มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)
สกัดโปรตีนจากกากงาด้วยโบรมิเลน โปรตีนพืชทางเลือกใหม่สำหรับคนรักสุขภาพ
รศ.ดร.ณัฎฐา เลาหกุลจิตต์ ประธานหลักสูตรสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวเคมี คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี และหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแปรรูปและเกษตรอาหารเชิงหน้าที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการสกัดสารจากพืช และรับผิดชอบด้านวิทยาศาสตร์สารให้กลิ่นรส สารสกัดและสารออกฤทธิ์เชิงหน้าที่ กล่าวว่า ปัจจุบันคนหันมาบริโภคโปรตีนจากพืชมากขึ้น และกลายเป็นโปรตีนทางเลือกสำหรับกลุ่มของคนรักสุขภาพ และกลุ่มคนที่แพ้นมวัว รวมถึงคนที่ไม่ทานเนื้อสัตว์
“มจธ. ได้คิดค้นและพัฒนาการสกัดโปรตีนจากพืชหลายชนิด อาทิ ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ข้าว เมล็ดทานตะวัน สาหร่ายผมนาง เห็ด ด้วยกระบวนการย่อยสลายด้วยเอนไซม์ (Enzymatic hydrolysis) ที่มีจุดเด่นคือสามารถย่อยสลายโมเลกุลหรือพันธะโปรตีนให้มีขนาดที่เล็กลง จนอยู่ในระดับเพปไทด์และกรดอะมิโน มีสมบัติที่ร่างกายสามารถดูดซึมได้ดีและออกฤทธิ์ทางชีวภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายด้าน เช่น ช่วยควบคุมการทำงานของระบบต่างๆ และลดความเสี่ยงของการเกิดโรคบางชนิด ได้แก่ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ควบคุมความดันโลหิต ลดน้ำตาลในเลือด ลดการอยากอาหาร และยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค รวมทั้งป้องกันการเกิดมะเร็ง มีสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ควบคุมระดับคอเลสเตอรอล ป้องกันโรคกระดูกพรุน ลดโปรตีนที่ทำให้เกิดการแพ้” รศ.ดร.ณัฎฐา ให้ข้อมูล
จากความรู้เหล่านี้ เป็นที่มาของ “กรรมวิธีการผลิตโปรตีนไฮโดรไลเซทกากงาใช้เป็นอาหารสุขภาพ” เพราะ โปรตีนไฮโดรไลเซทจากงา เป็นสารที่ให้กลิ่นรสที่ดีมีความเฉพาะตัว นอกจากนั้นยังมีประสิทธิภาพในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดี ช่วยยับยั้งไขมันและการเกิดออกซิเดชัน (Oxidation) ได้ดี และสามารถพัฒนาทำเป็นผง สามารถชงดื่มได้ทันที หรือเติมในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ โดยเป็นการนำกากงาที่เหลือจากการสกัดน้ำมันออกหมดแล้ว มาย่อยโดยการใช้โบรมิเลนจากสับปะรด เพราะพบว่า โปรตีนสกัดจากกากงาด้วยสับปะรด ทำให้ได้กลิ่นรสเฉพาะตัวที่เหมือนช็อกโกเลต ซึ่งไม่พบในธัญพืชชนิดอื่น
และนอกจากคิดค้นและพัฒนาการสกัดโปรตีนพืชด้วยกระบวนการย่อยสลายด้วยเอนไซม์แล้วทีมวิจัยฯ ยังได้มีการพัฒนาเครื่องสกัดโปรตีนพืชด้วยไฮโดรไลเซท ( Application of protein hydrolysate as bio-stimulant) เป็นระบบ continuous หรือ กึ่งอัตโนมัติ ขนาด 250 ลิตร สามารถย่อยโปรตีนได้อย่างรวดเร็วภายใน 2-3 ชั่วโมง เพื่อรองรับกับความต้องการจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นการทำงานร่วมกับบริษัทเอกชน โดยได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ซึ่งเครื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการจดสิทธิบัตร ซึ่งผู้ประกอบการหรือผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ รศ.ดร.ณัฎฐา เลาหกุลจิตต์ คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี