ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
สำหรับคนที่อยู่กับความฝัน โลกจริงที่รายรอบกลับเป็นภาพลวงและยอมรับไม่ได้
ถ้าจะว่าไป แม่ของอมิตตาเป็นแม่ที่ดีมาก ๆ เพราะถึงแม้จะมีธุรกิจรัดตัวมากมาย ก็ให้เวลากับลูกมาก่อนเสมอ ยิ่งพอมีวิกฤติต้มยำกุ้ง ถึงขั้นต้องหอบหิ้วกันหลบหลีกเจ้าหนี้ ไปอยู่บ้านโน้นบ้างบ้านนี้บ้าง แม่ก็ไม่เคยห่างลูกทั้งสองคนเลย และเมื่อมีเวลาที่อยู่กับลูกมากขึ้นเพราะไม่ต้องไปรับผิดชอบธุรกิจที่ล้มไปแล้วนั้น แม่ก็มาทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้กับลูก แต่ไม่ได้เข้ามาควบคุมหรือกวดขันอบรมลูกแบบที่พ่อแม่ทั่ว ๆ ไปเขาทำกัน โดยแม่ได้เข้ามา “ร่วมใช้ชีวิต” เหมือนกับเป็นเพื่อนของลูก ในฐานะพี่สาวคนโตของลูกทั้งสองนั่นเอง
แม่จะตื่นแต่เช้าทุกวัน ถ้าเป็นวันที่ต้องไปโรงเรียน แม่ก็จะรีบเข้าครัวเตรียมอาหารง่าย ๆ จำพวกแซนด์วิชหรือข้าวต้มข้าวผัด สำหรับรับประทานก่อนออกจากบ้าน แล้วให้อมิตตาตื่นมาช่วยอาบน้ำแต่งตัวให้น้องชาย ในเวลาครึ่งชั่วโมงทุกอย่างก็พร้อม รับประทานอาหารเช้าแล้วก็จะมีแท็กซี่เจ้าประจำมารับเด็กทั้งสองไปส่งที่โรงเรียนและรับกลับ ความจริงแม่ขับรถเก่งและชอบขับรถมาก แต่ว่าต้อง “แกล้งจน” เพื่อตบตาเจ้าหนี้ที่อาจจะให้คนมาสืบว่ามีทรัพย์สินที่รวมถึงรถราและข้าวของอะไรต่าง ๆ หรือไม่ แต่ถ้าเป็นเช้าวันเสาร์อาทิตย์ แม่ก็จะปลุกลูกทั้งสองคนให้มาช่วยงานในครัว แต่ไม่ใช่ให้มาช่วยทำกับข้าว เพราะดูเหมือนจะชวนมาเล่นในครัวให้สนุกสนานมากกว่า เป็นต้นว่า ทำอาหารเป็นตัวการ์ตูน แข่งกันจัดวางข้าวของ ประกวดงานฝีมือง่าย ๆ หรือเล่นละครตลก จนกระทั่งร้องเพลงและเต้นรำ
อมิตตาจำได้ว่าถ้าไม่ได้ออกจากบ้านไปไหน แม่กับลูกรวมสามคนจะนั่งติดหน้าจอทีวีตลอดทั้งวัน แม่จะร่วมเฮฮากับลูกในการนั่งดูการ์ตูนทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นพาวเวอร์พัพเกิร์ล เทเลทัปบี้ ชินจัง หรือโดราเอมอน แม้แต่ในเวลาที่ช่องทีวีไม่ได้ฉายการ์ตูนเหล่านี้ แม่ก็จะไปหาซื้อแผ่นซีดีการ์ตูนเรื่องต่าง ๆ มาเครื่องเล่นฉายขึ้นจอทีวีตลอดวัน เรื่องที่เธอจำได้แม่นเพราะแม่เอามาฉายย้อนดูหลายรอบก็เช่น โฉมงามกับเจ้าชายอสูร ไลออนคิงส์ และซินเดอเรลล่า โดยแม่จะสมมติเป็นตัวการ์ตูนตัวโน้นตัวนี้ไปในทุก ๆ เรื่อง รวมทั้งแสดงบทพูดและทำท่าทางประกอบ เหมือนกับเป็นเด็ก ๆ ด้วยอีกคนหนึ่ง อีกทั้งลูกสองคนก็จะถูกจับให้สมมติเป็นตัวการ์ตูนตัวโน้นตัวนี้ด้วยเช่นกัน รวมถึงมีการแต่งตัวและเล่นบทเจรจาหัวเราะลั่นบ้าน ดั่งกับว่าในบ้านนี้ไม่มีเรื่องทุกข์ร้อน โดยมีแม่เป็นผู้นำในการใช้ชีวิตอย่างสนุกสนานอยู่ตลอดเวลานั้น
ความสนุกสนานในบ้านเหล่านั้น เมื่ออมิตตานึกย้อนกลับไป ก็เข้าใจถึง “หัวใจของแม่” ที่ไม่อยากให้ลูกมีความทุกข์ แม่ยอมทำทุกอย่างเพื่อ “ฝังกลบ” ความทุกข์ การให้ลูกต้องได้อยู่ใน “ความฝัน” คือฝันว่ามีอีกชีวิตหนึ่ง ชีวิตที่ทีแต่ความสุข เหมือนดังที่อยู่ในการ์ตูน โดยที่การ์ตูนเหล่านั้นนำไปสู่ความฝันในทุก ๆ เรื่อง การได้แสดงบทบาทสมมุติเป็นตัวแสดงตัวโน้นตัวนี้ ทำให้คนดูมีจินตนาการที่ล่องลอยตามไป และเกิดการซึมซับตามไปว่า คนเราสามารถที่จะเป็นอะไรก็ได้ อีกทั้งการ์ตูนของเด็ก ๆ ส่วนใหญ่ก็จะมีเนื้อหาที่ชวนฝัน แม้จะเจอมรสุมหรือทุกข์ยากลำบากอะไร สุดท้ายก็จะจบลงด้วยดี หรือถ้าเป็นเรื่องของความรัก ตอนจบก็จะ “แฮปปี้เอนดิ้ง” มีความสุขด้วยกันทุกคน ชีวิตที่อยู่ในความฝันเช่นนี้ จึงเป็นการบำบัดและชดเชยในสิ่งที่ขาดแคลน รวมถึงทำให้มีความหวังและเกิดศรัทธาในชีวิต ที่จะทำให้คนเรายังอยากที่จะมีชีวิตอยู่และต่อสู้ในปัญหาต่าง ๆ ต่อไป โดยที่เป็นการต่อสู้และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข โดยมีความฝันทั้งหลายหล่อหลอมและนำพาไป
พอแม่มาเป็นโรคซึมเศร้าภายหลังจากที่ได้รับข่าวร้ายของพ่อ เมื่อจัดการทำบุญกระดูกพ่อที่นำกลับมาจากประเทศเพื่อนบ้านเสร็จแล้ว แม่ก็ยิ่งซึมเศร้าลงไปอย่างหนัก ถึงขั้นไม่ยอมกินอะไร บางวันก็ทรุดจนต้องพาส่งโรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือและฟื้นฟูร่างกาย พอออกมาอยู่บ้านก็เหมือนจะหลง ๆ ลืม ๆ มีอาการของอัลไซเมอร์ ดีแต่ว่าไม่อาละวาดโวยวายหรือทำร้ายตัวเอง เอาแต่นิ่งเงียบเหมือนเป็นใบ้ จะพูดจะถามอะไรก็ไม่โต้ตอบ อมิตตาไปขอคุณป้าคนหนึ่งที่เป็นญาติห่าง ๆ ที่แกอยู่คนเดียว แต่ก็มีหลานสาวคือลูกของลูกสาวของแก ที่แม่ของเด็กสาวคนนี้ไปมีสามีใหม่เป็นฝรั่งอยู่ที่ต่างประเทศ ให้ทั้งสองคนมาอยู่เป็นเพื่อนของแม่ในบ้านหลังเล็กที่ในสวนหลังบ้าน โดยอมิตตาที่ตอนนั้นก็จบจากมหาวิทยาลัยและมีงานทำในบริษัทแห่งหนึ่งแล้ว เป็นคนจ่ายเงินเดือนให้คุณป้าและค่าเล่าเรียนของหลานสาว (ความจริงก็คือเงินของแม่นั้นเอง เพราะตอนที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งและธุรกิจของพ่อกับแม่ล้มระเนระนาด แม่ก็ยังมีเงินและทรัพย์สินซุกซ่อนไว้จำนวนพอสมควร) ทำให้อมิตตาเบาใจไปได้เปลาะหนึ่ง ที่มีคนอยู่เป็นเพื่อนแม่บ้าง เพราะอมิตตาต้องทำงานจันทร์ถึงเสาร์ ส่วนน้องชายก็ยังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย โดยที่น้องชายก็คอยแต่จะสร้างปัญหาอยู่เป็นระยะ ในความที่เป็นวัยรุ่นจึงชอบที่จะเอาเพื่อน ๆ มาบ้าน โดยอยู่บนบ้านหลังใหญ่หน้าบ้าน แรก ๆ ก็นึกว่าแค่มาสังสรรค์ เล่นเกมคอมพิวเตอร์ หรือเล่นดนตรี เท่านั้น แต่ต่อมาเธอก็ผิดสังเกต ที่น้องชายไม่ได้ไปเรียนบ้าง มีพฤติกรรมแปลก ๆ บ้าง รวมถึงร่างกายที่ผ่ายผอมทรุดโทรม ต่อมาจึงรู้ว่าติดยาเสพติดจำพวกยาเคและยาไอซ์ เธอจึงไปปรึกษาแฟนของเธอที่เป็นตำรวจ แฟนของเธอจึงมาเกลี้ยกล่อมให้ไปบำบัด เพื่อไม่ให้ต้องเป็นคดีร้ายแรงเข้าคุกเข้าตารางหัวโต แล้วตอนนี้ก็จบมหาวิทยาลัยแล้วไปทำงานอยู่ที่ต่างจังหวัด เธอก็ทราบข่าวว่าไม่ได้ไปทำตัวมีปัญหาอะไร และน่าจะเอาตัวรอดไปได้ เพราะแฟนของน้องชายก็ดูจะควบคุมและดูแลกันได้ โดยที่เธอก็ยังต้องซัปพอร์ตให้เงินจากกองกลางของบ้านแก่น้องชายอยู่บ้าง โดยที่น้องชายก็ไม่รู้ว่าเป็นเงินที่แม่เก็บไว้ให้ เพราะเธอบอกว่าเป็นเงินที่เธอ “ทำมาหาได้พิเศษ” จากอาชีพเสริมต่าง ๆ ซึ่งความจริงก็มีอยู่จริง ๆ เพราะลำพังเงินเดือนและโบนัสของบริษัทก็ไม่ได้ทำให้ร่ำรวย เพียงแต่มีไว้ “บังหน้า” แก่อาชีพ “ขายฝัน” ที่เธอได้ทำอย่างเป็นล่ำเป็นสันมาหลายปี
ที่จริงควรจะเรียกอาชีพเสริมที่เธอทำนั้นว่า “อาชีพขายความหวัง” เสียมากกว่า เพราะมันเริ่มด้วยการสร้างความหวังว่าเงินทุกบาทนั้นจะงอกงามถ้ามาลงทุนกับเธอ เริ่มต้นธุรกิจใหม่ของเธอก็คล้าย ๆ กับการขายลอตเตอรี่ ที่ผู้ซื้อจะมีโอกาสทั้งที่สมหวังและผิดหวัง แต่พอธุรกิจแบบนั้นเติบโตลำบาก คือลูกค้าเพิ่มขึ้นไม่ค่อยมาก เธอก็ปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นธุรกิจที่ทุกคนที่คนมีโอกาสได้รับรางวัลตอบแทนเสมอ เพียงแต่จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับ “จังหวะและเทคนิค” ที่จะลงทุนหรือซื้อขายสินค้า ต่อไปเธอก็ “หล่อเลี้ยง” ลูกค้ากลุ่มนี้ด้วย “ความโลภ” แล้วชักชวนเข้าไปขยายธุรกิจที่แตกแขนงออกไป ด้วยการสร้างความหวังว่า “ยิ่งลงทุนมากยิ่งรวยมาก” โดยไม่ต้องเหนื่อยมากหรือมีอะไรยุ่งยาก ซึ่งมันได้พาเธอไปสู่ความเป็น “เจ้าแม่” รวมถึงจุดจบในธุรกิจนี้
เธอมองทุกคนว่าคงจะมีชีวิตที่เต็มไปด้วยความฝันเหมือนเธอ และทุกคนก็พร้อมจะเข้าไปในโลกแห่งฝันนี้ แม้หลาย ๆ คนก็รู้ว่าเป็น “ฝันลวง”