วันที่ 2 ก.ย.2567 เวลา 11.45 น. ที่รัฐสภา น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่วุฒิสภาตีตกญัตติด่วนด้วยวาจาขอให้ตรวจสอบจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา ว่า ระหว่างที่ตนนำเสนอในที่ประชุม รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่งได้ปิดไมค์ ซึ่งอาจทำให้ประชาชนมีความรู้สึกว่าวุฒิสภาควรจะเป็นที่ที่มีการสื่อสารกัน ในเรื่องความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเป็นอารยะ แต่กลับมีการปิดไมค์ ไม่มีการรับฟัง ไม่มีการรับรองญัตติ และเปิดให้อภิปรายใดๆ โดยในวันนี้ตนก็ได้นำญัตติเดิมกลับมาเสนออีกครั้ง เพื่อยืนยันว่า ข้อบังคับที่ 40 (1) กำหนดให้ สว. สามารถเสนอญัตติด่วนได้ ซึ่งในวันนี้ได้รับอนุญาตให้นำเสนอ แต่ก็มีการประท้วง ในที่สุดก็มีการลงมติไม่เห็นชอบตามเสียงข้างมาก ที่จะมีการส่งเรื่องต่อให้กับศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อตรวจสอบเรื่องจริยธรรมกันเอง ซึ่งจะเป็นบททดสอบ เบื้องต้นที่ทำให้เห็นว่า การนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ที่เสียงข้างมากไม่เห็นด้วย ก็จะถูกตีตกด้วยการลงมติ

“วันนี้ก็มีการสั่งให้มีการลงมติอย่างรวดเร็ว เนื่องจากทราบว่า อย่างไรก็ตาม ญัตตินี้จะต้องตกไป และไม่สามารถนำกลับมาเสนอในสมัยการประชุมนี้ได้อีก ในรูปแบบการเสนอญัตติ แต่ยังสามารถหารือได้ ซึ่งก็มีข้อจำกัดในเรื่องเวลา อย่างน้อยการนำเสนอในวันนี้ ก็ทำให้ประชาชนเห็นว่าบทบาทของ สว. สามารถนำเสนอเรื่องราวปัญหาเข้าสภาได้

เมื่อถามว่า จะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไป เนื่องจากมีการเสนอให้นำเรื่องนี้ไปยื่นต่อองค์กรอิสระ หรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง น.ส.นันทนา กล่าวว่า บทบาทและขอบเขตอำนาจขององค์กรอิสระ ซึ่งเป็นเรื่องทางโครงสร้าง การหยิบยกนำพฤติกรรมของตุลาการบางคนขึ้นมา เป็นกรณีตัวอย่างว่า บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับอำนาจสูงสุด ในแง่ที่สามารถให้คุณให้โทษ ต่อนายกรัฐมนตรี ต่อพรรคการเมืองได้ ก็ควรจะต้องถูกตรวจสอบด้วย แต่ทั้งนี้ด้วยโครงสร้างจะต้องมีการปรับแก้ และยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะขอบเขตอำนาจขององค์กรอิสระนับวันจะกว้างขึ้น และขยายออกไป แต่อย่างไรก็ตาม คงไม่มีการไปดำเนินการเอง หรือร่วมกันเข้าชื่อในบทบาทของ สว.