จากสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่วันนี้แม้สถานการณ์จะคลื่ยคลายไปบ้าง แต่ก็ยังทิ้งความเสียหายต่อทรัพย์สิน และกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ในหลายพื้นที่ อาทิ จังหวัดน่าน ที่เกิดอุทกภัยอย่างหนักในรอบ 100 ปี หรือ จังหวัดสุโขทัย ที่น้ำในแม่น้ำยมได้กัดเซาะจนพนังกั้นพังขาดเป็นทางยาวกว่า 20 เมตร มวลน้ำไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนกว่า 100  ครอบครัว ภายในไม่กี่นาที

ซึ่งความเสียหายดังกล่าวประชาชนในพื้นที่ไม่รู้จะทำอย่างไรในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น!!!

โดยเฉพาะเงินในการที่จะนำมาซ่อมแซมที่อยู่อาศัย หรือ ลงทุนในการประกอบอาชีพ และดำเนินธุรกิจ!!!

ทั้งนี้เพื่อการแก้ไขอย่างเร่งด่วน กระทรวงการคลัง โดย “นายพิชัย ชุณหวชิร” รมว.คลัง “นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” และ “นายเผ่าภูมิ  โรจนสกุล” รมช.คลัง ได้ร่วมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ออกมาตรการด้านการเงินทั้งมาตรการพักชำระหนี้ ลดดอกเบี้ย และมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย

ขณะที่ “นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์” ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.เตรียมออกมาตรการเร่งด่วน โดยออกเป็นหนังสือเวียนถึงสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้เร่งเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เบื้องต้นจะมีการผ่อนเกณฑ์บางส่วน 3 ด้าน 1.การให้สภาพคล่อง หรือเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติม เพื่อใช้ซ่อมแซมที่อยู่อาศัยหรือธุรกิจ 2.การผ่อนผันปรับอัตราชำระขั้นต่ำ (Min Pay) บัตรเครดิตต่ำกว่า 8% เป็นระยะเวลา 1 ปี และ3.การผ่อนผันสินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อบุคคลดิจิทัลในการให้วงเงินฉุกเฉินชั่วคราวในการดำรงชีพ

สำหรับในแต่ละธนาคารของรัฐได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เพื่อดูแลลูกค้า ได้แก่

ธนาคารออมสิน : มาตรการพักชำระหนี้ สำหรับลูกค้าสินเชื่อรายย่อยที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 10 ล้านบาท ได้รับการพักชำระหนี้เงินต้นและลดดอกเบี้ยร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 3 เดือน ,มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ วงเงินต่อรายไม่เกิน 10,000 บาท อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 0.6 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 15 เดือน ปลอดชำระเงินงวดใน 3 เดือนแรก และโครงการสินเชื่อเคหะผู้ประสบภัย วงเงินกู้ต่อรายสูงสุดร้อยละ 100 ของราคาประเมิน อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 2 ต่อปี

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) : จัดทำมาตรการเสริมสภาพคล่องและฟื้นฟูลูกค้า วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน ปี 2567/68 วงเงินต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบัน MRR ของ ธ.ก.ส. เท่ากับร้อยละ 6.975 ต่อปี) ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี ปลอดชำระดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก และโครงการสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต วงเงินต่อรายไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR - 2 ต่อปี ระยะเวลากู้ไม่เกิน 15 ปี

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) : มาตรการลดเงินงวดและลดอัตราดอกเบี้ย สำหรับลูกค้าปัจจุบันจะได้รับการลดเงินงวดร้อยละ 50 จากเงินงวดที่ชำระปกติ และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เหลือร้อยละ 2 ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน ,มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สำหรับลูกค้าใหม่หรือลูกค้าปัจจุบัน สามารถขอสินเชื่อเพิ่มเติมหรือสินเชื่อใหม่เพื่อปลูกสร้างอาคารทดแทนหลังเดิมหรือซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหาย วงเงินต่อรายไม่เกิน 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 2 ต่อปี , มาตรการประนอมหนี้ สำหรับลูกค้าที่ค้างชำระเงินงวดติดต่อกันมากกว่า 3 เดือน หรืออยู่ระหว่างการประนอมหนี้ จะได้รับการปลอดชำระดอกเบี้ยและเงินงวดใน 6 เดือนแรก กรณีลูกค้าที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรผู้กู้ร่วมหรือทายาทสามารถผ่อนชำระต่อในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปีตลอดระยะเวลาคงเหลือ และกรณีที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังและไม่สามารถซ่อมแซมได้สามารถยกเว้นหนี้ในส่วนของอาคารและผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินที่คงเหลือ และมาตรการสินไหมเร่งด่วน สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัยซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติจะพิจารณาสินไหมอย่างเร่งด่วน เป็นกรณีพิเศษ

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) :  มาตรการพักชำระหนี้ พักชำระหนี้เงินต้นให้สอดคล้องกับระดับความรุนแรงของผลกระทบและลักษณะของธุรกิจแต่ละราย ,มาตรการสินเชื่อเติมทุน สำหรับซ่อมแซมฟื้นฟูกิจการผ่านโครงการ Smile Biz ธุรกิจยิ้มได้ วงเงินต่อรายสูงสุด 5 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ MLR - 1 ต่อปี (ปัจจุบัน MLR ของ ธพว. เท่ากับร้อยละ 7.5 ต่อปี) ระยะเวลากู้สูงสุด 7 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 6 เดือนแรกง

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) : เพิ่มวงเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้นชั่วคราวสูงสุดร้อยละ 20 ของวงเงินเดิม ช่วยลดภาระเงินต้นและดอกเบี้ย รวมทั้งช่วยขยายระยะเวลาการชำระเงิน

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) : สำหรับกลุ่มลูกค้าเดิมที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ จะได้รับการพักชำระหนี้เงินต้น ชำระเฉพาะอัตรากำไร เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน โดยให้ขยายระยะเวลาออกไป ไม่เกินระยะเวลาที่พักชำระและได้รับการยกเว้นค่าชดเชยผิดนัดชำระที่เกิดขึ้นทั้งจำนวนจนถึงวันที่ปรับปรุงบัญชี

บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) : มาตรการพักชำระค่าธรรมเนียม สำหรับลูกค้า บสย. ที่ถึงกำหนดชำระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อและค่าจัดการค้ำประกันตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2567 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2567 สามารถพักชำระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อและค่าจัดการค้ำประกันเป็นระยะเวลา 6 เดือนนับจากวันถึงกำหนดชำระ }มาตรการพักชำระค่างวด สำหรับลูกหนี้ บสย. ที่อยู่ระหว่างผ่อนชำระตามแผนปรับโครงสร้างหนี้และไม่ผิดนัดชำระหนี้สามารถพักชำระค่างวดเป็นระยะเวลา 3 งวด โดยขอเข้าร่วมโครงการได้จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2567

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)  : มาตรการช่วยเหลือและเยียวยาลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือของไทย ทั้งในส่วนของวงเงินกู้ระยะสั้นและวงเงินกู้ระยะยาว โดยเพิ่มวงเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้นชั่วคราวสูงสุด 20% ของวงเงินเดิม เปลี่ยนแปลงภาระหนี้ระยะสั้นเป็นภาระหนี้ระยะยาว ผ่อนชำระเงินกู้ระยะสั้นได้นานสูงสุด 3 ปี และระยะยาวสูงสุด 7 ปี ลดภาระดอกเบี้ยเงินกู้ระยะยาว และพักชำระหนี้เงินต้นนานสูงสุด 1 ปี เพื่อให้ลูกค้าของ EXIM BANK สามารถดำเนินธุรกิจส่งออกหรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกได้อย่างต่อเนื่อง เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือ โดยลงทะเบียนผ่าน www.exim.go.th สอบถาม EXIM Contact Center โทร. 0-2169-9999

อุทกภัยครั้งนี้!! ขอให้เป็นบทเรียนในการรับมือกับภัยธรรมชาติที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ!!!

เพราะในสภาวะโลกร้อน “ภัยธรรมชาติ” เกิดขึ้นได้เพราะ “น้ำมือเรา”