ อย่างขนานใหญ่เพื่อตรียมการรับมือในอนาคต