ดันไทยเป็นผู้นำท่องเที่ยว ขึ้นแท่นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารของโลก
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร (1st International Symposium on Gastronomy and Sustainable Tourism 2024) โดยได้รับเกียรติจาก คุณศิรินทร์พร เดียวตระกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบวิจัย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ พร้อมด้วย ดร.พรชณิตว์ แก้วเนตร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและกิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวต้อนรับ และ รศ.ดร.พรรณี ผู้อำนวยการโครงการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารกล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน ทั้งนี้ภายในงานยัง จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงทางวิชาการและการวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำจาก 4 ประเทศ ได้แก่ University of Canterbury นิวซีแลนด์, Macao University of Science & Technology มาเก๊า, Kyungsung University เกาหลีใต้, และ University of Nueva Caceres ฟิลิปปินส์ เพื่อเป็นก้าวสำคัญที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งในด้านวิชาการและการวิจัย พร้อมทั้งผลักดันการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารไทยให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับโลก อย่างเต็มตัว ซึ่งการประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้ จัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กรุงเทพมหานคร
ดร. พรชณิตว์ แก้วเนตร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและกิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า สำหรับการเป็น Hub of Talents in Gastronomy Tourism ด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารนั้น ทางมหาวิทยาลัยสวนดุสิตได้แสดงถึงศักยภาพและความพร้อม ในการเป็นจุดเป็นศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารและการท่องเที่ยวเชิงอาหาร และมั่นใจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการขยายความร่วมมือกับเครือข่ายนักวิชาการระดับโลกในโครงการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญทางด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร (Hub of Talents in Gastronomy Tourism) เพื่อเป้าหมายอันสูงสุด คือ การทำให้ประเทศไทยสร้าง Soft Power อาหารไทยให้เป็นที่ประจักษ์ในระดับโลก โดยการประชุมนานาชาติได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ เพราะได้ขยายวงกว้างครอบคลุมถึง 10 มหาวิทยาลัยชั้นนำจากต่างประเทศ และได้รับการสนับสนุนจากวารสารวิชาการระดับโลกที่มีชื่อเสียงในฐานข้อมูล SCOPUS กว่า 20 วารสาร ซึ่งเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงในการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารไทยให้ก้าวสู่เวทีสากล และยังได้รับเกียรติจากวิทยากรระดับโลกที่จะมาร่วมแบ่งปันความรู้และวิสัยทัศน์ในฐานะ Keynote Speaker ไม่ว่าจะเป็น Prof. Dr. Colin Michael Hall จาก University of Canterbury นิวซีแลนด์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Gastronomy Tourism, Prof. Dr. Timothy Lee บรรณาธิการวารสาร International Journal of Tourism Research (SSCI), และ ศ.ดร. เทิดชัย ชูบำรุง ศาสตราจารย์ชั้นนำจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) มาถ่ายทอดแนวโน้มการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารในระดับโลก พร้อมกับ Workshop เพื่อเสริมทักษะการเขียนบทความวิจัยให้กับนักวิจัยและนักวิชาการไทย เพื่อส่งเสริมให้บทความวิจัยเหล่านี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำระดับโลก
นอกจากนี้ การประชุมยังเป็นโอกาสสำคัญในการจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงทางวิชาการและการวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำจาก 4 ประเทศ ได้แก่ University of Canterbury นิวซีแลนด์, Macao University of Science & Technology มาเก๊า, Kyungsung University เกาหลีใต้, และ University of Nueva Caceres ฟิลิปปินส์ ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งในด้านวิชาการและการวิจัย พร้อมทั้งผลักดันการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารไทยให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับโลกอย่างเต็มตัว
ด้าน รศ.ดร. พรรณี สวนเพลง ผู้อำนวยการโครงการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญทางด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร (Hub of Talents in Gastronomy Tourism) ในฐานะ Conference Chair กล่าวเสริมว่า การประชุมวิชาการระดับนานาชาติ 1st International Symposium on Gastronomy and Sustainable Tourism” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน International Social Sciences and Business Research Conference และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ โดยศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญฯ มีพันธกิจสำคัญในการรวบรวมผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย นักวิชาการ ปราชญ์ชาวบ้าน และผู้ประกอบการด้านอาหารในทุกระดับ จากทั้งในและต่างประเทศ เพื่อประสานและสนับสนุนให้อาหารส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาอาหารท้องถิ่นไทย ซึ่งเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่สำคัญของชาติ สู่การสร้าง Soft Power อาหารไทยในระดับโลก โดยในปี 2567 ได้ตั้งเป้าหมายหลักในการระดมผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขามากกว่า 100 คนทั่วโลก เพื่อร่วมกันพัฒนา “การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร” สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะการชูอาหารไทยให้เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ 5F (Fight, Food, Film, Fashion) เพื่อสร้าง Thai Food Soft Power ในระดับโลก โดยใช้นวัตกรรมและการวิจัยเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญฯ ยังเน้นการสร้างผลกระทบทางวิชาการ เศรษฐกิจ และสังคม โดยการบูรณาการ องค์ความรู้จากนักวิทยาศาสตร์และนักสังคมศาสตร์สู่การตีพิมพ์บทความวิจัยและการจัดประชุมเชิงวิชาการ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้สู่ระดับสากล อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ และสืบสานภูมิปัญญาอาหารท้องถิ่นไทย และมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร โดยความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ เพื่อยกระดับความเชี่ยวชาญของนักวิจัยและนักวิชาการในประเทศ ให้สามารถพัฒนาโจทย์การวิจัยที่สอดรับกับความต้องการของประเทศ และเผยแพร่องค์ความรู้ผ่านการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ