ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต

“...ความผิด..แห่งชีวิตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทั้งโดยอุบัติการณ์..ชะตากรรมอันซ้ำซาก หรือจากการกระทำที่โง่เง่าและหลงจริตเฉพาะตัว..มันคือวัฏจักรอันยากจะอธิบายถึงโครงสร้างอันจริงแท้ได้..อย่างกระจ่างชัด..เหตุนี้มนุษย์เราจึงต้องเพียรที่จะต้องเรียนรู้..ปรากฎการณ์ในทุกรูปรอยของจังหวะชีวิต..และผลลัพธ์ที่ได้ออกมาก็จะเป็นองค์ความรู้ใหม่..ในวิถีแห่งประสบการณ์ของตัวตน..ที่เปี่ยมเต็มไปด้วยคุณค่า..เหตุนี้..การที่ “มนุษย์ส่วนใหญ่ มักจะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ..เมื่อชีวิตเกิดเรื่องที่ไม่คาดคิด” จึงเป็นภาวะสลักลึก ที่จักต้องค้นคว้าหา รากเหง้าอันแปรผันของมันให้จงได้..มันคือหน้าที่อันจำเป็น..ต่อการที่จะต้องแลกชีวิตมา..เพื่อ “แสงสว่างแห่งเจตจำนงของปัญญาญาณ”..อันแท้จริง..!”

ปรากฏการณ์แห่งสาระเบื้องต้นคือแก่นแกนแห่งสำนึกคิดที่ได้รับมาจากเปลวประกายอันสถาพรของเหล่ามวลความคิดอันเบิกบานและงอกงามจากหนังสือ “I MAY BE WRONG” (ฉันอาจจะผิดก็ได้)..ผลงานอันวิจิตรและสงบงามแห่งใจของ “บเยิร์น ลินเดอบลอด” (Bjorn Linderblad) “พระป่า..” ผู้สร้างญาณปัญญาจากชีวิตจริง..ด้วยผัสสะอันหยั่งลึก ผ่านการตีความและทดลองวิถีศรัทธาที่ล้ำลึกยิ่ง...นัยสำคัญอันเป็นเบื้องลึกของหนังสือเล่มนี้ มาจากคำสอนแห่งการเข้าใจโลกแห่งชีวิต ด้วยดวงตาและดวงใจแห่งจิตปัญญาของท่าน “ชยสาโร” ผู้ถือเป็นแรงบันดาลใจอันสูงส่งให้กับ “บเยิร์น” ในขณะที่บวช...ในฉายา “ณัฏฐิโกภิกขุ” ..ถือเป็นบันทึกธรรมที่งดงามที่สุด เป็นคาถาธรรมที่คุ้มกันภัยและความหลง..ให้แก่ผู้รับรู้เรียนรู้ และศรัทธา ทั้งมวล..

...ความหมายอันทรงคุณค่าสูงส่ง มิต้องอยู่ที่เรื่องราว..ซึ่งถูกบอกว่า ..หากแต่อยู่ที่ กลไกการเรียนรู้ของ “ณัฏฐิโก” ที่ได้เผยแสดงให้เราได้เห็นว่า การปฏิบัติธรรม เจริญภาวนานั้นเป็นเช่นไร..จากประสบการณ์การเรียนรู้ที่ง่ายๆอย่างธรรมดาสามัญ..ท่านอาจารย์ “ณัฏฐิโก” ได้เปิดเผยว่า “..ปัญญาญาณ ได้ผุดปรากฏในใจของท่านอย่างไร?..และ ปัญญาญาณที่เรียบง่าย ธรรมดา สามัญ ได้ส่งผลให้เกิดการพลิกเปลี่ยนในชีวิตของท่าน ในเวลาต่อมาได้อย่างไร?..”

“บเยิร์น ลินเดอบลอด” ได้เปิดเผย เรื่องราวแห่งชีวิต นับแต่เป็นผู้บริหารทางการเงินในกรุงสตอกโฮล์ม สู่การบวชเป็นลูกศิษย์ “หลวงพ่อชา” และพระอาจารย์ “ปสันโน” ที่วัดป่านานาชาติ..ศึกษาธรรมเพื่อขัดเกลาจิตใจ ด้วยความมุ่งมั่นถืง 17 พรรษา..จนถึงคราวที่ต้องกลับบ้านเกิด ณ ประเทศสวีเดน จึงได้ใช้การแบ่งปันประสบการณ์ชีวิตอันล้ำค่านี้ ในฐานะวิทยากรที่มีชื่อเสียงไปทั่วประเทศ..

เขาเคยผ่านชีวิตที่มั่งคั่งทางโลก แล้วหันมาค้นหาทรัพย์ทางธรรม และผ่านมรสุมชีวิตหลากหลาย..จนถึงวาระสุดท้ายที่งดงาม...ด้วยความกล้าหาญ เผชิญความจริงอย่างเบิกบาน..ชีวิตแห่งความหมายอันทรงคุณค่าสูงส่ง จึงไม่ได้อยู่ที่เรื่องราวซึ่งถูกบอกเล่า หากแต่อยู่ที่กลไกแห่งการเรียนรู้ของอาจารย์ “ณัฏฐิโก” ที่ได้เผยแสดงให้ผู้คนได้เห็นว่า..

ปัญญาญาณได้ผุดปรากฏขึ้นในใจท่านอย่างไร? และปัญญาญาณ ที่เรียบง่าย ธรรมดา สามัญนี้ ได้ส่งผลให้เกิดการพลิกเปลี่ยน ชีวิตของท่านในเวลาต่อมาได้อย่างไร?..

"ปัญญาญาณซึ่งไม่ใช่ความรู้อันปรุงแต่งของมนุษย์..ทำให้ความหมายของคำว่า “ฉันอาจจะผิดก็ได้” กลายเป็นถ้อยคำอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นเวทย์มนต์ที่ถูกร่ายออกมาเพื่อสลายพันธนาการทางความคิดที่ผูกมัดรัดตรึงตัวตน “ผู้คิด” ให้ติดกับดักของความถูก-ผิด...จริง-เท็จ ซึ่งตนเป็นผู้สร้างและะเป็นผู้กำหนดขึ้นมาเอง..”

ถ้อยความคิดเห็นอันทรงคุณค่าตรงส่วนนี้ เป็นของอาจารย์ “ประมวล เพ็งจันทร์” ปราชญ์แห่งสัจจะวิถี..ที่น่าพินิจพิเคราะห์ต่อการอ่านและใคร่ครวญศึกษาหนังสือเล่มนี้อย่างอิ่มเต็มและมีทิศทางไกล....!!!

“ผมมักจะพบว่า..มนุษย์ส่วนใหญ่ รวมทั้งตัวผมเอง มักจะได้เรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ เมื่อชีวิตได้เกิดเรื่องที่ไม่คาดคิดขึ้น..ดังนั้นหนังสือเล่มนี้..จึงรวบรวม.ข้อผิดพลาดและความล้มเหลวของผมไว้มากมาย..ซึ่งผมหวังว่าจะทำให้คุณ หัวเราะท้องแข็ง..ด้วยเสน่ห์แห่งความเรียบง่ายและจริงใจ..”

“..บเยิร์น ลินเดอบลอด”..แสดงทัศนะในความถ่อมสุภาพนี้ออกมาอย่างเปิดเปลือก..เข้ากล้ายอมรับต่อความล้มเหลวในชีวิต ปัจจัยสำคัญด้านหนึ่งที่สร้างแสงธรรมให้แก่ชีวิตได้อย่างสว่างไสว..

การรวบรวม..ข้อผิดพลาดโดยส่วนตัว คือการประเมินคุณค่าของชีวิต ด้วยการทบทวนตัวตนผ่านขบวนการแห่งความล้มเหลวนานา..จนค้นพบวิถีแห่งความเรียบง่ายที่จริงใจ..อันนำไปสู่วิจารณาญาณ แห่งการตัดสินใจที่จะประพฤติปฏิบัติต่อชีวิตได้อย่างโอบประคอง..และสมบูรณ์..ในที่สุด..

“เรามักหลงไปติด กับการหาสิ่งที่จะทำให้ เรามีความสุขภายนอก..ความสำเร็จในสายตาคนอื่น อาจทำให้เราหลงใหลได้ปลื้มสักพัก แต่ถ้าหากลองหยุดและลองพิจารณาให้ดี จะเห็นว่า..สิ่งที่ปลื้มปริ่มใจนั้นไม่ได้อยู่นาน เสมือนกับลูกอมซึ่งไม่ช้าไม่นานก็ละลายหายไป อร่อยก็เพียงชั่วครู่..ไม่ได้เกิดประโยชน์ใดๆเลย..”

นี่เป็นข้อตระหนักจากการวินิจฉัยสภาวะโดยรวมของชีวิตอย่างถ่องแท้ ของ “บเยิร์น ลินเดอบลอด”..ที่เหมือนจะเป็นสิ่งที่เคว้งคว้างอยู่ในรอยเลื่อนของสัจธรรม เป็นการตระหนักในหยั่งเห็นจากการทดลองความจริงในเชิงปฏิบัติของตนเอง..หลายขณะที่การเพ่งมองชีวิตของตนเองมักทำให้เกิดคลาสของความรู้สึกนึกคิด..เป็นเป็นสถานการณ์แห่งความเสียดแทงทางอารมณ์ ที่เราจำเป็นต้องน้อมรับ เพื่อจะได้เรียนรู้และเข้าใจอย่างถาวรต่อไป..เบื้องหน้า..

หนังสือนี้..ไม่ได้ตั้งใจที่จะชี้ทางไปที่ศาสนาหรือวัตรปฏิบัติของพระ แต่มันคือการถ่ายทอด “ภาวะแห่งชีวิต” อย่างตรงไปตรงมา..ตั้งแต่ก่อนบวชเป็นพระ กระทั่ง ขณะเป็นพระ และเมื่อสึกออกมาเป็นฆราวาส การกลับไปสู่บ้านเกิดที่สวีเดน ทำให้ “บเยิร์น ลินเดอบลอด” ต้องเผชิญกับปัญหาชีวิตอย่างใหญ่หลวง..เขาป่วยเป็นโรคซึมเศร้า..แต่ถึงกระนั้น..คำสอนที่ได้ร่ำเรียนมาสมัยเป็นพระป่าถึง 17 ปี..ก็ได้ช่วยประคับประคองชีวิตเขาไว้..ช่วยสร้างโอกาสให้เขาได้เคลื่อนตัวเคลื่อนใจ..ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่ การต้องเผชิญหน้ากับวาระสุดท้ายของชีวิต หลังอาการป่วยด้วยโรค “ALS”..โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ..จนละจากชีวิต..

“ไม่ใช่..คนที่โกนผมบวชเป็นพระอย่างตัวผม.จะทำสมาธิได้ง่ายๆ ผมสั่งจิตสมาธิไม่ได้..ถ้านั่งทำสมาธิเกิน 30-45 นาที..ผมก็จะหลับ” ในบทสรุปแห่งประสบการณ์ หนังสือเล่มนี้เปี่ยมเต็มไปด้วยสาระเนื้อหาที่สอนให้เราได้ตระหนักรู้และเห็นงามในความลึกซึ้ง..ผ่านสติเพื่อจะได้ก้าวย่างไปถึงเส้นชัยแห่งชีวิต..มันสอนให้เรา ได้เกิดสำนึกรู้อยู่กับลมหายใจให้มากขึ้น โดยคิดและคิดให้น้อยลง..เราต้องไม่เบื่อในสิ่งที่คิด..เหตุนี้จะทำให้เราเจริญด้วยปัญญา และมีชั่วขณะแห่งการตระหนักรู้ให้จงได้..

*หนังสือเล่มนี้  ได้รับการแปลเป็นภาษา อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน อิหร่าน และไทย..เป็นหนังสือขายดีอันดับหนึ่งในสวีเดนและได้รางวัล Adibrit  และ Stortel Awards..เป็นค่าความหมายแห่งเกียรติคุณอันสำคัญ..

“สามชัย พนมขวัญ” แปลและถอดความหนังสือเล่มนี้ออกมาอย่างเข้าใจ และ ตรึงสติไปด้วยแก่นสารแห่งสัจจะของชีวิต..ภาษาสำนึกของหนังสือเล่มนี้..จึงเป็นประจุของประกายไฟแห่งเเรงขับเคลื่อนขององค์ความรู้ที่ไขว้สลับปรากฏการณ์แห่งชะตากรรมของชีวิต ..จนเป็นคัมภีร์คำสอนอันกระจ่างใจ..บริสุทธิ์อยู่กับจิตวิญญาณแห่งการค้นคว้าในไขว่คว้า..ต่อรอยผสานอันเคลือบแคลงของชีวิตตลอดไป..

ความผิดถูกชั่วดีใดๆนั้น..ย่อมขึ้นอยู่กับปัญญาญาณอันพิสุทธิ์ ที่เหยียบเย็น ร้อนรุ่ม..ในจริงแท้..ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปร หรือ เปลี่ยนไป..* “ความหมายแห่งคุณค่าอันสูงส่ง ไม่ได้อยู่ที่การบอกเล่า..แต่อยู่ที่ความเพียรพยามยาม..ที่จะเรียนรู้..เพียงนั้น!!!”