พช. จัดประชุมชี้แจงผ่านระบบออนไลน์ สร้างการรับรู้ และเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการ OTOP 4-5 ดาว ประเภทอาหาร เครื่องดื่ม และสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสู่ระดับสากล
วันที่ 28 ส.ค.67 ณ ห้อง Warroom ชั้น 5 กรมการพัฒนาชุมชน นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานเปิดกิจกรรม kick off โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP Premium สู่สากล ประเภทอาหาร เครื่องดื่ม และสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร ผ่านระบบออนไลน์ (Zoom) โดยมีผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน นักวิชาการพัฒนาชุมชนจังหวัด และผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP กลุ่มเป้าหมาย เข้าร่วมกิจกรรม โดยปีนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด New Era of Excellence OTOP PREMIUM ความเป็นเลิศที่เหนือระดับ OTOP PREMIUM
นายวรงค์ แสงเมือง กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชนได้มีการขับเคลื่อนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Premium สู่สากล ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 จากผลการดำเนินงานการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Premium สู่สากล ที่ผ่านมา มีผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม โดยส่งเสริมให้มีการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสร้างให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม โดยนำแนวความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ให้เป็นสินค้าที่มีอัตลักษณ์ของชุมชน มีการสร้างเรื่องราว การปรับปรุงรูปแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ ตลอดจนการเพิ่มช่องทางการตลาดออนไลน์ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด จะส่งผลให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับผู้ผลิต ผู้ประกอบการอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
ด้านนายไพโรจน์ โสภาพร ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรม Kick off ในวันนี้เป็นการประชุมชี้แจงเพื่อสร้างการรับรู้และเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานโครงการฯ ซึ่งประกอบด้วย 4 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมที่ 1 สร้างความรู้ความเข้าใจ เพิ่มทักษะด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาด การประชาสัมพันธ์ พร้อมทั้งให้คำปรึกษาในด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับกลุ่มเป้าหมาย กิจกรรมที่ 2 ยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP ให้เป็นสินค้า Premium กิจกรรมที่ 3 จัดทำและตีพิมพ์หนังสือผลิตภัณฑ์ OTOP Premium สู่สากล โดยจัดทำเป็น 2 ภาษา (ไทยและอังกฤษ) กิจกรรมที่ 4 จัดกิจกรรมทดสอบตลาดออนไลน์และออฟไลน์
สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการฯ ในครั้งนี้ คือ ผลิตภัณฑ์ OTOP ที่ได้รับการคัดสรรฯ ระดับ 4 - 5 ดาว ในปี พ.ศ. 2565 ประเภทอาหาร เครื่องดื่ม และสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร จำนวน 100 ผลิตภัณฑ์ ที่ได้จากการสำรวจโดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด