วันที่ 2 ก.ย.67 ที่โรงแรมเอวาด้า อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (การปฐมนิเทศโครงการ) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จังหวัดตราด โดยมี นายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี รองผู้ว่าการ กทพ. และนายณัฐพงษ์ สงวนจิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เป็นประธานเปิด  การประชุมฯ เพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลโครงการ ได้แก่ ความเป็นมา วัตถุประสงค์ พื้นที่ศึกษา ขอบเขตการดำเนินงาน แผนดำเนินงาน และแนวคิดการพัฒนาของโครงการ เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งผู้แทนหน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ภาควิชาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน และผู้สนใจ ได้มีโอกาสร่วมรับรู้ข้อมูลโครงการตั้งแต่ต้น และได้มีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะสำหรับนำไปประกอบการดำเนินงานศึกษาต่อไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์สูงสุด ต่อการดำเนินงานศึกษาความเหมาะสมฯ 

นายชาญวิทย์ อาจสมิติ ผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า สืบเนื่องมาจากผลการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันจังหวัดตราด ครั้งที่ 2/2563 นั้น กระทรวงคมนาคม จึงได้มีข้อสั่งการ ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ประสานการดำเนินงานร่วมกับกรมทางหลวงชนบท  ในการดำเนินการสำรวจศึกษาและออกแบบสะพานข้ามเกาะช้าง เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านการคมนาคมของชาวเกาะช้างและนักท่องเที่ยว รวมทั้งยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชนอย่างมาก โดยเฉพาะการเข้ามารักษาพยาบาลในตัวเมืองตราดและการส่งลูกหลานเข้ามาเรียนหนังสือในตัวเมืองตราดได้สะดวกสบายมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับจังหวัดตราด เพิ่มศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่ สนับสนุน และอำนวยความสะดวกด้านพาณิชยกรรม และอุตสาหกรรมอีกด้วย ดังนั้น กทพ. จึงได้มอบหมายให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของประเทศ 6 บริษัทศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม 

โดยโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จังหวัดตราด เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้ประชาชนผู้ใช้ทางได้รับความสะดวก ปลอดภัย ในการเดินทางสู่เกาะช้างได้ รวมทั้งเป็นการเพิ่มศักยภาพด้านการคมนาคมและเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางไปยังเกาะช้าง และส่งเสริมการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น โดยมีระยะเวลาดำเนินการศึกษา 24 เดือน ซึ่งจะดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จ ในปี 2569 และ กทพ. จะดำเนินการในขั้นตอนการขออนุมัติโครงการต่อไป โดยจะมีการดำเนินงานด้านการประชาสัมพันธ์โครงการและการมีส่วนร่วมของประชาชนควบคู่ไปด้วย 

ขณะที่นายอาจผจญ กล่าวว่า การดำเนินการสำรวจศึกษาและออกแบบสะพานข้ามเกาะช้าง เพื่อเป็นการแก้ไข ปัญหาความเดือดร้อนด้านการคมนาคมของชาวเกาะช้างและนักท่องเที่ยว รวมทั้งยัง ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชนอย่างมาก โดยเฉพาะการเข้ามารักษาพยาบาลใน ตัวเมืองตราดและการส่งลูกหลานเข้ามาเรียนหนังสือในตัวเมืองตราดได้สะดวกสบายมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับจังหวัดตราด เพิ่มศักยภาพในการ พัฒนาพื้นที่ สนับสนุน และอำนวยความสะดวกด้านพาณิชยกรรม และอุตสาหกรรมอีกด้วย

ทั้งนี้ การทางพิเศษฯให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่จะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาโครงการหรืออาจได้รับผลกระทบก็ตาม ซึ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มดังกล่าว ควรมีโอกาสได้เข้าถึงการรับรู้ข้อมูลของโครงการ แนวคิดการดำเนินงาน แผนการดำเนินงาน ตลอดจนสามารถติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง สำหรับการประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 ในวันนี้ เป็น กิจกรรมที่ดำเนินการในระยะเริ่มต้นของการศึกษาของโครงการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ ของโครงการ ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับรู้ข้อมูลโครงการตั้งแต่ต้น และได้มีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะสำหรับนำไปประกอบการศึกษาต่อไป ซึ่งจะดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จ ในปี 2569 และการทางพิเศษฯ จะดำเนินการในขั้นตอนการขออนุมัติโครงการต่อไป

นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า จังหวัดตราด มีเป้าหมายในการพัฒนาจังหวัด 20  ปี (พ.ศ.๒๕๖๖ -๒๕๘๕) โดย มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยว การยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยว การ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับการท่องเที่ยว ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนาและบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว อีกทั้งมีเป้าหมายในการพัฒนาให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข ทักษะแรงงาน ลดความเหลื่อมล้ำ มีความมั่นคงปลอดภัย และพัฒนาเมืองให้มีความน่าอยู่จะเห็นได้ว่า หากมีการพัฒนาโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง ก็จะเป็นโครงการสำคัญ ที่มีผลต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาตามเป้าหมายของจังหวัด ซึ่งงบประมาณในการศึกษาใช้กว่า 70 ล้านบาท ไม่อยากจะให้เกิดความสูญเปล่าไป จังหวัดตราดโดยทุกภาคส่วน ยินดีให้ความร่วมมือและสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการร่วมกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เพื่อประโยชน์สูงสุดและเป็นไปตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน และขอเป็นกำลังใจให้สามารถดำเนินงานโครงการนี้ ได้ตามแผนงาน และบรรลุเป้าหมายของงานอย่างสมบูรณ์ 

โดยหลังจากรับฟังความคิดเห็นประชาชนที่เข้ามาแล้ว ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้กทพ.ดำเนินการก่อสร้างสะพานข้ามเกาะช้างโดยเร็วกว่าจะแล้วเสร็จ และเห็นว่าการก่อสร้างสะพานควรจะเอื้อประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจของเมืองตราดด้วย เนื่องจากที่ผ่านมานักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะไม่เข้าตัวเมืองตราดเพราะก่อนจะเข้าเมืองนักท่องเที่ยวจะเลี้ยวขวาเข้าไปยังอำเภอแหลมงอบโดยตรงส่งผลให้เศรษฐกิจของเมืองตราดและอำเภอแหลมงอบไม่ดี จึงสนับสนุนให้สร้างสะพานในจุดที่ 1 และ 2 รวมทั้งอย่าให้ราคาค่าผ่านทางแพงกว่าการเดินทางโดยเรือเฟอร์รี่ 

และการนำเสนอการศึกษาเบี้องต้นนั้น และการรับฟังเสียงจากที่ประชุมแล้วนายชาญวิทย์ กล่าวว่า สำหรับแนวเส้นทางเลือกของโครงการ จำนวน 4 แนวเส้นทางเลือก ดังนี้ คือฝั่งอำเภอแหลมงอบ ในตำบลคลองใหญ่ และตำบลแหลมงอบ แห่งละ 2 จุด รวม 4 จุด แชะในฝั่งอำเภอเกาะช้าง ในต.เกาะช้าง อ.เกาะช้าง 4 จุด ซึ่งมีระยะทางระหว่าง 5.9 กม.-9.6 กม. ซึ่งหากคิดราคาการก่อสร้างโดยประมาณจะมีราคา 1 กม.ละ 1,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การจะดำเนินการก่อสร้างในบริเวณใดนั้น จะมองในเรื่องผลที่ได้รับจากทางเศรษฐกิจ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันการทางพิเศษก็ไม่ได้มองถึงเรื่องระยะทางไกลหรือใกล้เป็นที่ตั้ง หากจุดใดที่เกิดประโยชน์มากกว่าก็จะดำเนินการจุดนั้น ทั้งนี้ หากราคาสูงอาจจะจำเป็นต้องของบประมาณจากภาครัฐเพิ่ม เนื่องจากกทพ.เป็นรัฐวิสาหกิจจะต้องมองในเรื่องธุรกิจและความคุ้มค่าของการก่อสร้างด้วย นอกจากนี้ เรื่องข้อเสนอของชาวตราดที่จะให้มีเส้นทางจักรยานและจักรยานยนต์ด้วยก็เป็นเรื่องที่ทำได้ แต่ในเรื่องจุดชมวิวกลางสะพานนั้นอาจจะมีปัญหาเรื่องอุบัติเหติหรือราคาค่าก่อสร้างสูงมากไป แต่หากจะมีจุดชมวิวที่หัวสะพานทั้งสองด้านน่าจะสามารถทำได้เช่นกัน ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องที่น่าสนใจและชาวตราดให้ข้อคิดเห็นที่หลากหลายและครอบคลุม อย่างไรก็ตาม การรับฟังความคิดเห็นยังมีอีกหลายครั้งทั้งระดับใหญ่และระดับกลุ่มย่อย ซี่ง 2 ปีที่เป็นระยะการศึกษาที่จะทำครบทุกมิติน่าจะส่งผลให้กทพ.พิจารณาก่อสร้างสะพานแห่งนี้ต่อไป แชะไม่แช่ ไม่ดองโครงการอย่างที่ชาวตราดกลัวจะเหมือนกับโครงการอื่นๆ

และในวันที่ 3 กันยายน 2567 ที่โรงแรมอัยยะปุระ อ.เกาะช้าง จ.ตราด บริษัทที่ปรึกษาโครงการทั้ง 6 บริษัท จะไปรับฟังความคิดเห็นของชาวอำเภอเกาะช้างด้วย