“เพื่อไทย”ส่งเทียบเชิญ "ปชป". ร่วมรัฐบาลแล้ว “สรวงศ์”เผยทิ้งอดีตไว้ข้างหลัง มั่นใจทำงานร่วมกันได้ “เฉลิมชัย”ขอให้รอฟังมติที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคว่าจะเข้าร่วมหรือไม่วันนี้  ยันไม่กังวลปมคุณสมบัตินั่งเก้าอี้รมต. 'เศรษฐา' อวย”อุ๊งอิ๊ง” เป็นผู้นำที่แข็งแกร่ง วิสัยทัศน์เฉียบแหลม ด้าน “เรืองไกร” ร้อง “กกต.” สอบ”อุ๊งอิ๊ง”มีเหตุต้องพ้นจากนายกฯ หรือไม่

เมื่อวันที่ 28 ส.ค.67 เวลา 09.20 น. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเข้าอาคารชินวัตร 3 โดยไม่ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน เพียงแต่ทักทายกับสื่อมวลชนอย่างอารมณ์ดี  ขณะเดียวกับที่มีการจับตาการส่งเทียบเชิญพรรคการเมืองต่างๆ เข้าร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากเมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา นายสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวภายหลังที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยมีมติไม่สามารถร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐได้ แต่ยอมรับว่าพรรคประชาธิปัตย์และพรรคการเมืองขนาดเล็กต่างๆ มีความเป็นไปได้ที่จะไปเทียบเชิญเข้าร่วมรัฐบาล

โดย นายสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เปิดเผยถึงเทียบเชิญพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล ว่า วันนี้จะมีการพูดคุยกับ นายเดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่รัฐสภาก่อน เนื่องจากวันนี้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยหลังการหารืออาจจะมีการยื่นหนังสือเทียบเชิญอย่างเป็นทางการ

ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 11.30 น. นายสรวงศ์ เทียนทอง ส.ส.สระแก้ว และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ส่งหนังสือเทียบเชิญพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลผ่าน นายเดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรค ,นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แล้ว โดยมีส.ส.ของทั้ง 2 พรรคร่วมเป็นสักขีพยาน และทำต่อหน้าสื่อมวลลน ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างชื่นมื่น

โดย นายสรวงศ์ กล่าวว่า การพูดคุยกับพรรคประชาธิปัตย์นั้นเกิดขึ้นเมื่อค่ำวันที่ 27 ส.ค. หลังจากที่มติของกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยออกมา ประสานไปยัง นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายเดชอิศม์ ว่าจะยื่นหนังสืออย่างเป็นทางการเพื่อเชิญให้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารประเทศเป็นรัฐบาลร่วมกัน ส่วนโควตารัฐมนตรีที่จะจัดสรรให้พรรคประชาธิปัตย์นั้น ตนไม่ทราบ เพราะเป็นอำนาจของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่จะพิจารณาเสนอชื่อแต่งตั้งต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามถึงการจับมือร่วมกันครั้งนี้ หลายฝ่ายมองว่าหักหลังประชาชนและบางคนมองว่าพรรคเพื่อไทยตระบัตสัตย์ นายสรวงศ์ กล่าวว่า ยอมรับว่าอุดมการณ์ทางการเมืองในอดีตไม่เคยเหมือนกัน แต่ปัจจุบันที่คนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารพรรค สมาชิกพรรคมุ่งหน้าทำงานเพื่อประชาชน และสิ่งที่เห็นตรงกันคือ ประเทศถอยหลังไปหลายปีถึงเวลาที่ต้องเดินหน้าร่วมกัน ส่วนความไม่เข้าใจหรือขัดแย้งขอให้ทิ้งไว้ข้างหลัง สำหรับการทำงานของพรรคประชาธิปัตย์ที่ผ่านมา และการบริหารของผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์สามารถทำงานกับพรรคเพื่อไทยได้

นายสรวงศ์ กล่าวอีกว่า เรื่องเมื่อก่อนก็คือเมื่อก่อน แต่ปัจจุบันคือมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ทำงานเพื่อประเทศและประชาชน ทั้งนี้ไม่มีส.ส.ของพรรคเพื่อไทยคัดค้าน  เราเป็นพรรคการเมืองร่วมต่อสู้กันมานาน แต่ขณะนี้เป็นคนรุ่นใหม่ดูแลพรรค อุดมการณ์ส่วนอุดมการณ์​ แต่สามารถทำงานร่วมกันได้แน่นอน  ส่วนที่ถูกมองว่าตระบัตสัตย์นั้น ใครจะว่าอะไรก็ว่าไป ตนขอเอาผลงานพิสูจน์ และขอโอกาสให้นายกรัฐมนตรีและครม.ใหม่ได้ทำงาน

เมื่อถามถึงการเทียบเชิญพรรคและส.ส.กลุ่มอื่นๆ  นายสรวงศ์  กล่าวว่า พร้อมจะเทียบเชิญและต่อสายถึงพรรคการเมืองอื่นๆด้วย แต่ขณะนี้ยังไม่ได้พิจารณาว่าจะพูดคุยกับพรรคไทยสร้างไทยหรือกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา ที่ประกาศแยกตัวเป็นอิสระจากพรรคพลังประชารัฐ
ด้าน นายเดชอิศม์ กล่าวขอบคุณพรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำตั้งรัฐบาล ที่ไว้วางใจพรรคประชาธิปัตย์ช่วยดูแลประเทศและพัฒนาประเทศ ทั้งนี้หลังจากนี้พรรคประชาธิปัตย์จะนำเข้าที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคและส.ส. ในวันที่ 29 ส.ค. ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายมองว่าพรรคประชาธิปัตย์มีอุดมการณ์ไม่เหมือนพรรคเพื่อไทยนั้น ยอมรับว่าเป็นเหตุการณ์เมื่อ 20- 30 ปีก่อน  แต่ปัจจุบันการเดินหน้าไปด้วยกันได้ ถือเป็นสิ่งดีงาม

ผู้สื่อข่าวถามถึงการคำนึงถึงฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีบางส่วนที่แสดงความผิดหวังแล้ว นายเดชอิศม์ กล่าวว่า พรรคไม่มีขัดแย้ง มีแต่ความรักและเข้าใจและให้อภัย ทั้งนี้ก่อนการพิจารณาใดๆ ได้สอบถามประชาชนที่เป็นฐานเสียงในพื้นที่มาก่อนแล้ว ส่วนเสียง ส.ส.ในพรรคประชาธิปัตย์ยอมรับว่ามีความเห็นต่างทั้งเข้าร่วมและไม่เข้าร่วม แต่เมื่อเป็นมติแล้วต้องปฏิบัติตามมติพรรค ขณะที่การทำงานในสภาหลังจากนั้นต้องยึดมติพรรค เมื่อถามถึงโควตารัฐมนตรี  นายเดชอิศม์ กล่าวว่า อยู่ที่นายกรัฐมนตรีว่าจะให้กระทรวงใด พร้อมปฏิเสธข่าวที่ตนและนายเฉลิมชัยได้เข้าไปกรอกประวัติแล้ว

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ก่อนออกจากที่ทำการพรรค ถึงกรณีที่ได้รับหนังสือเชิญร่วมรัฐบาลจากพรรคเพื่อไทยแล้ว พรรคประชาธิปัตย์จะได้ข้อยุติในวันที่ 29 ส.ค.นี้หรือไม่ ว่า ขอให้รอการประชุมในวันที่ 29 ส.ค.  เมื่อถามว่า กังวลเรื่องคุณสมบัติสำหรับการเป็นรัฐมนตรีหรือไม่  นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ไม่กังวลอะไรเลย รอให้ที่ประชุมพรรคมีมติอย่างเดียว ขอให้รอมติที่ประชุมระบุว่าอย่างไรก็ตามนั้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีหลายคนออกมาพูดวิจารณ์เรื่องคุณสมบัติของคนที่จะมาเป็นรัฐมนตรี นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ไม่เป็นไร ไม่ใช่หน้าที่เรา ถ้าจบ มันก็จบ มันเป็นไปตามที่สามารถจะเป็นได้  เมื่อถามว่า เท่าที่ได้ตรวจสอบคุณสมบัติของตัวเอง ยืนยันได้ใช่หรือไม่ว่าตัวเองไม่มีปัญหา นายเฉลิมชัย กล่าวว่า เขามีคนเช็กอยู่แล้ว ขอบคุณมาก เดี๋ยวรอพรุ่งนี้ เมื่อถามอีกว่า ได้พูดคุยกับ นายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แล้วหรือไม่ นายเฉลิมชัย เลี่ยงตอบคำถาม โดยกล่าวสั้นๆ ว่า “พรุ่งนี้เจอกันครับ” ก่อนจะนั่งรถยนต์ออกไปจากที่ทำการพรรค


ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของ นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา นายเศรษฐาร่วมงานครบรอบ 80 ปี เฉลิมฉลอง 8 ทศวรรษของความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างอินเดียและไทย ที่โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค จัดโดย หอการค้าอินเดีย-ไทย (ITCC-India-Thai Chamber of Commerce) เป็นส่วนหนึ่งของการยืนยันความสำเร็จของทั้งสองประเทศในการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าทวิภาคีตลอดระยะเวลา 80 ปีที่ผ่านมา และภายในงานมีการมอบรางวัล Lifetime Achievement Award ให้แก่ นายอาลก โลเฮีย ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส เพื่อยกย่องผลงานอันโดดเด่นในฐานะผู้นำธุรกิจที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับชาวไทยและชาวอินเดียด้วย

นายเศรษฐา ได้กล่าวสุนทรพจน์ตอนหนึ่ง โดยเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างไทยและอินเดียตลอด 80 ปีที่ผ่านมา และเชื่อว่ามีโอกาสใหม่ๆ ที่จะเกิดจากความร่วมมือของทั้งสองประเทศในอนาคต แม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยช่วงที่ผ่านมามีปัญหาด้านเสถียรภาพ แต่ก็ยังเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศ และเชื่อใจว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำที่แข็งแกร่ง มีความสามารถ และมีวิสัยทัศน์ทางธุรกิจที่เฉียบแหลม จะสามารถจะสานต่อรากฐานความร่วมมือระหว่างไทยและอินเดียให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นกว่าเดิม
    
วันเดียวกัน  นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า วันนี้ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้ กกต. ตรวจสอบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  ว่า ได้มีหนังสือลาออกจากกรรมการบริษัทต่างๆ เมื่อวันที่ 15 ส.ค.67 จริงหรือไม่ เหตุใดจึงจดทะเบียนกรรมการออกในวันที่ 19 ส.ค.67 หลังจากที่ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 ส.ค.67 แล้ว และกรณีดังกล่าวจะเข้าข่ายเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่ โดยมีความในหนังสือเป็นข้อ ๆ ดังนี้

ข้อ 1. เมื่อวันที่ 26 ส.ค.67 เว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา หัวข้อ 'แพทองธาร' ลาออก กก.ธุรกิจเกลี้ยง 21 บริษัท- 'อัลไพน์' ด้วย หลัง 'เศรษฐา' พ้นวันเดียว ลงข่าวพร้อมภาพ โดยมีข้อความข่าวบางส่วน ดังนี้ "นายกฯ'อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร' ลาออก กก.ธุรกิจเครือชินวัตรเกลี้ยง 21 บริษัท มีสนามกอล์ฟอัลไพน์ด้วย พบ ทำหนังสือมอบอำนาจ 15 ส.ค.2567 ส่งลูกน้องยื่นจดทะเบียนกรมพัฒนาฯ 19 ส.ค. หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย'เศรษฐา ทวีสิน'พ้นตำแหน่งคดีตั้ง'พิชิต' 14 ส.ค. เพียงวันเดียว


น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรือ 'อุ๊งอิ๊ง' ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 18 ส.ค.67 (นายกฯคนที่ 31 เป็นนายกฯสุภาพสตรีคนที่ 2 ของทำเนียบนายกฯ) และ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย บุตรสาวคนเล็กของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ นักธุรกิจผู้มั่งคั่งของเมืองไทย ปูมหลังทางการธุรกิจ เป็นกรรมการบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทย จำนวน 23 บริษัท ในจำนวนนี้เลิกดำเนินการ 2 บริษัท ยังเปิดดำเนินการ 21 แห่ง มูลค่าการถือหุ้นเกือบหมื่นล้านบาท ตามที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานก่อนหน้านี้ 

ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า บริษัทดังกล่าวได้มอบอำนาจให้บุคคลอย่างน้อย 3 คน ยื่นจดทะเบียนลาออกจากกรรมการของนางแพรทองธารทั้ง 21 แห่งแล้ว ตัวอย่างดังนี้..." (มีตัวอย่างภาพเป็นเอกสารของ 4 บริษัท แนบ)


ข้อ 2. จากตัวอย่างภาพเป็นเอกสารของ 4 บริษัท ที่สำนักข่าวอิศราแนบมาในข่าว มีข้อควรสังเกต คือคำขอจดทะเบียนบริษัท (แบบ บอจ.1) ลงรับวันที่ 19 ส.ค.67 แต่มีข้อความในท้ายของแบบว่า "ขอรับรองว่าผู้ขอจดทะเบียนได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าข้าพเจ้าจริง เมื่อวันที่ 15 ส.ค.67 ลงชื่อ สมาชิกวิสามัญแห่งเนติบัณฑิตยสภา" และคำขอดังกล่าว ลงนามโดย น.ส.พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ และนายอุดมศักดิ์ โง้วศิริ ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจ

คำรับรองการจดทะเบียนบริษัท ลงวันที่ 19 ส.ค.67 (2) ระบุว่า "ได้มีหนังสือลาออกจากตำแหน่งกรรมการของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2567 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2567 บริษัทได้รับเมื่อ 15 ส.ค.67 หนังสือมอบอำนาจของบริษัท ลงวันที่ 15 ส.ค.67 แต่ไปเสียค่าอากรในวันที่ 19 ส.ค.67

ข้อ 3. จากเฟซบุ๊กพรรคเพื่อไทย วันที่ 15 ส.ค.67 เวลา 17.30 น. ระบุว่า "พรรคเพื่อไทยมีมติเสนอชื่อ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของประเทศไทย เพราะปากท้องประชาชนรอไม่ได้ พร้อมเดินหน้าสานต่อนโยบายที่ให้ไว้กับประชาชน"
ข้อ 4. จากข่าวของสำนักข่าวอิศรา และเฟซบุ๊กพรรคเพื่อไทย กรณีจึงมีเหตุอันควรสงสัยว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ลาออกจากกรรมการบริษัทต่าง ๆ ในวันที่ 15 ส.ค.67 จริงหรือไม่ และถ้ามีการมอบอำนาจลงวันที่ 15 ส.ค.67 เหตุใดจึงไม่ไปจดทะเบียนในวันที่ 16 ส.ค.67 ซึ่งเป็นวันศุกร์ และทำไม จึงไปจดทะเบียนในวันที่ 19 ส.ค.67 ซึ่งห่างกันอีก 4 วัน กรณีจึงมีเหตุอันควรสงสัย  เป็นต้น 

ดังนั้นการลาออกจากกรรมการบริษัทต่าง ๆ ของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ในวันที่ 15 ส.ค.67 แต่ไปจอทะเบียนวันที่ 19 ส.ค.67 จึงมีเหตุอันควรตรวจสอบว่า วันที่ลาออกจริงนั้น คือวันที่ใด มีการทำเอกสารย้อนหลัง หรือไม่ หากตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่ามีการลาออกหลังจากวันที่ 16 ส.ค.67 จะมีผลให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่ กล่าวโดยสรุป ขณะนี้ ยังอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมอีก ซึ่งรอให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องส่งข้อมูลมาให้ และจะนำมาตรวจสอบเพื่อส่งให้ กกต. พิจารณาต่อไป