สถานีพัฒนาที่ดินน่าน ได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไร่ร้าง ไร่หมุนเวียน ให้เหมาะสมสำหรับการปลูกพืชบนพื้นที่สูง และให้ใช้ประโยชน์พื้นที่ได้อย่างยั่งยืน และส่งเสริมระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ให้เหมาะสมสำหรับปลูกกาแฟ ภายใต้ “โครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน” ตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน สนับสนุนการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างดินในแปลงกาแฟ สนับสนุนปูนโดโลไมท์ มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการพัฒนาที่ดิน การใช้สารไล่แมลงจากสมุนไพร การทำปุ๋ยหมัก และน้ำหมักชีวภาพจากสารเร่งจุลินทรีย์ พด.ต่างๆ

นายจิระชัย กองกุณะ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กล่าวว่า ปี พ.ศ. 2547 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเสด็จทอดพระเนตรบ้านสะจุก บ้านสะเกี้ยง ซึ่งเป็นพื้นที่ของป่าต้นน้ำน่าน ทรงทอดพระเนตรเห็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ ที่ถูกทำลาย เกษตรกรมีการบุกรุกพื้นที่ป่า เกษตรกรมีความยากจน และไม่มีอาชีพที่มั่นคง จึงรับสั่งให้ จัดตั้ง “โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง” บ้านสะจุก สะเกี้ยง ตามพระราชดำริ ตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ และให้เกษตรกรศึกษาการใช้ประโยชน์ที่ดินบนพื้นที่สูง เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่

หลังจากนั้นใน ปี พ.ศ. 2549 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สนองโครงการอันเนื่องในพระราชดำริ จัดตั้ง “โครงการรักน้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน” ลุ่มน้ำขุนน่าน โดยครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 105,412.61 ไร่ มีทั้งหมด 15 หมู่บ้าน โดยมีหมู่บ้านสะจุก และหมู่บ้านสะเกี้ยง เป็นพื่นที่หลัก ครอบคลุมพื้นที่ในอำเภอเฉลิมพระเกียรติ และอำเภอบ่อเกลือ ซึ่งเป็นพื้นที่ของต้นน้ำน่าน ที่ไหลลงเขื่อนสิริกิติ์ โดยสถานีพัฒนาที่ดินน่าน สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 7 กรมพัฒนาที่ดิน ได้เข้ามาบูรณาการร่วมกันกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเริ่มจากการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินบนพื้นที่สูง การจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ เช่นการขุดนาขั้นบันได การปลูกหญ้าแฝก การปรับปรุงบำรุงดิน โดยการใช้ปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ ร่วมกับการใช้ปูนโดโลไมท์ ในการปรับปรุงดินกรด และหลังจากที่เกษตรกรทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตกาแฟ มีการตัดแต่งและดูแลรักษาแปลงกาแฟ ซึ่งเกษตรกรจะต้องมีการเก็บตัวอย่างดิน ร่วมกับวิเคราะห์ดิน ก่อนที่จะมีการใส่ปุ๋ย

ดังนั้นการตรวจตัวอย่างดิน จะทำในช่วงหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยเก็บตัวอย่างดิน และวิเคราะห์ธาตุอาหารในดินเบื้องต้น เช่นการวิเคราะห์ pH การวิเคราะห์ปริมาณไนโตรเจน ปริมาณฟอสฟอรัส และปริมาณโพแทสเซียมในดิน ซึ่งทำให้เกษตรกรทราบว่าดินมีค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) อย่างไร และมีปริมาณธาตุอาหารเท่าไหร่ หลังจากนั้นจึงมีการใส่ปุ๋ย หรือการใช้ปุ๋ยหมักในแปลง เพื่อเพิ่มผลผลิตพืชเศรษฐกิจในพื้นที่ เช่น ข้าว กาแฟ หม่อนผลสด และพืชผัก ซึ่งทำให้เกษตรกรสามารถมีพืชอาหาร มีผลผลิตข้าวที่เพิ่มสูงขึ้น จากเดิม 100 กิโลกรัม/ไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 400 กิโลกรัม/ไร่ มีผลผลิตพืชที่เป็นพืชมูลค่าสูง เช่น กาแฟ หม่อนผลสด พืชผัก สามารถมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากเดิม 21,000 บาท/ครัวเรือน/ปี เพิ่มขึ้นเป็น 133,000 บาท/ครัวเรือน/ปี เพื่อให้พื้นที่ป่าต้นน้ำได้รับการอนุรักษ์ฟื้นฟู การใช้ประโยชน์ที่ดินบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน

​​​​​​​

หลังจากเกษตรกรมีการปลูกกาแฟกันมากขึ้น ครอบคลุมทั้งหมด 6 หมู่บ้าน ในพื้นที่ “โครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน” ดังนั้นจึงมีการจัดตั้งเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขึ้น เพื่อรวบรวมผลผลิต และแปรรูปผลผลิตในรูปแบบต่าง ๆ เช่น กาแฟ ชาดอกกาแฟ ชาเปลือกกาแฟ รวมถึงการทำน้ำหม่อน มีการนำจำหน่ายในแหล่งท่องเที่ยว ของจังหวัดน่าน มีการนำสินค้าออกแสดงในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งผลผลิตจากแปลงเกษตรกรสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี