เครือข่ายป.ป.ช.ร้อยเอ็ดถอดบทเรียนการตรวจสอบโครงการ และสาธารณสมบัติของแผ่นดินกว่า 400 โครงการเสนอต่อกองทุนป.ป.ช. เพื่อขอรับการสนับสนุนในปีต่อไป  พร้อมขยายผลไปยังผู้นำต้นแบบเยาวชนและผู้นำต้นแบบของตำบลในการปลูกฝังการปกป้องสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และการต่อต้านการทุจริต

วันที่ 27 ส.ค. 2567 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมร้านอะเมซอน ปั้มน้ำมันป.ต.ท.หนองหญ้าม้า ต.ในเมือง อ.เมืองร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด ดร.อุปกรณ์ ดีเสมอ ประธานคณะกรรมการเครือข่ายป.ป.ช.ภาคประชาสังคมจังหวัดร้อยเอ็ด ได้จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการฯ  เพื่อสรุปถอดบทเรียนจากการลงพื้นที่สอดส่องดูแลโครงการก่อสร้างต่าง ๆ และสาธารณสมบัติของแผ่นดิน  ก่อนนำเสนอผลงานและรายงานผลการดำเนินโครงการฯ  ต่อกองทุน ป.ป.ช. และหารือแนวทางในการขอรับการสนับสนุนโครงการพัฒนาผู้นำต้นแบบและชุมชนต้นแบบในการปกป้องสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และการป้องกันปราบปรามการทุจริตจังหวัดร้อยเอ็ดอย่างยั่งยืนระยะต่อไป 

โดยคณะกรรมการฯ ได้เสนอถอดบทเรียนจำนวน 400 โครงการฯในการลงพื้นที่เพื่อเฝ้าระวังสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มีกรรมการจำนวน 18 ท่านอาทิ ดร.อุปกรณ์ ดีเสมอ ประธาน นายยงพันธ์ พันธ์ดงยาง รองประธาน นายประดิษฐ์ ศรีประสิทธิ์ ดร.โกวิท อ่อนประทุม,ดร.ธงชัย ธราวุธ ,ผศ.ดร.สุรสิทธิ์ ไกรสิน,นายสุดใจ สุทธิรันดร์,ดร.ทักษิณ สิทธิศักดิ์,นายอภิฉัตร ภูสนาม,นายสุรจิตร สุทธิประภา,นายโอภาส ธรรมรักษา,นายชัยรัตน์ เขตอนันท์,นายคมกฤช พวงศรีเคน,นายสมนึก บุญศรี และ ดร.กัลญา อุปัชฌาย์ กรรมการและเลขานุการ     

ทั้งนี้ ได้เสนอเพิ่มเติมโครงการฯ ในปีหน้า คือ พัฒนาผู้นำต้นแบบฯที่เป็นเยาวชนนักเรียนนักศึกษา ที่ไม่ซ้ำซ้อนกับโครงการกับองค์กรอื่น ๆ  ที่อาจได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุน ป.ป.ช. ในจังหวัดร้อยเอ็ด  นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้เครือข่ายฯ ระดับอำเภอ  และตำบลที่ผ่านการอบรมแล้ว ร่วมเสนอขอรับการสนับสนับจากกองทุนฯ  ในการพัฒนาผู้นำต้นแบบฯในพื้นที่ต่อไป  

ซึ่งมีข้อสังเกตของคณะดำเนินโครงการ  สรุปสาระสำคัญใด้แก่  ผลการอบรมเชิงปฏิบัติการแกนนำชุมชนต้นแบบจำนวน 200 คน  มีจำนวนไม่มากพอเมื่อเทียบกับ 2,447 หมู่บ้านจาก 20 อำเภอ ส่วนผลการประเมินโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการแกนนำชุมชนต้นแบบที่พึงพอใจมากที่สุด คือ ความรู้ความสามารถและวิธีการให้ความรู้ของวิทยากร,ข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ ความพร้อมของสื่อ วัสดุอุปกรณ์ประกอบการอบรม ซึ่งคณะกรรมการจะได้นำไปปรับปรุงให้ดีขึ้นในปีต่อไป 

อีกทั้งยังมีข้อเสนอเพิ่มเติมที่สำคัญคือ ให้จัดทำโครงการในปีต่อไปโดยขยายให้ครบทุกหมู้บาน ตำบล ทุกอำเภอ,นำผลที่ได้จากการลงพื้นที่มาอธิบายให้เห็นเป็นตัวอย่างได้ชัดเจน และให้กรรมการเสนอการตรวจสอบโครงการที่ส่อไปในการทุจริตในพื้นที่ ทั้งโครงการก่อสร้าง และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ที่ตรวจสอบรวมทั้งสิ้น 400 โครงการเพื่อนำเสนอต่อกองทุน ป.ป.ช.และของบประมาณในการสนับสนุนในปีต่อไป     

อีกทั้งการอบรมผู้นำต้นแบบภาคประชาชนระดับอำเภอ,ภาคเยาวชนนักเรียนนักศึกษา และการอบรมผู้นำต้นแบบระดับตำบลของ 20 อำเภอต่อไป ซึ่งยังเชื่อมั่นในผลสัมฤทธิ์ของหลักสูตรการอบรมเชิงปฏิบัติการและแนวทางการตรวจสอบของผู้นำต้นแบบเครือข่ายป.ป.ช.ภาคประชาสังคมจังหวัดร้อยเอ็ดอีกด้วย