ผู้ว่าฯบุรีรัมย์ –อุดรมีชัย กัมพูชา เตรียมทำบันทึกข้อตกลง เปิดให้ทั้งจังหวัดเข้าออก "ช่องสายตะกู" ได้ กระตุ้น ศก.ชายแดน

ผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ และผู้ว่าอุดรมีชัย  กัมพูชา พร้อมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเตรียมทำบันทึกข้อตกลงสิ้นเดือน ส.ค. ขยายพื้นที่เข้า-ออกจุดผ่อนปรนช่องสายตะกู จากเดิมข้ามได้แค่บ้านกรวดอำเภอเดียวเพิ่มเป็นทั้งจังหวัด  ด้วยบอเดอร์พาสหนังสือผ่านแดนชั่วคราว  ทั้งเพิ่มเวลาเข้าออกถึง 18.00 น.  หวังกระตุ้นเศรษฐกิจการค้าและท่องเที่ยวชายแดน  พร้อมเดินหน้ายกระดับเป็นด่านผ่านแดนถาวรในอนาคต

(27 ส.ค.67)  นายบุญเต็ม   กัลยาพานิช   นายอำเภอบ้านกรวด   จังหวัดบุรีรัมย์   ได้ออกมาระบุถึงความก้าวหน้าในการยกระดับจุดผ่อนปรนการค้าชายแดนช่องสายตะกู   ต.จันทบเพชร  อ.บ้านกรวด  จ.บุรีรัมย์  กับช่องจุ๊บโกกี  อ.บันเตียอัมปึล จ.อุดรมีชัย ราชอาณาจักรกัมพูชา ว่า    ภายในสิ้นเดือนสิงหาคม 2567  ที่จะถึงนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรมีชัย  พร้อมด้วยส่วนราชการที่เกี่ยวข้องของฝั่งกัมพูชา  จะเดินทางมาทำบันข้อตกลงร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์   ที่ศูนย์ราชการจังหวัดบุรีรัมย์   เพื่อขยายพื้นที่เข้า-ออกจุดผ่อนปรนการค้าชายแดนช่องสายตะกู  จากเดิมจะอนุญาตให้ข้ามได้เฉพาะผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ใน อ.บ้านกรวด เท่านั้น    แต่การบันทึกข้อตกลงครั้งนี้จะอนุญาตให้ผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในทั้ง 23 อำเภอ ของจังหวัดบุรีรัมย์  สามารถเข้า-ออกช่องสายตะกูได้ และเพิ่มเวลาเข้าออกจากเดิม 08.00 – 15.00 น. เพิ่มเป็น 08.00 – 18.00 น.    โดยการทำบอเดอร์พาส หรือหนังสือผ่านแดนชั่วคราว ที่มีระยะเวลา 7 วัน   

       โดยทางกรมการปกครองได้อนุมัติงบจัดซื้อเครื่องทำบอเดอร์พาสแล้ว  ตอนนี้อยู่ระหว่างการจัดซื้อจัดจ้าง   หากผ่านกระบวนการจัดซื้อเสร็จเรียบร้อย  ก็จะนำเครื่องมาไว้ที่ที่ว่าการอำเภอบ้านกรวด   โดยผู้ที่จะผ่านเข้า-ออก  จะต้องทำบอเดอร์พาสที่ที่ว่าการอำเภอบ้านกรวด   การพิจารณาให้ขยายพื้นที่เข้า-ออกจุดผ่อนปรนช่องสายตะกู   ก็เพื่อให้เกิดการกระตุ้นทั้งเศรษฐกิจการค้าขาย และท่องเที่ยวชายแดนด้วย 

        โดยจะมีการหารือถึงแนวทางปฏิบัติร่วมกันระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ และผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรมีชัย  ประเทศกัมพูชา  ผ่านบันทึกข้อตกลงดังกล่าวด้วย  โดยทั้งสองฝ่ายจะต้องยึดถือปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลง     หากทำบันทึกข้อตกลงแล้วเสร็จ ชาวกัมพูชาก็จะสามารถเดินทางเข้าไปจับจ่ายซื้อของและท่องเที่ยวได้ถึงในตัวจังหวัดบุรีรัมย์   ส่วนประชาชนในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ทั้ง 23 อำเภอ  ก็สามารถข้ามฝั่งไปยังจังหวัดอุดรมีชัยได้  โดยการใช้บอเดอร์พาส   ซึ่งจะมีอายุได้ 2 ปี ค่าทำธรรมในการทำคนละ 200 บาท   โดยผู้ที่ถือบอเดอร์พาสก็จะสามารถข้ามแดนและอยู่ในประเทศของทั้งสองฝั่งเป็นระยะเวลา 7 วันต่อครั้งตามข้อตกลง    

        ก็ถือเป็นแนวโน้มที่ดีในการผลักดันกระตุ้นเศรษฐกิจการค้าขายชายแดน    โดยหากคนกัมพูชาสามารถเข้าไปในตัวจังหวัดบุรีรัมย์ได้   ก็จะส่งผลดีด้านการท่องเที่ยว  เพราะจังหวัดบุรีรัมย์มีทั้งสนามฟุตบอล  สนามแข่งรถ  และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่ง  ที่ชาวกัมพูชาอย่างจะเข้าไปเที่ยวชม   ส่วนฝั่งกัมพูชาเองก็จะมีปราสาทที่สำคัญและสวยงามหลายจุดที่คนไทยอยากจะไปเที่ยวชมเหมือนกัน  ก็จะเป็นการเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยวทางอารยะธรรมขอมระหว่างไทยกัมพูชาได้เป็นอย่างดี   

 

 

และในอนาคตฝั่งกัมพูชาอาจจะให้คนที่ถือบอเดอร์พาส   สามารถเข้าไปเที่ยวชมถึงนครวัด  นครฐม ซึ่งเป็นปราสาทที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกที่หลายคนอยากจะไป   ก็คาดว่าภายในไม่เกินสิ้นปีนี้จะสามารถเปิดใช้บอเดอร์พาสได้  

ที่สำคัญกว่านั้นในอนาคตก็จะเดินหน้าผลักดันให้เป็นจุดผ่านแดนถาวรเหมือนกับจังหวัดอื่นๆ    ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม                  อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันที่เปิดให้ทำการค้าขายระหว่างกัน  ฝั่งไทยจะได้ดุลทางการค้าเฉลี่ยสัปดาห์ละหลักล้าน  และหากดูสถิติย้อนหลังมีเงินสะพัดปีละนับร้อยล้านบาท  ซึ่งไทยจะได้เปรียบเรื่องดุลการค้ามากกว่า  เพราะชาวกัมพูชาส่วนใหญ่จะซื้อสินค้าจากฝั่งไทย  อาทิ  สินค้าอุปโภคบริโภค   ปุ๋ย  ยารักษาโรค  และอื่นๆ อีกหลายอย่าง  เพราะสินค้าไทยมีคุณภาพ.