อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยกำลังอยู่ในช่วงเวลาแห่งการเติบโตและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีศักยภาพในการสร้างรายได้และผลักดันเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมหาศาล แต่การจะก้าวไปสู่ตลาดสากลและสามารถแข่งขันกับนานาชาติได้นั้น ต้องอาศัยกลยุทธ์และการดำเนินงานที่ครอบคลุมรอบด้าน ซึ่งปัจจุบันภาพยนตร์ ซีรีส์ แอนิเมชันและดนตรีไทย หรือที่เรียกรวมๆว่า ‘คอนเทนต์ไทย’ กำลังได้รับความสนใจทั้งจากในประเทศและต่างประเทศมากยิ่งขึ้น ความสนใจดังกล่าวเห็นได้จากการที่ภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์ไทย เช่น สืบสันดาน, Club Friday The Series, นับสิบจะจูบ, แปลรักฉันด้วยใจเธอ, ฉลาดเกมส์โกงเดอะซีรีส์ ฯลฯ ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในสตรีมมิงแพลตฟอร์ม ทั้ง Netflix, VIU, iQiYi, WeTV ฯลฯ รวมถึงภาพยนตร์ หลานม่า ที่กวาดรายได้ทั่วเอเชียกว่า 1,000 ล้านบาท จึงทำให้ผู้บริโภคจากทั่วโลกสามารถรับชมคอนเทนต์ที่หลากหลายจากประเทศไทย และก่อให้เกิดปรากฏการณ์การขับเคลื่อนคลื่นวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทั้งจากคอนเทนต์ การท่องเที่ยว อาหาร หรือแม้กระทั่งความเป็น Thainess ที่หลายคนคุ้นเคย

ในขณะที่ศิลปินคลื่นลูกใหม่ของวงการดนตรีจากประเทศไทย ที่มาพร้อมแนวเพลงหลากหลาย ความสามารถระดับอินเตอร์ ออร่าจากบุคลิก ภาพลักษณ์ และสไตล์ รวมถึงการแสดงบนเวทีที่มีคุณภาพ ก็พาเหรดมาเสิร์ฟความบันเทิงให้แฟนเพลงทั้งชาวไทยและต่างชาติ จนได้รับความสนใจจากทั้งในประเทศและต่างประเทศมากขึ้น จุดกระแส Thai Music Wave ให้ไปไกลกว่าที่เคย

ขณะที่อีกหนึ่งจุดเด่นของไทย อาจเป็น ‘ความหลากหลายทางดนตรีและสไตล์ที่โดดเด่น’ โดยเฉพาะในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ที่วงการดนตรีของไทยได้สร้างสรรค์งานเพลงที่มีความหลากหลายยิ่งขึ้น และไม่ได้จำกัด เฉพาะดนตรีป๊อปที่เป็นที่นิยมเท่านั้น แต่รวมทั้งร็อก ฮิปฮอป อาร์แอนด์บี แดนซ์ อินดี้ ซิตี้ป๊อป เมทัล ลูกทุ่ง หมอลำ ฯลฯ ทั้งยังมีการคอลแลบของศิลปินต่างแนวเพลงและช่วงวัย จนเกิดเป็นงานเพลงที่สร้างประสบการณ์ใหม่ๆได้อย่างน่าสนใจและมีมิติยิ่งขึ้น ทั้งยังผสานความเป็นไทยแบบร่วมสมัยและไทยดั้งเดิมไว้ได้อย่างลงตัว ขณะเดียวกัน ภาพลักษณ์ที่ชัดเจนของศิลปินก็พร้อมจะสร้างแรงดึงดูดให้แก่บรรดาแฟนคลับต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ

กระแส Thai Music Wave ที่ค่อยๆก่อตัวขึ้นท่ามกลางคลื่นความบันเทิงของ K-Pop ที่ยังคงโหมกระหน่ำนำมาสู่การที่ศิลปินไทยหลายรายมีโอกาสเดินสายขึ้นแสดงบนเวทีต่าง ๆ หรือทัวร์คอนเสิร์ตในระดับเอเชียและระดับโลก เช่น บิวกิ้น-พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล, 4EVE, เจฟ ซาเตอร์, HYBS, KIKI, Phum Viphurit, The Paradise Bangkok Molam International Band ฯลฯ จนศิลปินไทยได้รับการยอมรับและเป็นที่รู้จักในระดับอินเตอร์มากขึ้น อย่างไรก็ดีอุตสาหกรรมด้านคอนเทนต์และดนตรีเป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง มีความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตามพฤติกรรมของผู้บริโภคและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ดังนั้นการยกระดับทักษะ ผลิตผลงานด้วยการประยุกต์ใช้ความคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะการพัฒนาคอนเทนต์ จึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้อุตสาหกรรมของไทยสามารถแข่งขันในตลาดนี้ได้

CEA เปิด 2 โครงการใหญ่ ดันอุตสาหกรรมดนตรีและคอนเทนต์ไทย ปั้นผลงานคุณภาพให้ขายได้ ตอบโจทย์ตลาดอินเตอร์

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA หน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจของประเทศไทย เดินหน้ายกระดับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยสู่มาตรฐานสากล ด้วยการจัดทำ 2 โครงการใหญ่ในปี 2567 ได้แก่ Music Exchange และ Content Lab 2024 ที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ โดยโครงการ Music Exchange นั้น CEA ร่วมกับคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านดนตรี มุ่งสร้างโอกาสให้ศิลปินไทยมากความสามารถจากหลากหลายสไตล์ดนตรี ได้แสดงศักยภาพในเทศกาลดนตรีระดับนานาชาติ เพื่อขยายฐานตลาดแฟนเพลงในต่างประเทศ สร้างโอกาสและขยายการส่งออกผลงานของศิลปิน รวมทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทย 

ขณะที่โครงการ Content Lab 2024 เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการ Content Lab 2023 โดยมุ่งพัฒนาทักษะของบุคลากรในแวดวงภาพยนตร์ ซีรีส์ และแอนิเมชัน พร้อมเปิดโอกาสการเชื่อมต่อธุรกิจในเชิงพาณิชย์ ผ่านกิจกรรมภายใต้โครงการเพื่อบ่มเพาะทักษะ เสริมสร้างองค์ความรู้ และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อพัฒนาผลงานให้ได้มาตรฐานในเชิงพาณิชย์ ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศอย่างเป็นระบบ โดยโครงการทั้งสองนี้สะท้อนความมุ่งมั่นของ CEA ในการส่งเสริมและผลักดันอุตสาหกรรมดนตรีและคอนเทนต์ไทยให้เติบโตในระดับสากล อันจะยังประโยชน์และรายได้ให้แก่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยอย่างมีนัยสำคัญได้ต่อไป

ดร.ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า อุตสาหกรรม ‘คอนเทนต์และสื่อสร้างสรรค์’ ไทยกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็นด้านภาพยนตร์ ซีรีส์ แอนิเมชัน และดนตรี โดยผลงานเหล่านี้ได้รับความนิยมและความสนใจจากทั้งในประเทศและตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เห็นได้จากการที่ภาพยนตร์หรือซีรีส์ไทยหลายเรื่องได้รับการฉายบนแพลตฟอร์มสตรีมมิงระดับโลก ขณะที่วงการดนตรีของไทยก็เดินหน้าสร้างชื่อในเวทีนานาชาติ แสดงให้เห็นศักยภาพและโอกาสในการเติบโตของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยในตลาดระดับโลก ดังนั้น CEA ในฐานะองค์กรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ ยังคงเดินหน้าเป็นฟันเฟืองหลักที่สนับสนุนนักสร้างสรรค์ระดับมืออาชีพ เพื่อยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมในกลุ่ม ‘คอนเทนต์และสื่อสร้างสรรค์’ (Creative Content & Media) ได้แก่ ภาพยนตร์ ซีรีส์ และแอนิเมชัน และอุตสาหกรรมดนตรี พร้อมผลักดันให้เป็น ‘อุตสาหกรรมเรือธง’ (Flagship) ที่จะช่วยสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ โดยในปี 2565 มูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมในกลุ่ม ‘คอนเทนต์และสื่อสร้างสรรค์’ และ ‘ดนตรี’ มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 1.08 แสนล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตจากปี 2564 ถึง 12% และคาดการณ์ว่าในปี 2567 จะมีมูลค่าสูงขึ้นอีกโดยเฉพาะจากการเติบโตของสตรีมมิงแพลตฟอร์มต่างๆ

สำหรับโครงการ Music Exchange เป็นหนึ่งในความมุ่งมั่นตั้งใจของ CEA ที่ร่วมกับคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านดนตรี ในการผลักดันศิลปินไทยสู่เวทีระดับนานาชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการสร้างกระแส ‘Thai Music Wave’ ให้เกิดแรงกระเพื่อมเข้าสู่ตลาดกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง โดยนำเสนอศิลปินทั้งแบบศิลปินเดี่ยวและแบบวง ไม่จำกัดแนวดนตรี เช่น ป๊อป ร็อก ฮิปฮอป ไทยร่วมสมัย ฯลฯ จำนวน 80 ศิลปิน/วง ในเทศกาลดนตรีระดับนานาชาติ พร้อมทั้งดึงดูด 75 ผู้จัดเทศกาลดนตรีระดับนานาชาติ ให้เข้ามาศึกษาผลงานของศิลปินไทย สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาลไทย โดยโครงการ Music Exchange ประกอบด้วย 2 กิจกรรม ได้แก่

-กิจกรรม PUSH ที่มุ่งเน้นการผลักดันและส่งเสริมศิลปินที่มีศักยภาพเข้าสู่เทศกาลดนตรีระดับนานาชาติ โดยจะคัดเลือกและสนับสนุนให้ศิลปินไทยได้ไปแสดงผลงานในเทศกาลดนตรีที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ เช่น One Music Camp 2024 ประเทศญี่ปุ่น, SXSW Sydney 2024 ประเทศออสเตรเลีย, AXEAN Festival 2024 ประเทศอินโดนีเซีย, Zandari Festa ประเทศเกาหลีใต้, Taipei City Idol Expo ไต้หวัน, Outbreak Fest ประเทศอังกฤษ ฯลฯ

-กิจกรรม PULL ที่มุ่งเน้นการดึงดูดผู้จัด ผู้คัดเลือกศิลปิน และเอเจนซี่จากเทศกาลดนตรีระดับนานาชาติ รวมถึงบุคลากรสำคัญในอุตสาหกรรมดนตรีโลก เช่น กลุ่มภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) สหภาพยุโรป (EU) และอเมริกา ให้เข้ามาเยี่ยมชมเทศกาลดนตรีของไทย โดยจะมีการจัดกิจกรรม Business Matching and Networking ระหว่างผู้จัดงานเทศกาลดนตรีในต่างประเทศกับผู้จัดงานของไทย เพื่อสร้างโอกาสและเครือข่ายทางธุรกิจร่วมกัน

ขณะที่โครงการ Content Lab 2024 สร้างสรรค์คอนเทนต์ไทย ดันไกลสู่สากล เป็นการต่อยอดความสำเร็จของโครงการ Content Lab 2023 จากปี 2566 ที่ผ่านมา โดยได้ขยายขอบเขตการพัฒนาทักษะนักสร้างสรรค์ให้กว้างขึ้น เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซีรีส์ และแอนิเมชันของไทยสู่มาตรฐานสากล ผ่าน 5 โครงการย่อย ประกอบด้วย

-Content Lab: Newcomers โครงการพัฒนาบุคลากรคนทำหนังรุ่นใหม่ทั่วประเทศ โดยเน้นการพัฒนาโปรเจ็กต์เบื้องต้นกับผู้เชี่ยวชาญของวงการ ให้พร้อมสำหรับการผลิตคอนเทนต์ในการเข้าสู่อุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย

-Content Lab: Mid-Career โครงการพัฒนาโปรเจ็กต์ภาพยนตร์และซีรีส์ สำหรับบุคลากรวิชาชีพระดับกลางในสายโปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ และนักเขียนบท โดยมุ่งเน้นการยกระดับทักษะแบบเจาะลึกผ่านคลาสเรียนต่างๆ ตั้งแต่การเป็นโปรดิวเซอร์มืออาชีพ การเขียนบทให้มีชั้นเชิงและตอบรับกับเทรนด์ การสร้างตัวละครให้น่าสนใจ ฯลฯ เพื่อการผลิตผลงานที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และตอบโจทย์ตลาดสากลยิ่งขึ้น

-Content Lab: Animation โครงการพัฒนาโปรเจ็กต์เฉพาะด้านแอนิเมชันที่ CEA ร่วมมือกับสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชันและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย (TACGA) เพื่อเชื่อมต่อและสนับสนุนนักสร้างสรรค์ให้นำเสนอผลงานในต่างประเทศได้โดยตรง โดยมุ่งเน้นการสร้างผลงานทรัพย์สินทางปัญญาและโอกาสในการพัฒนาผลงานแอนิเมชันเพื่อผลิตเชิงพาณิชย์ได้

-Content Lab: Advanced Scriptwriting โครงการพัฒนาทักษะการเขียนบทสำหรับมืออาชีพ โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทั้งจากประเทศไทยและนานาชาติ พร้อมมาสเตอร์คลาสและการพัฒนาบทโดยผู้เชี่ยวชาญ

-Content Lab: Content Project Market โครงการสร้างโอกาสทางธุรกิจที่เป็นเหมือนตลาดซื้อขายคอนเทนต์ของไทยครั้งใหญ่ ที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมโครงการ Content Lab: Mid-Career, Content Lab: Animation และ Content Lab: Advanced Scriptwriting และนักสร้างสรรค์ในสายงานจากภายนอก ได้นำเสนอโครงการต่อนักลงทุนและภาคธุรกิจเพื่อต่อยอดผลงานสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ต่อไป โดย Content Lab: Content Project Market จะจัดขึ้นในวันที่ 24 - 25 ตุลาคม 2567

“CEA มุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนโครงการ Music Exchange และ Content Lab 2024 ให้เป็นกลไกสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยสู่เวทีโลก เป้าหมายของเราไม่เพียงแค่ผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น แต่เรากำลังวางรากฐานเพื่อให้ไทยก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในผู้นำด้านซอฟต์พาวเวอร์ ด้วยการผสานพลังความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมทางเทคโนโลยี และความหลากหลายทางวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน เรามุ่งสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ พร้อมผลักดันให้ผลงานและศิลปินไทยเป็นที่ยอมรับในเวทีนานาชาติ CEA เชื่อมั่นว่ากลยุทธ์และการดำเนินงานที่รอบด้าน จะทำให้ประเทศไทยไม่เพียงสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมดนตรีและคอนเทนต์ไทยได้อย่างมหาศาล แต่ยังจะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของโลกในอนาคตอีกด้วย” ดร. ชาคริต กล่าวทิ้งท้าย