วันที่ 2 ก.ย.67 ที่ศาลาว่าการกทม. นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตยานนาวา ในฐานะรองประธานคณะกรรมการวิสามัญฯ พิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ของหน่วยงานกรุงเทพมหานคร และรองประธานกรรมการ คนที่ 1 คณะกรรมการรักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยความคืบหน้าการติดตามการจัดเช่ารถขยะไฟฟ้าของกรุงเทพมหานครว่า ปัจจุบันมีการตรวจสอบและให้คำแนะนำจากหลายภาคส่วน ทั้งจากผู้ที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้อง และผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับการเปลี่ยนมาใช้รถขยะไฟฟ้า นำไปสู่ความคิดเห็นและการตั้งข้อสังเกตหลากหลาย ตนในฐานะผู้ติดตามเรื่องนี้โดยตรงอย่างใกล้ชิด พบว่า ประเด็นแรก การตั้งข้อสังเกตว่าการใช้รถระบบไฟฟ้าจะทำให้ กทม.เสียงบประมาณมากขึ้นนั้นไม่เป็นความจริง เนื่องจากเฉพาะค่าตัวรถ กทม.ประหยัดงบประมาณจากเดิมไปแล้วประมาณร้อยละ 20 หากรวมค่าเชื้อเพลิงด้วยจะประหยัดอีกประมาณร้อยละ 30-40 ซึ่งถูกต้องตามกระบวนการทำงบประมาณ เพราะใช้งบประมาณไม่เกินกำหนดที่ตั้งไว้

 

ประเด็นต่อมา การตั้งข้อสังเกตว่าการแบ่งซื้อแบ่งจ้างแยกสัญญาจัดเช่าตามขนาดรถและช่วงเวลาที่กำลังจะหมดสัญญาตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.-ธ.ค.67 ไม่สามารถทำได้นั้น ไม่เป็นความจริง เพราะเรื่องนี้มีการแบ่งซื้อแบ่งจ้างเป็น 4 สัญญามานานแล้ว เนื่องจากรถมีขนาดความจุต่างกัน ลักษณะรถแตกต่างกัน รถแต่ละแบบมีกำหนดสัญญาจ้างต่างกัน จึงต้องแยกสัญญาจ้างเพื่อให้มีรถใช้เวียนรอบครบตามกำหนด

 

ประเด็นต่อมา การเปลี่ยนไปใช้รถระบบไฟฟ้า ยึดข้อบัญญัติโครงการเป็นหลัก เช่น ระบุเช่ารถเก็บขนขยะมูลฝอย แต่คุณลักษณะรายละเอียดตัวรถเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร กทม.ที่จะเทียบเปลี่ยนไปใช้ระบบไฟฟ้าหรือน้ำมันก็เป็นสิทธิ์ที่ทำได้ เพราะไม่ขัดต่อข้อบัญญัติและวงเงินงบประมาณที่กำหนด

 

ประเด็นต่อมา การชี้ให้ กทม.กำหนดคุณลักษณะตัวรถขยะไฟฟ้าให้ชัดเจนในการจัดเช่า โดยเฉพาะขนาดส่วนประกอบต่าง ๆ ของตัวรถนั้น ไม่ใช่สาระสำคัญ เนื่องจาก กทม.เป็นผู้จ้างเหมา หากผู้รับจ้างใช้รถไม่มีประสิทธิภาพ กทม.ก็สามารถปรับได้ตามกำหนดสัญญา เช่น กรณีเกิดปัญหา ผู้รับจ้างเป็นผู้ซ่อมและดูแลความพร้อมต่าง ๆ ทั้งหมด ซึ่งเรื่องคุณสมบัติของตัวรถไม่ใช่ข้อกังวลที่จะต้องมาตั้งข้อสังเกต เพราะผู้รับจ้างเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมดอยู่แล้ว เพื่อให้งานเก็บขนขยะในกรุงเทพมหานครดำเนินไปอย่างราบรื่น ข้อสำคัญคือ กทม.ควรกำหนดคุณลักษณะเพื่อให้โอกาสผู้เข้าประกวดราคาอย่างเปิดกว้าง ไม่มีลักษณะปิดกั้นหรือเอื้อประโยชน์ใคร

 

ส่วนกรณีการจัดเช่ารถขยะไฟฟ้าระยะเวลา 270 วัน จากการติดตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำข้อกำหนดในการนำรถมาใช้ทดแทนรถที่กำลังทยอยหมดสัญญาเดิม ซึ่งยังไม่ได้สรุปผล ตนได้แนะนำว่า กทม.อาจระบุการเช่ารถใหม่หรือรถอายุไม่เกิน 1 ปี เพื่อใช้งาน 270 วัน แทนการระบุเช่ารถอายุไม่เกิน 5 หรือ 7 ปี และในระหว่างนั้น หาก กทม.ร่างสัญญาจัดจ้างโครงการระยะ 5 ปีแล้วเสร็จ ก็เปิดโอกาสให้ผู้ที่เคยประกวดราคาโครงการจ้าง 270 วัน สามารถร่วมประกวดราคาโครงการระยะ 5 ปีได้ ซึ่ง กทม.มีโอกาสลดต้นทุนและได้ใช้รถใหม่ เพราะรถจากโครงการ 270 วัน ก็มีอายุใช้งานประมาณ 1 ปีเท่านั้น

 

"การกำหนดเช่ารถอายุไม่เกิน 5 ปีหรือ 7 ปีในโครงการ 270 วัน อาจเอื้อรถเก่า ซึ่งหากกำหนดอย่างนั้นรถขยะดีเซล 5 ปีที่คืนทุนไปแล้วก็จะมาประมูลโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพราะเขาเอาต้นทุนคิดไปแล้ว 5 ปี แล้วหารด้วยรอบที่เขาวิ่งได้กำไรไปแล้ว แล้วก็มาประมูล 270 วันโดยไม่มีต้นทุนสักบาท แบบนี้เข้าข่ายเอื้อคนเก่าหรือไม่ แล้วถามว่าไม่มีต้นทุนสักบาทจะไปสู้อะไรกับรถไฟฟ้าที่ต้องเอารถใหม่มา หรือคนที่ต้องไปซื้อรถไฟฟ้ามือสอง หรือคนที่ต้องเอารถเก่ามาวิ่ง ก็สู้ไม่ได้ เพราะคนเก่าไม่มีต้นทุน ถ้าเป็นแบบนี้อาจเสี่ยงโดนร้อง ป.ป.ช. เรื่องเอื้อคนเก่าหรือไม่"

 

นายพุทธิพัชร์ กล่าวว่า เหตุผลที่ไม่แนะนำให้ใช้รถเก่าอายุไม่เกิน 5 ปีหรือ 7 ปีนั้น เพราะต้องการรถใหม่ที่มีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐาน เสียงไม่ดัง ปัญหาน้อย ที่สำคัญคือลดมลพิษ และเปิดโอกาสให้ผู้ประมูลรายใหม่ได้เข้าร่วม ส่วนผู้ประมูลรายเก่าก็สามารถเข้าร่วมได้ ไม่ปิดกั้น แต่หากกำหนดให้เป็นรถอายุไม่เกิน 5 ปีหรือ 7 ปีเข้าประกวดราคา อาจถูกมองว่าเปิดทางให้ผู้ประมูลรายเก่า และปิดทางผู้ประมูลรายใหม่

 

โดยโครงการเช่า 270 วัน เห็นควรให้ กทม.เปลี่ยนเป็นรถระบบไฟฟ้า แต่หากต้องใช้ระบบน้ำมันไปก่อน ควรระบุรายละเอียดสัญญาจัดเช่ารถขยะไฟฟ้าระยะ 5 ปีให้ชัดเจน และเปิดประกาศในระหว่าง 270 วัน ซึ่งหากได้ผู้รับจ้างระยะ 5 ปีแล้ว อาจยกเลิกสัญญาโครงการ 270 วัน โดยไม่ต้องรอให้ครบกำหนด เพื่อเช่ารถโครงการ 5 ปีทดแทนต่อเนื่อง โครงการเช่ารถขยะ 270 วัน ถึงแม้ กทม.จะใช้งบกลางดำเนินการตามอำนาจผู้ว่าฯ กทม.ไปแล้ว แต่ตนจะติดตามอย่างละเอียดว่ามีการเอื้อประโยชน์แก่ใครหรือไม่ ตามหน้าที่ของตน