ส่งออกเดือน ก.ค.67 ฟื้นตัวแข็งแกร่งขยายตัว 15.2% สูงสุดในรอบ 28 เดือน 

วันที่ 27 ส.ค.67 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) แถลงข่าวภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนกรกฎาคม และ 7 เดือนแรกของปี 2567 ว่า การส่งออกของไทยในเดือนกรกฎาคม 2567 ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยมีมูลค่า 25,720.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (938,285 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 15.2 นับเป็นอัตราการเติบโตสูงสุดในรอบ 28 เดือน นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ยังคงขยายตัวร้อยละ 9.3 โดยการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั่วโลก ช่วยเพิ่มอำนาจซื้อให้กับผู้บริโภค เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมการฟื้นตัวนี้ ขณะที่การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นและการปรับตัวของค่าจ้างในประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะในยุโรป ส่งผลให้การบริโภคฟื้นตัว เป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกของไทย โดยตลาดหลักที่กลับมาฟื้นตัวได้ดี อาทิ สหรัฐฯ จีน อาเซียน และสหภาพยุโรป สอดคล้องกับการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกของ IMF ที่ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกจะได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนจากการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี และเศรษฐกิจยุโรปที่ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดแล้ว ทั้งนี้ การส่งออกไทย 7 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 3.8 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 4.0

ขณะที่มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนกรกฎาคม 2567 การส่งออก มีมูลค่า 25,720.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 15.2 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 27,093.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 13.1 ดุลการค้า ขาดดุล 1,373.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพรวม 7 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออก มีมูลค่า 171,010.6  ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 3.8 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 177,626.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 4.4 ดุลการค้า 7 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 6,615.9 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนมูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนกรกฎาคม 2567 การส่งออก มีมูลค่า 938,285 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 21.8 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 999,755 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 19.4 ดุลการค้า ขาดดุล 61,470 ล้านบาท ภาพรวม 7 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออก มีมูลค่า 6,129,300 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.4 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 6,437,235 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.9 ดุลการค้า 7 เดือนแรก
ของปี 2567 ขาดดุล 307,935 ล้านบาท

ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 8.7 (YoY) กลับมาขยายตัวหลังจากที่หดตัวในเดือนก่อนหน้า โดยกลับมาขยายตัวทั้งสินค้าเกษตร ขยายตัวร้อยละ 3.7 และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 14.6 โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 55.4 ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และอินเดีย) ข้าว ขยายตัวร้อยละ 15.6 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดอิรัก สหรัฐฯ เบนิน เซเนกัล และโมซัมบิก) ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 13.6 กลับมาขยายตัวหลังจากที่หดตัวในเดือนก่อนหน้า (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ สิงคโปร์ และฮ่องกง)  อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 20.4 กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย แคนาดา ลิเบีย และอียิปต์) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 26.6 ขยายตัวต่อเนื่อง 10 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ อิตาลี ออสเตรเลีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์) และไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 308.4 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดอินเดีย มาเลเซีย เมียนมา จีน และเกาหลีใต้)

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง หดตัวร้อยละ 25.9 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน(หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ และแคนาดา แต่ขยายตัวในตลาดเวียดนาม สหรัฐฯ อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวร้อยละ 6.5 หดตัวต่อเนื่อง 9 เดือน (หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ แต่ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ และอินเดีย) น้ำตาลทราย หดตัวร้อยละ 39.1 หดตัวต่อเนื่อง 7 เดือน (หดตัวในตลาดลาว ไต้หวัน มาเลเซีย จีน และสหรัฐฯ แต่ขยายตัวในตลาดเกาหลีใต้ กัมพูชา เวียดนาม เมียนมา และ ปาปัวนิวกินี) และเครื่องดื่ม หดตัวร้อยละ 10.4 หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (หดตัวในตลาดกัมพูชา เวียดนาม เมียนมา มาเลเซีย และสิงคโปร์ แต่ขยายตัวในตลาดจีน ลาว ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง และออสเตรเลีย) ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2567 

โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 15.6 (YoY) กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ขยายตัวร้อยละ 28.0 กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า (ขยายตัวในตลาดจีน อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และสิงคโปร์) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 82.6 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน เนเธอร์แลนด์ ฮ่องกง และเยอรมนี) ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวร้อยละ 13.8 กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน อินเดีย มาเลเซีย เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย) เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 34.1 ขยายตัวต่อเนื่อง 14 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ มาเลเซีย เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 27.8 กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย เวียดนาม อินเดีย และญี่ปุ่น)

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 12.8 กลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อนหน้า (หดตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น และซาอุดีอาระเบีย แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เวียดนาม บราซิล จีน และสหราชอาณาจักร) แผงวงจรไฟฟ้า หดตัวร้อยละ 8.7 หดตัวต่อเนื่อง 7 เดือน (หดตัวในตลาดสิงคโปร์ ไต้หวัน จีน เยอรมนี และฟิลิปปินส์ แต่ขยายตัวในตลาดฮ่องกง มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเม็กซิโก) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด หดตัวร้อยละ 16.6 หดตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ สิงคโปร์ สาธารณรัฐเช็ก อินโดนีเซีย และมาเก๊า แต่ขยายตัวในตลาด ฮ่องกง ญี่ปุ่น อินเดีย จีน และเกาหลีใต้) เครื่องยนต์สันดาปภายในลูกสูบและส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 15.0 หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (หดตัวในตลาดแอฟริกาใต้ อินโดนีเซีย สหรัฐฯ มาเลเซีย และญี่ปุ่น แต่ขยายตัวในตลาดอินเดีย อาร์เจนตินา สหราชอาณาจักร เวียดนาม และบราซิล) ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว ร้อยละ 3.8

ตลาดส่งออกสำคัญ

การส่งออกไปตลาดสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัวได้ดี ตามภาพรวมเศรษฐกิจคู่ค้าที่มีสัญญาณปรับดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดหลัก อาทิ สหรัฐฯ จีน อาเซียน (5) กลุ่ม CLMV และสหภาพยุโรป ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้ (1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 16.2 โดยขยายตัวต่อเนื่องในตลาดสหรัฐฯ สหภาพยุโรป (27) และ CLMV ร้อยละ 26.3 ร้อยละ 17.1 และร้อยละ 19.8 ตามลำดับ และกลับมาขยายตัวในตลาดจีน ร้อยละ 9.9 และอาเซียน (5) ร้อยละ 17.8 ขณะที่ตลาดญี่ปุ่น ยังคงหดตัวร้อยละ 2.5 (2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 4.6 โดยขยายตัวในตลาดเอเชียใต้ ร้อยละ 29.5 ลาตินอเมริกา ร้อยละ 4.4 รัสเซียและกลุ่ม CIS ร้อยละ 0.5 และสหราชอาณาจักร ร้อยละ 13.3 ขณะที่หดตัวในตลาดทวีปออสเตรเลีย ร้อยละ 2.8 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 3.7 แอฟริกา ร้อยละ 6.7 (3) ตลาดอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 331.3

ตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 26.3 (ขยายตัวต่อเนื่อง 10 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 13.3

ตลาดจีน กลับมาขยายตัวตัวร้อยละ 9.9 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และยางพารา เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 0.3

ตลาดญี่ปุ่น หดตัวร้อยละ 2.5 (หดตัวต่อเนื่อง 6 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ไก่แปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ และเม็ดพลาสติก เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2567 หดตัวร้อยละ 6.9

ตลาดสหภาพยุโรป (27) ขยายตัวร้อยละ 17.1 (ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 6.1

ตลาดอาเซียน (5) กลับมาขยายตัวร้อยละ 17.8 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น น้ำมันสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2567 หดตัวร้อยละ 0.01

ตลาด CLMV ขยายตัวร้อยละ 19.8 (ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น น้ำมันสำเร็จรูป รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว และผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 8.6

ตลาดเอเชียใต้ ขยายตัวร้อยละ 29.5 (ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เคมีภัณฑ์ ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ และเม็ดพลาสติก เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 9.0

ตลาดทวีปออสเตรเลีย หดตัวร้อยละ 2.8 (หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก และเครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 9.6

ตลาดตะวันออกกลาง กลับมาหดตัวร้อยละ 3.7 สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 
เครื่องยนต์สันดาปภายใน และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ข้าว อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2567 หดตัวร้อยละ 0.6

ตลาดแอฟริกา กลับมาหดตัวร้อยละ 6.7 สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายใน และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ข้าว ผลิตภัณฑ์ยาง และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2567 หดตัวร้อยละ 4.9

ตลาดลาตินอเมริกา ขยายตัวร้อยละ 4.4 (ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ยางเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 10.2

ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS กลับมาขยายตัวร้อยละ 0.5 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และผลไม้กระป๋องและแปรรูป เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ยางอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และอากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 8.3

ตลาดสหราชอาณาจักรขยายตัวร้อยละ 13.3 (กลับมาขยายตัวในรอบ 11 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ไก่แปรรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2567 หดตัวร้อยละ 11.5

ขณะที่การส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ดำเนินงานที่สำคัญในเดือนกรกฎาคม อาทิ (1) การนำทัพผู้ส่งออกข้าวไทยบุกตลาดฟิลิปปินส์ โดยกรมการค้าต่างประเทศได้จัดคณะผู้แทนเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมข้าวไทย ณ กรุงมะนิลา เข้าร่วมกิจกรรมประชาสัมพันธ์ข้าวไทยภายใต้คอนเซป “Premium Thai Rice with Authentic Thai Food” พร้อมลงนาม MOU การซื้อขายข้าวระหว่างผู้ส่งออกไทยกับผู้นำเข้าข้าวฟิลิปปินส์ จำนวน 9 ฉบับ ปริมาณรวม 130,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 2,800 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยในฟิลิปปินส์ได้เพิ่มขึ้น

(2) มาตรการระบายสินค้าลำไยสู่ตลาดต่างประเทศ โดยกรมการค้าภายในเร่งหารือกับผู้ส่งออก เพื่อนำสินค้าลำไยออกสู่ตลาดอินโดนีเซีย และอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดที่มีความต้องการ และมีศักยภาพสูง รวมทั้งตลาดจีน โดยได้ประสานกับบริษัทขนส่งทางเรือเพื่อดูแลการขนส่ง และดูแลตู้สินค้าให้เพียงพอ เพื่อทำให้การส่งออกเป็นไปได้อย่างสะดวกรวดเร็ว (3) การหารือความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทย-จีน ในเวทีประชุม “ซับ-คอมมิทตี ไทย-จีน” ครั้งที่ 3 ณ กรุงเทพฯ โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกัน ผลักดันให้จีนเร่งเปิดตลาดสินค้าสำคัญ อาทิ โคมีชีวิต ผลไม้ (สละและอินทผลัม) เพิ่มการนำเข้าข้าวจากไทย ตลอดจนเร่งพัฒนาด่านท่าเรือกวนเหล่ยในมณฑลยูนนานให้เป็น ‘ด่านจำเพาะสำหรับการนำเข้าผลไม้’ เพื่อเพิ่มช่องทางการขนส่งผลไม้ส่งออกจากไทยไปจีน พร้อมพาผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่จีน เพื่อขยายฐานการค้าระหว่างทั้งสองประเทศอย่างยั่งยืน 

โดยแนวโน้มการส่งออกในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์คาดว่า การส่งออกของไทยในปี 2567 จะทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกที่กำลังปรับตัวดีขึ้น รวมถึงสัญญาณการฟื้นตัวของภาคการผลิตอุตสาหกรรมของโลก ขณะเดียวกันคาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลจะสนับสนุนสินค้าที่เกี่ยวเนื่องให้เติบโตตลอดทั้งปี อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่กดดันการส่งออกจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ และความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าหลังการเลือกตั้งในหลายประเทศที่สำคัญ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
#ข่าววันนี้ #ส่งออก #กระทรวงพาณิชย์ #เงินเฟ้อ #นำเข้า #ภูมิรัฐศาสตร์