วันที่ 28 ส.ค.67 เครือข่ายสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย (คสคท.) ยื่นแถลงการณ์ 2 ข้อ ร้องรัฐ รับฟังความคิดเห็นสหกรณ์ 1. ยกเลิกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการหักเงินเดือน เงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 2. ขอถอนร่างกฎกระทรวง การบริหารจัดการและการกำกับดูแลทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน พ.ศ... โดยในวันนี้ (28 สิงหาคม 2567) สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย(สสท.) ประสานงานช่วยเหลือสหกรณ์ ที่ได้รับความเดือดร้อนจาก(ร่าง) กฎกระทรวงฯ โดยนายปัณฐวิชญ์ มุ่งสมัครศรีกุล ผู้อำนวยการ สสท. ได้ประสานงานและนำเครือข่ายสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย เดินทางเข้าพบและขอยื่นหนังสือ โดยมี นายณัฐพงษ์ สุปริยศิลป์ ประธานคณะกรรมาธิการ และ สส.วรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน ร่วมรับมอบหนังสือดังกล่าว เบื้องต้น ทางกรรมาธิการจะเร่งนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมกรรมาธิการ ภายในวันที่ 11 กันยายน 2567 เนื่องจากเห็นถึงความสำคัญเรื่องของความยั่งยืนและความมั่นคงของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนฯ ทั้งนี้ ยินดีรับฟังและหาทางออกร่วมกัน ณ อาคารรัฐสภา

ตามที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ได้ลงนามในหนังสือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ กษ 1115/5882 ลว. 5 มิถุนายน 2567 ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาอนุมัติหลักการกฎกระทรวงการบริหารจัดการและการกำกับดูแลทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ...เพื่อประกาศและถือใช้กฎกระทรวงฉบับดังกล่าว และข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19  ธันวาคม 2566  รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนรวมถึงสมาชิกสหกรณ์  โดยผลักดันให้สหกรณ์และสถาบันการเงินปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เหลือ ร้อยละ 4.75 และกำหนดมาตรการให้สมาชิกสหกรณ์มีเงินได้รายเดือนคงเหลือภายหลังหักชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่า ร้อยละ 30 และเมื่อหักเงินกู้ได้ ร้อยละ 70 ต้องเฉลี่ยกับเจ้าหนี้ทุกราย   กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้รับเรื่องพร้อมขอความร่วมมือไปยังสหกรณ์ต่างๆ  และสหกรณ์จังหวัด ตั้งคณะทำงานฯ ออกชี้แจงไปยังส่วนที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศแล้ว  กระทรวงศึกษาธิการ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้แจ้งให้ส่วนราชการผู้หักเงิน ถือปฏิบัติตามระเบียบ กระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการหักเงินเดือน เงินบำเหน็จ  บำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 ซึ่งสาระสำคัญในระเบียบดังกล่าว   มีข้อกำหนดเกี่ยวกับ “ผู้กู้ซึ่งมีรายได้รายเดือนจะต้องมีเงินเหลือสุทธิหลังจากหักชำระหนี้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30” 

ณ ปัจจุบันข้อเท็จจริงปรากฏว่า ข้าราชการครูได้ยื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้ดำเนินการหักเงินเดือนหรือเงินบำเหน็จบำนาญเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการหักเงินเดือนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่ส่วนราชการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 กล่าวคือเมื่อหักชำระหนี้แล้ว ต้องเหลือเงินเดือนไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ อร 83/2567 และคดีหมายเลขแดงที่ อร 92 / 2567 สรุปว่า ผู้มีหน้าที่หักเงินได้รายเดือนในหน่วยงานกระทรวงศึกษาธิการไม่มีหน้าที่ดำเนินการหักเงินเดือน หรือเงินบำเหน็จบำนาญเพื่อชำระหนี้เงินกู้ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว (เหลือเงินเดือนไม่น้อยกว่า ร้อยละ 30) แต่อย่างใดโดยมีเหตุผลและสาระสำคัญดังนี้

1. แม้ว่ารัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการจะมีอำนาจออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการดังกล่าว เพื่อใช้บังคับแก่ส่วนราชการที่อยู่ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการก็ตาม แต่การออกระเบียบเช่นว่านั้นจะต้องนำไปประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เสียก่อนจึงจะมีผลบังคับใช้ได้ ดังนั้นเมื่อระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการหักเงินเดือน เงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 ยังมิได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงไม่มีสภาพใช้อย่าง กฎ 

2. เมื่อพิจารณาข้อ 7 ของระเบียบดังกล่าว ยังขัดแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 42/1 ที่บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ในการหักเงินเดือนข้าราชการที่เป็นสมาชิกสหกรณ์เพื่อชำระหนี้หรือภาระผูกพันอื่นที่มีต่อสหกรณ์ ให้แก่สหกรณ์ตามจำนวนที่สหกรณ์แจ้งไป จนกว่าหนี้หรือภาระผูกพันนั้นระงับสิ้นไป และขัดแย้งกับข้อ 30 ของระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จบำนาญ เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่ม และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ.2550 ที่กำหนดให้ทำหนังสือให้ความยินยอมของข้าราชการ หรือผู้มีสิทธิรับบำเหน็จบำนาญ ที่ให้ส่วนราชการหักเงินเดือนหรือเงินบำเหน็จบำนาญเพื่อชำระหนี้ให้แก่สหกรณ์โดยมีผลผูกพันตลอดไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น

อนึ่ง ก่อนที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาในคดีดังกล่าว กรมส่งเสริมสหกรณ์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอร่างกฎกระทรวง การบริหารจัดการและการกำกับดูแลทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ โดยส่วนหนึ่งของร่างกฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดให้เมื่อหักเงินชำระหนี้สหกรณ์แล้ว สมาชิกต้องมีเงินเดือนคงเหลือสุทธิ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ซึ่งขัดแย้งต่อพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 42/1 เช่นกัน

ด้วยอาศัยเหตุผลที่ได้เรียนมาข้างต้น เครือข่ายสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนียนแห่งประเทศไทยขอเรียกร้องให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง

1. ยกเลิกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการหักเงินเดือน เงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551

2. ขอถอนร่างกฎกระทรวง การบริหารจัดการและการกำกับดูแลทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน พ.ศ...ตามหนังสือที่ กษ.1115/5882 รว. 4 มิ.ย.2567 ซึ่งลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา อนุมัติหลักการกฎกระทรวงฯ และนำกลับมารับฟังความคิดเห็นตลอดจนการทบทวนอีกครั้งหนึ่ง