ศมข.ศรีสะเกษ เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง “1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง” คัดเลือก 5 กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ข้าว ยกระดับก้าวสู่ “สินค้าเกษตรมูลค่าสูง”
นางสาวดวงจันทร์ เกษบุตร ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวศรีสะเกษ (ศมข.ศรีสะเกษ) กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำโครงการสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง “1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง” เพื่อยกระดับการผลิตของกลุ่มเกษตรกร เพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตรและบริการเชิงสร้างสรรค์ พัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรให้มีความเข็มแข็ง สามารถพึ่งตนเองได้นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เข้มแข็งตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” อย่างยั่งยืน ในส่วนของกรมการข้าว โดยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวศรีสะเกษ ได้ขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว ผ่านกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ข้าว ปัจจุบันจังหวัดศรีสะเกษ มีกลุ่มแปลงใหญ่ที่ได้รับการจัดตั้งแปลงใหญ่ข้าว ทั้งหมด 304 แปลง เกษตรกร 22,525 ราย พื้นที่ 269,617 ไร่
ศมข.ศรีสะเกษ ได้พิจารณาคัดเลือกกลุ่มแปลงใหญ่ข้าวที่ความเข้มแข็ง และมีความพร้อมที่เข้าร่วมโครงการสินค้าเกษตรมูลค่าสูง จำนวน 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.แปลงใหญ่ข้าวหมู่ 1 ต.ผักไหม อ.ห้วยทับทัน 2.แปลงใหญ่ข้าวหมู่ 16 ต.หนองแค อ.ราษีไศล 3.แปลงใหญ่ข้าวหมู่ 6 ต.หนองหมี อ.ราษีไศล 4.แปลงใหญ่ข้าว หมู่ 6 ต.คลีกลิ้ง อ.สิลาลาด และ 5.แปลงใหญ่ข้าวหมู่ 1,9 ต.ลมศักดิ์ อ.ขุขันธ์ ซึ่งกลุ่มแปลงใหญ่ข้าวเป้าหมายทั้ง 5 กลุ่ม มีความต้องการดำเนินการในกรอบแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง กลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มสินค้าเกษตรมูลค่าสูงเพื่อส่งออก โดยต้องการพัฒนากระบวนการผลิตและการแปรรูปผลผลิตให้ได้รับรองมาตรฐานด้านข้าว ทั้งมาตรฐานในประเทศ และมาตรฐานต่างประเทศ พัฒนาและส่งเสริมองค์ความรู้และเทคโนโลยีในการบวนการผลิตการปลูกพืชหลังนา เพื่อเสริมสร้างรายได้ การพัฒนาการทักษะการจำหน่ายสินค้าเกษตรผ่านช่องทางออนไลน์ การสนับสนุนเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมสมัยใหม่ ตลอดจนการสนับสนุนแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นเงินทุนในการรวบรวมผลผลิตของสมาชิก
“ทั้งนี้ ศมข.ศรีสะเกษ ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ปัญหา-ความต้องการ จัดทำแผนพัฒนารายสินค้า ด้านพืช แมลงเศรษฐกิจและบริการเชิงสร้างสรรค์ รวมทั้งประชุมชี้แจงแผนพัฒนารายสินค้าเพื่อบูรณาการความร่วมมือนำแผนสู่การปฏิบัติในพื้นที่แล้ว ทั้ง 5 กลุ่ม และขณะนี้อยู่ระหว่างวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานของแปลงเกษตรกรทางด้านกายภาพ ชีวภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อประเมินความเหมาะสมสู่การพัฒนาศักยภาพสินค้าเกษตร” ผู้อำนวยการ ศมข.ศรีสะเกษ กล่าว
นายกิตติศักดิ์ สิงห์คำ ประธานกลุ่มแปลงใหญ่ข้าวหมู่ 16 ต.หนองแค อ.ราษีไศล เป็น 1 ใน 5 กลุ่ม ที่เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า เดิมทีการปลูกข้าวจะใช้วิธีการปักดำและไถหว่าน อาศัยธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ พอปลูกข้าวไปนานๆ ข้าวเริ่มกลายพันธุ์ได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตทำให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำและได้ข้าวที่ไม่มีคุณภาพ ต่อมาจึงมีแนวคิดที่จะผลิตพันธุ์ข้าวดีด้วยตนเอง จึงได้จัดตั้งศูนย์ข้าวชุมชนบ้านมะยางขึ้น เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2544 เพื่อเป็นแหล่งผลิตและกระจายพันธุ์ข้าวที่ดีแก่เกษตรกร โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ 105 จากนั้นเมื่อปี 2564 ได้เข้าร่วมโครงการเกษตรแปลงใหญ่ ฝึกอบรมพัฒนาต่อยอดการผลิตข้าวที่มีคุณภาพ พร้อมทั้งยกระดับการปลูกข้าวแบบอินทรีย์ โดยกลุ่มได้ผลิตเมล็พันธุ์ดีส่งให้กับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวศรีสะเกษ และแจกให้กับสมาชิกเอาไว้ใช้ สำหรับข้าวที่ไม่สามารถทำพันธุ์ได้ก็จะนำเข้าโรงสีชุมชนเพื่อแปรรูปเป็นข้าวสาร ข้าวกล้องงอก ข้าวหอมนิล และข้าวมะลิซ้อมมือ เพื่อจำหน่ายและสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน
“ความเข้มแข็งของกลุ่มฯ เกิดจากความร่วมมือในการจัดการกลุ่ม จะมีการหารือปรึกษากันอยู่เสมอ เพื่อหาข้อตกลงในการร่วมกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันแก้ปัญหา” นายกิตติศักดิ์ กล่าว
ด้านนายเอกนรินทร์ สิงห์คำ คณะกรรมการฝ่ายการตลาด กลุ่มแปลงใหญ่ข้าวหมู่ 16 ต.หนองแค อ.ราษีไศล กล่าวว่า สินค้าหลักที่ทำตลาดด้านส่งออก ได้แก่ ข้าวกล้องงอก ซึ่งทำได้ทุกชนิดข้าว เช่น ข้าวหอมมะลิ 105 ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ยอดสั่งซื้อแต่ละเดือนประมาณ 8-10 ตัน ส่วนที่จำหน่ายในประเทศ คือ ข้าวหอมมะลิ 105 โดยกระบวนการผลิตจะมีการควบคุมตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organic Thailand) มาตรฐานอินทรีย์สหภายุโรป และอเมริกา มาตรฐาน อย. สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค และคู่ค้า ทั้งนี้จากเดิมการผลิตข้าวกล้องงอก ผ่านกระบวนแปรรูปนำข้าวเปลือกล้างทำความสะอาด แช่น้ำ นึ่งเพื่อหยุดการเจริญเติบโต นำมาตากให้แห้งก่อนนไปสีแปรรูปเป็นข้าวสาร ต้องใช้เวลา 48 ชั่วโมง ปัจจุบันได้มีการปรับปรุงกระบวนการผลิตโดยใช้นวัตกรรมเครื่องเพาะงอก สามารถย่นระยะเวลาเหลือเพียง 24 ชั่วโมง และข้าวหัก ข้าวลีบ ที่เหลือจากกระบวนการผลิตเครื่องเพาะงอกสามารถนำมาแปรรูปเป็นชาข้าวกล้องงอก ขนมคุกกี้ น้ำข้าวกล้องงอก เค้กกล้วยหอม
“กลุ่มฯ มีแนวคิดที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต เพิ่มรายได้การครองชีพให้กับสมาชิก และชุมชน จึงได้มีการพยายามพัฒนากลุ่มฯ ให้มีผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง เพื่อตอบโจทก์ในการรวบรวมผลผลิตที่เราส่งเสริม เช่น ข้าวอินทรีย์ กลุ่มฯ จึงได้เข้าร่วมโครงการสินค้าเกษตรมูลค่าสูง เพราะเราก็มีผลิตภัณฑ์ที่จะสามารถต่อยอดสู่สินค้าเกษตรมูลค่าสูงได้ แต่ยังต้องพัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือมาซัพพอร์ตขั้นตอนต่างๆ ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ โดยกลุ่มฯ มุ่งมั่นที่จะพัฒนาคุณภาพข้าวกล้องงอก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค และคู่ค้า สามารถส่งออกให้ได้มากขึ้น รวมทั้งระหว่างกระบวนการผลิต จะมีผลพลอยได้ต่างๆ หากนำไปขายจะได้ราคาต่ำ จึงได้นำมาพัฒนาผลพลอยได้เหล่านี้ให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มาสร้างความแตกต่างของตลาด และสร้างรายได้ให้กับสมาชิก และชุมชนเพิ่มมากขึ้น” นายเอกนรินทร์ กล่าว