นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 23 – 29 สิงหาคม 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 844,159 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 295 ข้อความ
สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 283 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 12 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 214 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 123 เรื่อง โดยในจำนวนนี้มีข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนให้ความสนใจมากที่สุด จำนวน 10 อันดับ ได้แก่
อันดับที่ 1 : เรื่อง กรุงไทยปล่อยสินเชื่อผ่านบัญชี TikTok
อันดับที่ 2 : เรื่อง ลงทะเบียนทำใบขับขี่ออนไลน์ ไม่ต้องไปขนส่ง ผ่านเพจเฟซบุ๊กทำใบขับขี่ออนไลน์ จาก DLT
อันดับที่ 3 : เรื่อง ธ.ออมสินปล่อยสินเชื่ออาชีพอิสระ ดอกเบี้ย 1% ผ่อนนาน 8 ปี
อันดับที่ 4 : เรื่อง ปปง. เปิดให้ผู้เสียหายจากอาชญากรรมออนไลน์ลงทะเบียนรับทรัพย์สินคืน ผ่านเพจ Public assistance center
อันดับที่ 5 : เรื่อง เพจเฟซบุ๊กกรมการปกครอง เปิดรับแจ้งความออนไลน์
อันดับที่ 6 : เรื่อง ธนาคารออมสิน ปล่อยเงินกู้ถูกกฎหมาย 300,000 บาท ผ่านเพจสินเชื่อ ออมสิน
อันดับที่ 7 : เรื่อง ลงทุนเปิดพอร์ตระยะสั้นผ่านไลน์โดย ก.ล.ต.
อันดับที่ 8 : เรื่อง กรุงไทยปล่อยสินเชื่อรวบหนี้ สำหรับผู้มีรายได้ 9,000 บาทขึ้นไป วงเงินสูงสุด 2 ล้านบาทต่อคน
อันดับที่ 9 : เรื่อง เพจ Power of Energy แนะนำการลงทุนเทรดทองคำ โดยมีการรับรองจาก ก.ล.ต.
อันดับที่ 10 : เรื่อง กระทรวงยุติธรรมเปิดเพจเฟซบุ๊ก รับแจ้งเรื่องคดีออนไลน์ต่างๆและลงทะเบียนยืนรับทรัพย์สินคืน
"เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่เกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์ จาก 10 อันดับ ข้างต้น ยังคงพบว่า ส่วนใหญ่เป็นข่าวการทำธุรกรรมที่มีการแอบอ้างถึงหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะอันดับ 1 ที่แอบอ้างว่า “กรุงไทยปล่อยสินเชื่อผ่านบัญชี TikTok” นั้น ทั้งนี้ กระทรวง ดีอี ได้ประสานงานร่วมกับ ธนาคารกรุงไทย เพื่อตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว พบว่า เป็นข้อมูลปลอม โดยพบว่ามีการปล่อยสินเชื่อผ่านบัญชี TikTok @ktbbank.11 ,@461yswho01,@krungafewr7,@krungpfl7ot ซึ่งธนาคารกรุงไทยไม่มีการปล่อยสินเชื่อใด ๆ ผ่านบัญชี TikTok ทั้ง 4 บัญชี และทั้ง 4 บัญชีนั้นก็ไม่ใช่บัญชี TikTok ของธนาคารกรุงไทยแต่อย่างใด"
อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน ส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด โดยสามารถสอบถามผ่าน สายด่วน 1111 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมกันนี้ขอให้ประชาชน ยึด "หลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน" และหากประชาชนโดนหลอกออนไลน์ โทรแจ้งดำเนินการ ระงับ อายัดบัญชี AOC 1441