อนุทินสั่งกำชับ ปภ.- ท้องถิ่น ป้องกันอุทกภัยในหลายภูมิภาค ขอบคุณผู้นำชุมชนที่ทุ่มเทเสียสละ กรมอุตุฯเผยสถานการณ์ฝนถล่มหลายพื้นที่ยังมีความเสี่ยงจมบาดาล เตือนให้เฝ้าระวัง การเดินเรือ โล่งใจพายุโซนร้อนชานชาน แผลงฤทธิ์ยังไม่ส่งผลกระทบไทย
เมื่อวันที่ 1 ก.ย.67 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังการลงoพื้นที่ติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ จ. สุโขทัย ชัยนาท นครสวรรค์ ว่า กระทรวงมหาดไทยได้เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด มีรายงานข้อมูลต่างๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง การลงพื้นที่เมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา ตนได้กำชับแผนการทำงานในพื้นที่เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน ส่วนตัวได้เสนอในที่ประชุมให้ลดขั้นตอนการขอการสนับสนุนจากส่วนกลาง ในงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งแน่นอนว่า สถานการณ์น้ำท่วม เราต้องพึ่งพาฝ่ายท้องถิ่นและกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เพราะอยู่ในพื้นที่ หากให้ส่วนกลางช่วยเหลือ ให้รวบรวมข้อมูลเข้ามาเลย ยิ่งทำได้เร็วเท่าไร การช่วยเหลือยิ่งไปเร็วเท่านั้นประชาชนก็มีความสุขมากขึ้น มีความทุกข์น้อยลง
สถานการณ์น้ำที่เกิดขึ้นมีทั้งน้ำเหนือและน้ำฝนหลายพื้นที่น้ำกำลังจะมา ประชาชนต้องยกของขึ้นที่สูง บ้างสร้างกำแพงกั้นน้ำ เรามีกำลัง มีเครื่องมือ ก็ต้องไปช่วย ถ้ามีการร้องขอ ยิ่งห้ามรอช้า เมื่อป้องกันสุดกำลัง แต่น้ำก็รุกเข้ามา ได้กำชับให้ทั้งส่วนท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่ ปภ. ต้องเข้าถึงประชาชน ส่งข้าว ส่งน้ำ ให้ประชาชนเข้าใจว่าภาครัฐไม่ได้ทอดทิ้ง ใครเจ็บป่วยต้องประสาน จนได้รักษาพยาบาล
นายอนุทิน กล่าวว่า ดึกดื่น เที่ยงคืน ตนเห็น อส. เห็นเจ้าหน้าที่หลายท่าน จากกรมกองของกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานอื่นๆ ไปช่วยประชาชน ต้องขอบคุณทุกท่าน เป็นอย่างมาก บางครั้งงานของเรามันหยุดพักไม่ได้ เรามีชีวิตคนที่รอคอยการช่วยเหลือ นี่คือความเหนื่อยหนัก แต่ก็คือคุณค่าของการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งหลายจังหวัดน้ำก็ไหลผ่านไปแล้ว ทิ้งความเสียหายไว้มากพอสมควร ตรงนี้ ขอให้ไปช่วยประชาชน ฟื้นฟูพื้นที่ให้กลับคืนสู่สภาวะปกติ
สำหรับที่ผ่านมา ทุกท่านต่างทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถ มีการสละทรัพย์ส่วนตัวลงไปด้วยเช่น ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำท้องถิ่นบางคน ได้นำโดรนการเกษตรไปใช้ส่งของยังชีพ มีความเสี่ยงที่จะพังเสียหาย แต่ก็แลกมาด้วยข้าวปลาอาหารที่ถึงชาวบ้าน ช่วยให้ประทังชีวิตได้ อันนั้นก็น่าสรรเสริญ งานของเรา กระทรวงมหาดไทย มันชัดเจนอยู่แล้วว่าต้องบำบัดทุกข์ บำรุงสุข การทำงานของท่านสร้างรอยยิ้ม สร้างความสุข ให้กับประชาชน และสร้างศรัทธาจากประชาชน ให้เกิดแก่ท่านทุกคน
วันเดียวกัน ที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง ในเขตเทศบาลเมืองนครพนม นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม พร้อมด้วย นายเกียรติศักดิ์ พงษ์พนัศ นักเดินเรือชำนาญการพิเศษ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคนครพนม นายพัลลภ กลิ่นดี เจ้าพนักงานตรวจท่าปฏิบัติการ และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบดูแลความปลอดภัยทางน้ำ ในการเดินเรือข้ามฟากระหว่างไทยลาวตลอดลำน้ำโขง ในพื้นที่ จ.นครพนม รวมถึงพื้นที่จังหวัดแนวริมฝั่งแม่น้ำโขง เนื่องจากในช่วงนี้ ระดับน้ำโขงสูง ล่าสุดระดับประมาณ 10.80 เมตร ห่างจากจุดวิกฤติล้นตลิ่งประมาณ 1 เมตร คือที่ 13 เมตร ทำให้ส่งผลกระทบในพื้นที่ลำน้ำสาขาสายหลัก ลำน้ำสงคราม เริ่มเอ่อล้น เนื่องจากไหลระบายลงน้ำโขงช้า จึงต้องมีการเฝ้าระวังดูแลความปลอดภัยทางน้ำ คาดว่าหากไม่มีฝนตกลงมาซ้ำอีกในช่วง ประมาณ 1-2 สัปดาห์ จะเข้าสู่ภาวะปกติ
ทั้งนี้ นางมนพร ได้กำชับมอบนโยบายให้หน่วยงามกรมเจ้าท่าตรวจสอบดูแลประเมินสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อติดตามวางมาตรการดูแลความปลอดภัยในการเดินเรือ เนื่องจากมีประชาชน นักท่องเที่ยว ยังใช้บริการเรือโดยสารข้ามฟากระหว่าง อ.เมืองนครพนม กับแขวงคำม่วน สปป.ลาว รวมถึงเรือบรรทุกสินค้าระหว่างไทยลาว พร้อมกำชับผู้ประกอบการเดินเรือให้ระมัดระวังในการเดินเรือในช่วงน้ำไหลเชี่ยว จะต้องมีอุปกรณ์ชูชีพทุกลำ นอกจากนี้จะต้องจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ ดูแลอำนวยความสะดวก พี่น้องประชาชน ทุกด้าน
ด้าน กรมอุตินิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
อนึ่ง ในช่วงวันที่ 3-7 ก.ย.67 ร่องมรสุมกำลังปานกลางจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทยเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ ภาคตะวันออก และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามัน มีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
พายุโซนร้อน ชานชาน SHANSHAN ปกคลุมตอนใต้ของคันไซ ประเทศญี่ปุ่น ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทาง โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย
สำหรับสถานการณ์อุทกภัย ที่จ.แม่ฮ่องสอน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ฝนที่ตกหนักตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา เช้าวันเดียวกันนี้ มีรายงานด่วนแจ้งว่าน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและเส้นทางคมนาคม บ้านห้วยทรายขาว บ้านห้วยผึ้ง และบ้านนาประหลาดจาด ต.ห้วยผา อ.เมืองแม่ฮ่องสอน ส่งผลให้รถทุกชนิดไม่สามารถสัญจรผ่านได้ เนื่องจากมีทั้งเศษไม้ หิน และดินโคลน ไหลกองรวมกันบนถนนจำนวนมาก
โดยที่เดือดร้อนหนักก็คือเส้นทางนี้เป็นเส้นทางเดียวที่จะขนส่งสินค้าเข้าออกจุดผ่อนปรนการค้าชายแดนบ้านห้วยผึ้ง ที่ก่อนหน้านี้ก็เจอปัญหาดินไหลปิดทับเส้นทางแรมเดือน เพิ่งจะเปิดเส้นทางได้ไม่กี่วันที่ผ่านมา แต่ต้องมาเจอน้ำป่าไหลหลากมาปิดเส้นทางซ้ำอีก นอกจากนี้ยังมีบ้านเรือน สะพานและที่นาของชาวบ้านที่พังเสียหาย ทางผู้นำหมู่บ้านและฝ่ายปกครองเร่งออกสำรวจความเสียหายและเตรียมเข้าให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
ขณะเดียวกันปริมาณฝนที่ตกห้วง 2-3 วันนี้ สร้างผลกระทบกับพื้นที่อ.ปางมะผ้าเช่นกัน โดยเฉพาะเขตต.นาปู่ป้อม ต่อเนื่องไปยังเส้นทางเลียบแนวชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เจอทั้งปัญหาเสาไฟฟ้าล้ม ระบบติดต่อสื่อสารล่มและเส้นทางเข้าออกปิดตาย ระบบน้ำประปาภูเขาเสียหายเกือบทั้งหมดด้วย ล่าสุดองค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอนร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อยู่ระหว่างระดมเครื่องมือเครื่องจักรเข้าแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย