เลขาธิการ กพฐ.ขานรับ ASED ถ้อยแถลงร่วมบุรีรัมย์ เดินหน้าต่อจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานยุคดิจิทัล สั่ง สพท.-หน่วยงานส่วนกลาง “ลดการใช้เอกสารกระดาษให้เป็นศูนย์” ปลื้มผลงานโรงเรียนโชว์ “พลิกโฉมการศึกษาสู่ยุคดิจิทัล”

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ( เลขาธิการ กพฐ. ) เปิดเผยว่า จากการที่ที่ประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ( ASED ) ครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 23-26 ส.ค.ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ได้ให้การรับรองถ้อยแถลงร่วมบุรีรัมย์ ( Joint Statement of the 13th ASEAN Education Ministers Meeting ) และเน้นย้ำการดำเนินการตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของระบบการศึกษา รวมถึงการตอบสนองต่อความท้าทายต่าง ๆ ของโลกที่จำเป็นต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต นั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้นำถ้อยแถลงร่วมบุรีรัมย์ มากำหนดทิศทางการบริหารและการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ตอบโจทย์ยุคดิจิทัล และการดำเนินนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยเบื้องต้นในระยะเร่งด่วนที่ทำทันที คือ ลดการใช้เอกสารกระดาษให้เป็นศูนย์ ซึ่งตนได้สั่งการให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) ทั่วประเทศ และหน่วยงานของ สพฐ.ในส่วนกลาง ลดการใช้เอกสารกระดาษ โดยเปลี่ยนจากเอกสารกระดาษหันมาใช้ระบบดิจิทัล เข้ามาช่วยในการจัดการเอกสารมากยิ่งขึ้น ยกเว้นเรื่องที่สำคัญจำเป็นต้องใช้เอกสารกระดาษอยู่ ซึ่งนอกจากจะเป็นการประหยัดทรัพยากรแล้ว ยังช่วยลดภาระในการจัดเก็บเอกสารของครู และบุคลากรทางการศึกษา ด้วย 

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับการจัดการเรียนการสอน นั้น ที่ผ่านมา สพฐ.ได้จัดอบรม ส่งเสริม สนับสนุนยกระดับสมรรถนะทักษะด้านดิจิทัล ให้ครูมีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในการเรียนการสอน และส่งเสริมทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ให้แก่นักเรียนระดับประถมศึกษาแล้ว ซึ่งเห็นศักยภาพของการจัดการศึกษาและศักยภาพของนักเรียน ได้จากผลงานของโรงเรียนในสังกัด สพฐ.ที่นำไปร่วมแสดงในส่วนของการจัดนิทรรศการด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 หัวข้อ “พลิกโฉมการศึกษาสู่ยุคดิจิทัล” เช่น บูธจากโรงเรียนบ้านหนองนาเวียง จ.ศรีสะเกษ แสดงผลงานโรงเรียนขนาดเล็กศักยภาพสูง ที่พลิกโฉมแนวทางการบริหาร ยกระดับสู่การเป็นโรงเรียนคุณภาพระดับสากล บูธจากโรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่ แสดงการจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำโดยบูรณาการการเรียนรู้ STEAM เน้นการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ และการนำเสนอเครื่องมือ SMART BOX ซึ่งเป็นเครื่องมือฝึกทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ และทักษะดิจิทัล บูธจากโรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์ แสดงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียนผู้พิการทางการได้ยิน บูธจากโรงเรียนมัธยมวัดนายโรง กรุงเทพฯ แสดงรูปแบบการเรียนรู้ แบบผสมสานและยืดหยุ่นด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม เอื้อต่อการเรียนรู้ Anywhere Anytime และบูธจากเครือข่ายโรงเรียน DLTV IDL และกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ที่แสดงการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) การจัดการศึกษาทางไกลแบบสื่อสารสองทาง การจัดการเรียนรู้ด้วย Digital Technology เป็นต้น ซึ่งได้รับเสียงชื่นชมจากประเทศต่างๆที่เข้าชมนิทรรศการ และ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ฝากคำขอบคุณไปยังครู บุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนนักเรียน และผู้ปกครอง ที่ร่วมทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพที่ดี ทั้งนี้ สพฐ.จะพัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอน ที่เกี่ยวเนื่องกับดิจิทัลให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น