"รมว.ธรรมนัสฯ" ย้ำทุกหน่วยงาน กษ. เร่งช่วยเหลือประชาชน ฟื้นฟูหลังน้ำท่วม

วันที่ 2 ก.ย.67 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมสถานการณ์อุทกภัยและฟื้นฟูเกษตรกรหลังน้ำลด ปี 2567 โดยมี นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารจากหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมประชุมฯ ณ อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู  กรมชลประทาน สามเสน

จากสถานการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ภาคเหนือช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้หลายพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัย อาทิ เชียงราย พะเยา แพร่ สุโขทัย น่าน และเชียงใหม่บางส่วน ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนและเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ จึงได้สั่งการให้กรมชลประทานและหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมบูรณาการให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ พร้อมวางแผนฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยหลังน้ำลด  เพื่อเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบให้สามารถกลับมาเพาะปลูกได้โดยเร็วที่สุด  โดยได้สั่งการให้  หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมบูรณาการเร่งสำรวจความเสียหายของพื้นที่การเกษตร การประมง รวมทั้งปศุสัตว์ เพื่อขออนุมัติงบประมาณในการช่วยเยียวยาเกษตรกรตามข้อกำหนดอย่างเร่งด่วน โดยในส่วนของ กรมชลประทาน ให้พิจารณาดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ อาทิ การก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และพื้นที่แก้มลิง ที่สามารถช่วยแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งโดยไม่ส่งผลกระทบกับประชาชน เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาด้านน้ำได้อย่างเป็นรูปธรรม

ด้านกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำว่า ปัจจุบันปริมาณฝนในพื้นที่ตอนบนเริ่มลดลงแล้ว ส่งผลสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ตอนบนเริ่มคลี่คลาย โดยปริมาณน้ำจากทางตอนบนเริ่มไหลลงสู่พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาแล้ว

กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งระบบอย่างสอดคล้องกัน ด้วยการกักเก็บน้ำตอนบนไว้ในอ่างเก็บน้ำต่างๆให้ได้มากที่สุด ส่วนตอนกลางให้หน่วงน้ำโดยใช้เขื่อนเจ้าพระยาในการควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านในอัตราที่เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ ร่วมกับการบริหารจัดการน้ำทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยการใช้ระบบชลประทานในการรับน้ำและระบายน้ำระหว่างพื้นที่อย่างเชื่อมโยงกัน ในขณะเดียวก้นได้เร่งระบายน้ำทางตอนปลายออกสู่อ่าวไทยโดยเร็วที่สุดอีกด้วย

ปัจจุบัน (1 ก.ย.67) 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 14,314 ล้าน ลบ.ม. (58% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 10,530 ล้าน ลบ.ม.  ด้านสถานการณ์น้ำท่า ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์  มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,551 ลบ.ม./วินาที  แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากปริมาณน้ำทางตอนบนและฝนที่ตกในพื้นที่ ส่งผลต่อเนื่องให้มีปริมาณน้ำไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น  กรมชลประทาน ได้รับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาในปริมาณที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อไม่ให้ส่งกระทบต่อพื้นที่ที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยว  พร้อมควบคุมการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในอัตรา 1,399 ลบ.ม./วินาที  โดยจะพิจารณาทยอยปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันไดให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำทางตอนบนและฝนที่ตกในพื้นที่  เพื่อให้กระทบพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้น้อยที่สุด

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าในเดือนกันยายนนี้ จะมีปริมาณฝนตกเพิ่ม ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ซึ่งอาจส่งผลให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น จึงยังคงต้องเฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศ รวมทั้งสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์วางแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์  สามารถลดผลดกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด