วันที่ 27 ส.ค.67 ที่อาคารส่วนการท่องเที่ยว ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เขตพระนคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวความพร้อมรับสถานการณ์น้ำเหนือและปริมาณฝนในช่วงนี้ว่า กทม.เตรียมพร้อม 2 ส่วน ส่วนแรกคือระดับแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นสูงจากมวลน้ำพื้นที่ภาคเหนือไหลผ่านกรุงเทพฯ ก่อนระบายลงอ่าวไทย ส่วนที่สองคือปริมาณน้ำฝนในพื้นที่กรุงเทพฯ ขณะนี้มีความกังวลเรื่องปริมาณน้ำฝนในกรุงเทพฯ มากกว่า จากปริมาณน้ำฝนที่เกิดขึ้นในภาคเหนือกว่า 200 มิลลิเมตร (มม.) ภายใน 2 วัน สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของโลก ความกังวลคือ หากกรุงเทพฯ มีฝนถึง 200 มม. จะบริหารจัดการได้ยาก เพราะท่อระบายน้ำของ กทม.ออกแบบสำหรับรองรับปริมาณฝน 60 มม. ส่วนสาเหตุที่ไม่กังวลปริมาณน้ำเหนือมากนัก เนื่องจากเขื่อนที่มีอยู่ เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ ยังไม่เต็มความจุ สถานการณ์จึงแตกต่างจากเมื่อปี 2554 อย่างไรก็ตาม กทม.และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง มีการติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ไม่ประมาท โดยตลอด 2 ปีที่ผ่านมา กทม.จัดทำหลายโครงการเพื่อป้องกันบรรเทาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ทำให้การระบายน้ำเร็วขึ้น แต่อาจมีในซอยย่อยต่าง ๆ ที่ยังพบน้ำขังอยู่ ต้องเร่งปรับปรุงต่อไป
"สถานการณ์น้ำในปัจจุบันไม่มีอะไรเทียบเคียงกับปี 2554 ฉะนั้นจึงสบายใจได้ แต่ในอนาคตยังไม่แน่นอน เพราะไม่รู้ว่าเดือนหน้าจะมีปริมาณฝนในภาคเหนือเท่าไร ปัจจุบันนี้สถานการณ์แตกต่างจากปี 2554 อย่างสิ้นเชิง ไม่รุนแรงเท่า ในปี 2554 ผมอยู่ในเหตุการณ์ด้วย ขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีช่วยคมนาคมหลังจากปี 2554 และมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากปี 2554 คือการทำแนวกั้นกรุงเทพมหานคร ยาวเกือบ 600 กิโลเมตร มีการยกถนนเป็นแนวป้องกันรอบกรุงเทพฯ ทั้งแนวถนน และริมแม่น้ำเจ้าพระยา เขื่อน ไปเสริมกับแนวป้องกันตามแนวพระราชดำริฝั่งตะวันออก เชื่อว่าตลอด 10 ปีที่ผ่านมามีการปรับปรุงหลายขั้นแล้ว เหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2554 ไม่ได้เกิดจากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาไหลเข้ากรุงเทพฯ โดยตรง แต่เกิดจากประตูระบายน้ำบางโฉมศรีแตก ซึ่งเป็นประตูน้ำก่อนถึงกรุงเทพฯ ทำให้น้ำเข้าทุ่ง ตีโอบเข้ากรุงเทพมหานคร ปัจจุบันมีการทำแนวกั้นที่คลองรังสิตแล้ว เชื่อว่าสถานการณ์ไม่น่าจะรุนแรงเท่า เพราะทำโครงสร้างป้องกันสถานการณ์ปี 2554 ไว้แล้ว"
นายชัชชาติ กล่าวว่า ภายในพื้นที่กรุงเทพฯ ปัจจุบันได้เร่งก่อสร้างปรับปรุงอุโมงค์บึงหนองบอนให้สามารถรับน้ำได้บางส่วนแล้ว เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมซอยสุขุมวิท 103 และ 101/1 รวมถึงมีการลอกคลองบริเวณใต้ทางด่วนเพื่อระบายน้ำลงคลองบางอ้อและคลองบางนาได้ดีขึ้น ปัจจุบันซอยดังกล่าวไม่พบน้ำท่วมมากนัก ขณะนี้ได้จัดหน่วยปั้มน้ำเคลื่อนที่เร็วมากขึ้น เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำฝนในโซนต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ โดย กทม.เตรียมพร้อมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่เฉพาะเรื่องป้องกันน้ำท่วม แต่ต้องมีการเผชิญเหตุกรณีน้ำสูง การนำคนกลับบ้าน การช่วยรถเสียบนถนน ทุกหน่วยพร้อมที่จะออกมาดำเนินการ
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากข้อมูลเรดาห์คาดการณ์ว่า แต่ละปีที่ผ่านมา ในเดือน ก.ย. มีโอกาสสูง ที่จะมีปริมาณฝนมากกว่าปกติ จึงต้องเฝ้าระวังทุกปี ในปีนี้คาดการณ์ว่าปริมาณฝนจะใกล้เคียงกับปี 2565 ซึ่งมีปริมาณมาก เป็นสาเหตุให้ กทม.มีความกังวลเรื่องปริมาณน้ำฝนในพื้นที่กรุงเทพฯมากกว่าเรื่องน้ำหนุนและน้ำเหนือ ในส่วนชุมชนนอกคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 16 ชุมชน 731 ครัวเรือน ในพื้นที่ 7 เขต ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากน้ำท่วม ได้สั่งการให้สำนักงานพื้นที่ ประกอบด้วย เขตดุสิต พระนคร สัมพันธวงศ์ บางคอแหลม ยานนาวา บางกอกน้อย และเขตคลองสาน ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนชุมชนและให้เตรียมขนย้ายสิ่งของให้อยู่ในที่สูง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนหากเกิดปัญหาระดับน้ำขึ้นสูง นอกจากนี้ได้สั่งการสำนักงานเขตที่มีพื้นที่อยู่ตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาสำรวจพื้นที่บ้านเรือนของประชาชน จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเหลือประชาชนในกรณีฉุกเฉิน
นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กล่าวว่า ปริมาณน้ำเหนือในขณะนี้ยังไม่มีความกังวลมาก เนื่องจากอัตราการระบายน้ำที่ประตูระบายน้ำบางไทร และในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ มี 1 ใน 3 ของอัตราการระบายน้ำทั้งหมดเท่านั้น แต่ต้องเฝ้าระวังตลอด หากฝนตกใต้เขื่อนเจ้าพระยา ปริมาณน้ำจะตรงเข้ากรุงเทพฯ ต้องติดตามอัตราการระบายน้ำที่ประตูระบายน้ำบางไทร สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 3,500 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบันมีการระบายน้ำประมาณ 1,200 ลบ.ม./วินาที อย่างไรก็ตาม หลังจากสถานการณ์น้ำท่วมปี 2554 กรมชลประทานได้สร้างแก้มลิงรองรับน้ำไว้ 12 แห่ง ในพื้นที่ทุ่งเจ้าเจ็ด อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งรับน้ำได้ 560 ล้าน ลบ.ม. หากปริมาณการระบายน้ำที่ประตูน้ำบางไทรเกิน 3,500 ลบ.ม./วินาที กรมชลประทานจะผันน้ำเข้าแก้มลิงดังกล่าว เป็นส่วนสำคัญในการรับน้ำก่อนเข้ากรุงเทพฯ ในส่วนคันป้องกันน้ำท่วมของกรุงเทพมหานคร ก่อสร้างตามระดับน้ำในปี 2554 คือ จุดพระราม7 ความสูง 2.97 ม. บวกเพิ่ม 53 ซม. กำหนดไว้ที่ 3.5 ม. ส่วนจุดสะพานพุทธฯ ก็มีการบวกเพิ่ม ดังนั้น คันป้องกันน้ำท่วมของกรุงเทพมหานครสามารถรับน้ำได้มากกว่าปี 2554 ที่ความสูงประมาณ 50 ซม.