เปิดมาตรการเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย “ภูมิธรรม” ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนในพื้นที่ หวังให้ประชาชน กลับมาประกอบอาชีพและดำเนินชีวิตตามปกติได้โดยเร็ว

วันที่ 28 ส.ค.67 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี เผยว่า กระทรวงการคลังได้ออกมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ตลอดจนสำรวจความต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมด้านต่าง ๆ ครอบคลุมทุกเป้าหมายทั้งเกษตรกร ประชาชน และผู้ประกอบการรายย่อย ผ่าน 7 สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialized Financial Institutions: SFIs) เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเชิงพาณิชย์ในสถานการณ์น้ำท่วม ดังนี้

1. ธนาคารออมสิน : พักต้น ลดดอกครึ่งหนึ่ง นาน 3 เดือน กู้ฉุกเฉิน 0% ไม่ต้องมีหลักประกัน กู้ซ่อมบ้านได้ 100%  อีกทั้งมีมาตรการพักชำระหนี้ โครงการสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ โครงการสินเชื่อเคหะแก่ผู้ประสบภัย ประชาชนสามารถแจ้งความประสงค์ผ่านทางเว็บไซต์ธนาคารออมสินhttps://www.gsb.or.th/ หรือติดต่อธนาคารออมสินในพื้นที่ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป 

2. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร : ช่วยเหลือลูกค้าผู้ประสบภัย อาทิ มาตรการพักชำระหนี้ ได้แก่ กรณีหนี้ถึงกำหนดชำระหรือหนี้ค้างชำระ 0 - 3 เดือน และ กรณีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ มาตรการเสริมสภาพคล่องและฟื้นฟูลูกค้า วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท สำหรับเกษตรกรผู้ประสบภัย สามารถแจ้งความประสงค์ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 02 555 0555 ตลอด 24 ชั่วโมง

3. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ : บรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกค้าประชาชน อาทิ มาตรการลดเงินงวดและลดอัตราดอกเบี้ย มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ  มาตรการประนอมหนี้ มาตรการสินไหมเร่งด่วน สำหรับลูกค้าที่ประสงค์ขอรับบริการตามมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปี 2567 สามารถติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2567 โดยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธอส. ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ G H Bank Call Center โทร 0 2645 9000 หรือ Facebook เพจ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และ ติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ Application : GHB ALL GEN

4. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย : ช่วย SMEประสบอุทกภัย ‘พัก - ลด - ขยาย - ปรับ - เติม’ ฟื้นฟูกิจการ ช่วยเหลือลูกค้าธนาคารที่ได้รับผลกระทบ ครอบคลุมพื้นที่ตามที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย จะมีประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติเพิ่มเติมต่อไป อาทิ มาตรการพักชำระหนี้ พักชำระหนี้เงินต้นให้สอดคล้องกับระดับความรุนแรงของผลกระทบและลักษณะของธุรกิจแต่ละราย โดย พักชำระหนี้เงินต้น มาตรการสินเชื่อเติมทุนสำหรับซ่อมแซมฟื้นฟูกิจการ  ได้เปิดบริการ Call Center 1357 ไว้รับแจ้งขอความช่วยเหลือ 

5. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย : ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย อาทิ มาตรการช่วยเหลือสำหรับวงเงินกู้ระยะสั้น ขยายระยะเวลาตั๋วสัญญาใช้เงินสูงสุด 180 วัน มาตรการช่วยเหลือสำหรับวงเงินกู้ระยะยาว ขยายระยะเวลาเงินกู้สูงสุด 7 ปี  ผู้ประสบภัยสามารถแสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการผ่านทางเว็บไซต์ https://www.exim.go.th/ ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป หรือสอบถามข้อมูล โทร. 02 169 9999

6. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ออกมาตรการสำหรับกลุ่มลูกค้าเดิมที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ จะได้รับการพักชำระหนี้เงินต้น ชำระเฉพาะอัตรากำไร เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน ทั้งนี้ สามารถยื่นคำขอเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป หรือสอบถามข้อมูล โทร. 02 650 6999 หรือสายด่วน 1302

7. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) : ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าและลูกหนี้ของ บสย. ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยปี 2567 อาทิ มาตรการพักชำระค่าธรรมเนียม มาตรการพักชำระค่างวด โดยขอเข้าร่วมโครงการได้จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2567 สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและรายละเอียดการเข้าร่วมมาตรการ ได้ที่สำนักงานเขตในพื้นที่ หรือ ช่องทาง LINE OA TCG First: @tcgfirst และ บสย. Call Center โทร. 02 890 9999

“รัฐบาลได้กำชับทุกหน่วยงานเร่งออกมาตรการเยียวยาประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือด้านการเงิน บรรเทาภาระในการฟื้นฟูบ้านเรือน กิจกรรมที่ได้รับผลกระทบ ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งเตือนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและรับบริการมาตรการช่วยเหลือตามนโยบายรัฐอย่างรวดเร็วและทั่วถึง เพื่อประชาชน SMEs พี่น้องเกษตรกรกลับสู่การประกอบอาชีพและดำเนินชีวิตตามปกติได้โดยเร็ว” นายภูมิธรรมกล่าว