รายงานความคืบหน้าการแก้ปัญหาจราจรคับคั่ง บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข (ทล.) 2 ถนนมิตรภาพ ช่วงผ่านตัวเมืองโคราช บริเวณทางแยกนครราชสีมา (บิ๊กซี) และทางแยกประโดก (พีกาซัส) เฉลี่ยต่อวันมีปริมาณรถแล่นผ่านกว่า 4 หมื่นคัน ได้ส่งผลกระทบต่อการเดินทางและมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เป็นเวลากว่า 15 ปี กรมทางหลวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำเสนอโครงการบริเวณจุดตัด ทล. 2 กับถนนช้างเผือก (แยกประโดก) และบริเวณ ทล.2 กับ ทล.224 ถ.ราชสีมา-โชคชัย (แยกนครราชสีมา) แต่มีการคัดค้านจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการค้าทำให้ต้องชะลอโครงการ
ต่อมา ครม.อนุมัติงบประมาณ 849 ล้านบาท ให้ดำเนินก่อสร้างโครงการทางลอดแยกประโดก รองรับการจราจรขาเข้า-ออก ตัวเมืองนครราชสีมา จำนวน 6 ช่องจราจร ระยะทาง 1,750 กิโลเมตร บริษัท อึ้งทงกี่ จำกัด เป็นผู้รับจ้าง ใช้เวลา 1,080 วัน งบประมาณ 849 ล้านบาท และทางลอดแยกนครราชสีมา รองรับการจราจรจาก จ.ขอนแก่น เลี้ยวขวาไป จ.สระบุรี จำนวน 2 ช่องจราจร รวมระยะทาง 1,181 เมตร เริ่มต้นบริเวณหน้าศูนย์เพาะชำเทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา ถึงหน้าสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงพีที โดยมี บริษัท รัชตินทร์ จำกัด เป็นผู้รับจ้าง ใช้เวลา 960 วัน งบประมาณ 373 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ที่หอประชุมดาวเรือง วิทยาลัยเทคโนโลยีช่างกลพณิชยการนครราชสีมา (ช.พ.น) อ.เมือง จ.นครราชสีมา ผู้ช่วยนายช่างรับผิดชอบโครงการ ฯ ทางแยกประโดก นายอิทธิกร พรมโพธิน พร้อมนายจักรพงศ์ หาญสงคราม เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ขั้นตอนการก่อสร้างโครงการอุโมงค์ทางลอดแยกประโดกและโครงการ ฯ แยกนครราชสีมา ให้ ดร.ณัฐวัฒม์ วงษ์ชวลิตกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล นายตระการ แสนแก้ว ผู้อำนวยการ ช.พ.น ครู บุคลากรทางการศึกษาและนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิตการโยธา เครื่องกลไฟฟ้า การจัดการงานวิศวกรรมและโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล และนักศึกษาช่างก่อสร้าง ช่างยนต์ ช่างกล เทคโนโลยีศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ช.พ.น รวมทั้งสิ้น 120 คน จากนั้นได้ศึกษาดูงานทั้ง 2 โครงการ ขั้นตอนใช้เครื่องจักรกลขนาดใหญ่เปิดหน้าดินความลึกประมาณ 7 เมตร เพื่อก่อสร้างโครงสร้างผนังทางลอด (D-wall) งานเข็มเจาะกลม (Bored Pile) พื้นทางลอดและกำแพงกันดินจากนั้นเริ่มงานในส่วนของพื้นทางลอด (Base Slab) รวมทั้งหลังคาทางลอด (Top Slab) และงานระบบไฟฟ้าส่องสว่าง ทั้งนี้ความก้าวหน้าทางแยกประโดก 33.306 % เร็วแผนงาน 16.093% ส่วนทางลอดแยกนครราชสีมา พบปัญหาอุปสรรคแนวท่อประปาขนาดใหญ่ที่พาดผ่านโครงสร้างทางลอด จึงต้องเบี่ยงแนวท่อ ผลงานรวม 40.298 % เร็วกว่าแผนงาน 21.713%
ด้าน ดร.ณัฐวัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล เปิดเผยว่า ประโยชน์ที่ได้จากการศึกษาดูงานในพื้นที่ปฏิบัติงานจริงโดยได้รับข้อมูลความรู้ค่อนข้างละเอียดจากวิศวกรผู้ควบคุมงาน พบการใช้เทคนิคเทคโนโลยีต่างๆนำมาใช้ก่อสร้างช่วยให้งานเสร็จสมบูรณ์รวดเร็วมากขึ้น ต่อเยอดให้คณะครูและนักศึกษานำไปผนวกใช้กับการเรียนรู้ในชั้นเรียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อผลิตบุคลากรให้มีศักยภาพและความสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างมีคุณภาพ