สสว.จับมือ สอวช. ขับเคลื่อนการส่งเสริม SME ให้ปรับตัวสู่ Green Economy พร้อมประกาศแนวทางการส่งเสริมผ่านงาน “Green SME Forum 2024” โดยมี 15 หน่วยงานภาคีเครือข่ายร่วมถ่ายทอดความรู้และส่งเสริม SME ปรับสู่เศรษฐกิจสีเขียวด้วย 6 ด้านสำคัญ ทั้งด้านการปรับตัว ด้านมาตรฐานสินค้าและบริการ ด้านเครื่องมือ ด้านแหล่งเงินทุน ด้านสิทธิประโยชน์ และด้านตลาด เป้าหมายเพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้ SME เติบโตอย่างยั่งยืน 
 
เมื่อวันที่ 26 ส.ค.67 สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้ร่วมกับ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดงานสร้างเครือข่ายและประกาศเจตนารมย์ความร่วมมือการขับเคลื่อนพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านผู้ประกอบการสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green SME Forum 2024: Assembling the path to Sustainability) ณ ห้องประชุมฟีนิกซ์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงการทำงานของหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ที่มีบทบาทด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านการดำเนินธุรกิจของ SME เข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการสร้างความตระหนักรู้ ส่งเสริมระบบนิเวศ และสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อการปรับตัวให้สามารถรองรับผลกระทบจากมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมทั้งในและต่างประเทศ กระบวนการขอรับรองมาตรฐาน กระบวนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ตลอดจนกระบวนการเข้าสู่ตลาด รวมถึงการผลักดันให้ SME สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องได้อย่างทั่วถึง  

โดยภายในงานครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้แทนหน่วยงานขับเคลื่อนที่สำคัญมาร่วมกันประกาศเจตนารมย์ความร่วมมือการขับเคลื่อนพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านผู้ประกอบการสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียวดังนี้ 1.ดร.ธิติวัฐ อดิศรพันธ์กุล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง 2. นายโกเมนทร์ ทีฆธนานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3.นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 4.นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI) 5.นายธวัชชัย เศรษฐจินดา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย สภาหอการค้าไทยแห่งประเทศไทย  6.นายกฤศ จันทร์สุวรรณ ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม และรองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม 7.ดร.ไชยยศ บุญญากิจ อุปนายกสมาคมส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (ประเทศไทย) 

นอกจากนี้ภายในงาน ยังมีกิจกรรมที่สำคัญและเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ ได้แก่ (1) พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมและเชื่อมโยงผู้ประกอบการ SME ใน Supply Chain เพื่อความยั่งยืนทางธุรกิจด้านมาตรฐานสินค้าและข้อมูลผู้ให้บริการที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ระหว่าง สสว.กับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) โดย ดร.ปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการสำนักงาน รักษาการแทนผู้อำนวยการ สสว. และ รองศาสตราจารย์ วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. และร่วมเป็นสักขีพยาน โดยนายกุลิศ สมบัติศิริ ประธานคณะกรรมการบริหาร สสว.และนายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการคณะกรรมการ กนอ. ซึ่งบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ จัดทำขึ้นเพื่อพัฒนาส่งเสริมและเชื่อมโยงผู้ประกอบการ SME ภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่อยู่ในพื้นที่ของ กนอ. ให้สามารถเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจสีเขียว (Green Transformation) ยกระดับ และต่อยอดธุรกิจให้มีความเข้มแข็ง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันรวมถึงความมั่นคงและยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจต่อไปในอนาคต  

(2) เสวนาและจัดนิทรรศการร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวจากหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้องรวมกว่า 15 หน่วยงาน กับ 6 Jigsaw ได้แก่ Jigsaw 1 : Green Transition Facilitator (หน่วยงานสนับสนุนการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว) Jigsaw 2 : Green Standard (หน่วยงานด้านมาตรฐานสินค้าและบริการสีเขียว) Jigsaw 3 : Green Enterprise Indicator - GEI (แนวทางการพัฒนาเครื่องมือเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านผู้ประกอบการสีเขียว) Jigsaw 4 : Green Financing (หน่วยงานด้านการสนับสนุนแหล่งเงินทุน) Jigsaw 5 : Green Incentives (หน่วยงานด้านสิทธิประโยชน์) Jigsaw 6 : Market Access and Global Value Chain (หน่วยงานด้านการส่งเสริมตลาด) เพื่อให้ SME ไทย มีแนวทางที่จะเติบโตได้อย่างแข้มแข็งและยั่งยืน และเป็นการนำเสนอมาตรการสนับสนุน SME เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว โดยการจัดกิจกรรมครั้งนี้ มีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังเสวนา และร่วมกิจกรรมภายในงานงานจากผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการในธุรกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว ผู้ประกอบการ SME องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม นิสิตนักศึกษาและประชาชนที่สนใจเริ่มต้นธุรกิจเป็นจำนวนมาก   

ทั้งนี้ สสว. และ สอวช. ในฐานะหน่วยงานหลักในการจัดทำนโยบายและบูรณาการความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะทำหน้าที่เป็นโซ่ข้อกลางในการเชื่อมต่อการทำงานของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยได้รับความร่วมมือจาก กรมสรรพากร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย การนิคมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทยแห่งประเทศไทย และเครือข่ายส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนแห่งประเทศไทย ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนการเชื่อมโยงเครือข่าย SME สู่ธุรกิจสีเขียว (Green Economy) พร้อมสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ เพื่ออนาคตของประเทศที่ยั่งยืนต่อไป