ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย

คงจำกันได้ถึงมหากาพย์ในการจับกุมจูเลียน อัสซานจ์เจ้าของWikiLeaks สัญชาติออสเตรเลีย/เอกควาดอร์ที่ใช้เวลาทั้งการหลบหนีและการถูกจำคุกรวมกัน14ปี ด้วยข้อหาเปิดเผยเอกสารลับของทางราชการสหรัฐฯ แต่เอกสารเหล่านั้นมันเปิดเผยถึงการทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศ บางกรณีถึงขั้นเป็นอาชญากรสงคราม ในอิรัก อัฟกานิสถาน และที่คุกกวนตานาโมในคิวบา สุดท้ายอัสซานจ์ยอมประนีประนอมด้วยการยอมขึ้นศาลสหรัฐฯและสารภาพผิด โดยศาลจะลงโทษจำคุกแต่ปล่อยตัวเนื่องจากติดคุกที่อังกฤษมาหลายปี ตามที่สหรัฐฯได้ให้อังกฤษดำเนินการมาก่อนหน้านี้

อีกเรื่องคือกรณีของสโนว์เดนซึ่งเปิดเผยความลับของหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯในการลอบดักฟังการสนทนาของผู้นำสำคัญทั่วโลก และชาวอเมริกัน แต่รายสโนว์เดนหนีไปลี้ภัยในรัสเซียเลยรอดคุก

ในกรณีผู้ก่อตั้ง Telegram เคยถูกยกย่องให้เป็นนักต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการพูดเมื่อเป็นประโยชน์ต่อผลประโยชน์ของชาติตะวันตก  แต่ข้อกล่าวหาต่อพาเวล ดูรอฟ ผู้ก่อตั้ง Telegram สัญชาติรัสเซีย/ฝรั่งเศส ที่ปารีสฝรั่งเศส แสดงให้เห็นว่าชาติตะวันตกได้ละทิ้งคุณค่าที่เคยสนับสนุนเมื่อไม่กี่ปีที่แล้ว

ชายชาวรัสเซียวัย 39 ปี ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสเมื่อวันเสาร์ หลังจากเดินทางถึงปารีสจากอาเซอร์ไบจานด้วยเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว ดูรอฟยังถือพาสปอร์ตของฝรั่งเศส สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเซนต์คิตส์และเนวิสด้วย

ในการออกอากาศข่าวเมื่อเย็นวันจันทร์ ประธานาธิบดีวูชิชของเซอร์เบียกล่าวว่ากรณีของดูรอฟนั้น “น่าสนใจ” และเปรียบเทียบกับการข่มเหงจูเลียน อัสซานจ์ และเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน

“ในปี 2018 เมื่อรัสเซียมีแรงกดดันทางกฎหมายเล็กน้อยต่อเขา องค์กรกว่า 26 แห่งจากชาติตะวันตกลงนามในคำร้องขอให้รัฐรัสเซียหยุดการละเมิดเสรีภาพของเขา ผ่านไปห้าหรือหกปี มันกลายเป็นเรื่องปกติที่ [พวกเขา] จะจับกุมเขาและต้องการปิด Telegram ในชาติตะวันตก” วูชิชกล่าว

และยังกล่าวว่า“ทุกสิ่งทุกอย่างกลับตาลปัตร ความเป็นจริงเองก็ถูกเปลี่ยนแปลงให้เหมาะกับผลประโยชน์ของพวกเขา” อนึ่งฝรั่งเศสในวันจันทร์ได้เปิดเผยข้อกล่าวหาขั้นต้นมากมายต่อดูรอฟ โดยกล่าวหาว่าเจ้าพ่อ Telegram รายนี้ “อำนวยความสะดวก” ในกิจกรรมที่ผิดกฎหมายต่าง ๆ บนแพลตฟอร์มของเขา ตั้งแต่การค้ายาเสพติดและการฟอกเงิน ไปจนถึงสื่อลามกอนาจารเด็ก โดยการปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือกับผู้สอบสวนฝรั่งเศสที่กำลังตามหาบุคคลที่สามที่ไม่ได้ระบุชื่อ

ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ได้ปกป้องการจับกุมโดยยืนยันว่าข้อกล่าวหาต่อดูรอฟ “ไม่มีทางเป็นการตัดสินใจทางการเมือง”

เจ้าของ X อีลอน มัสก์ นักข่าวชาวอเมริกัน ทักเกอร์ คาร์ลสัน และนักลงทุน Silicon Valley เดวิด แซคส์ ได้ประณามการจับกุมดูรอฟว่าเป็นการโจมตีเสรีภาพในการพูด

สโนว์เดน ผู้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการสอดแนมของ NSA ต่อชาวอเมริกันและผู้นำต่างประเทศในปี 2012 กล่าวหาว่าฝรั่งเศสจับดูรอฟ “เป็นตัวประกัน” เพื่อเข้าถึงการสื่อสารส่วนตัวบน Telegram

วูชิชได้กล่าวถึงสถานการณ์ของดูรอฟในบริบทที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปวิจารณ์เซอร์เบียว่าไล่ล่าฝ่ายค้านทางการเมือง แต่ประธานาธิบดีเซอร์เบียกล่าวว่า สหภาพยุโรปมักจะทำร้ายและจับกุมผู้ประท้วงเป็นร้อย ๆ คน ขณะที่เบลเกรดอดทนต่อการจลาจลมากกว่า

“ทุกอย่างกลับหัวกลับหาง!” วูชิชกล่าว “เมื่อคุณอนุญาตเสรีภาพที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คุณก็กลายเป็นเผด็จการ แต่เมื่อพวกเขามีเสรีภาพน้อยลง พวกเขาก็ยิ่งพูดถึงมันมากขึ้น”

กรณีการจับกุมดูรอฟนี้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ออกแถลงการณ์ให้ฝรั่งเศสปฏิบัติตามขั้นตอนตามระเบียบพิธีการทางการทูตในฐานะที่เขาถือพาสปอร์ตของยูเออี

ส่วนรัสเซียที่เคยมีปัญหากับดูรอฟกลับพยายามใช้มาตรการทางกฎหมายและการทูตเพื่อช่วยดูรอฟ เพราะอย่างน้อยดูรอฟก็ถือสัญชาติรัสเซียด้วย

อนึ่งข่าววงในอ้างว่าเหตุที่ดูรอฟถูกจับกุมก็เพราะตะวันตกต้องการให้ดูรอฟเปิดเผยข้อมูลผู้ใช้บัญชีที่เป็นความลับขององค์กรเหมือนของเอฟบี ยูทูบ หรือไมโครซอฟท์ แต่ดูรอฟไม่ยอมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลตะวันตก จึงถูกจับกุมเพื่อรีดความลับ

นอกจากนี้ในระยะหลังมีผู้ใช้บริการเทเลกราฟที่เป็นชาวรัสเซียจำนวนมากขึ้น ซึ่งทางตะวันตกคงต้องการข้อมูลเหล่านี้ก็เป็นได้

อย่างไรก็ตามในเมื่อเอฟบี และสื่อทางเลือกของตะวันตกถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปิดกั้นการแสดงออกหรือการนำเสนอความจริงที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลสหรัฐฯ และอิสราเอล ตลอดจนขบวนการไซออนิสต์ ผู้คนที่อัดอั้นต่อเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความจริง จึงหันมาใช้แพลตฟอร์มของเทเลแกรมมากขึ้น รวมทั้งกลุ่มหัวก้าวหน้าในประเทศไทย

เรื่องนี้คงไม่จบง่ายๆนอกจากดูรอฟจะยอมเปิดเผยข้อมูลที่รัฐบาลตะวันตกต้องการ และอาจรวมถึงการปิดเทเลแกรมเหมือนการปิดวิกิลีกส์