นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี พร้อมด้วย นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการ กปร. และเจ้าหน้าที่เดินทางไปยังบ้านนายวาเดง ปูเต๊ะ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ราษฎรที่เคยเฝ้ารับเสด็จและกราบบังคมทูลรายงานถึงสภาพพื้นที่และความเป็นอยู่ของชาวบ้าน เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปยังพื้นที่พรุแฆแฆ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2535

การนี้ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรีกล่าวว่า วันนี้มาเยี่ยมลูกหลานของนายวาเดง ปูเตะ ผู้ที่ได้รับการขนานนามว่า พระสหายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ซึ่งปัจจุบันได้เสียชีวิตไปแล้ว ด้วยความเป็นคนตรงไปตรงมา ซื่อตรงต่อศาสนา และพี่น้องมนุษยชาติ คำกราบบังคมทูลของลุงวาเดงเป็นคำสามัญที่ออกมาจากใจและเป็นความจริงทุกอย่าง ทรงรับสั่งถามอะไร ลุงวาเดงตอบได้หมด และเป็นความจริงตามนั้น จึงทรงยกย่องนับถือน้ำใจของลุงวาเดง

“ในวันแรกที่พระองค์เสด็จฯ ในพื้นที่แห่งนี้ก็ไม่อยู่ในแผนของการรักษาความปลอดภัย เสด็จฯ ไปจนถึงบ้านลุงวาเดง และมีข้อมูลบางอย่างที่ทรงสงสัยอยู่ว่าคลองสายนี้จะไปจบตรงไหน อย่างไรทรงตรวจดูในแผนที่และส่องไฟฉาย เพราะเป็นเวลาค่ำแล้ว และบอกว่าต้องเดินไปทางนี้ เสด็จฯ ฝ่าดงวัชพืชไประยะทางกว่า 100 เมตร ลองนึกดูว่าถ้าเราเป็นผู้ถวายความปลอดภัยจะกังวลขนาดไหน เพราะพื้นที่แห่งนี้ไม่เคยผ่านการตรวจสอบมาก่อนและไม่ได้วางกำลังไว้ พระองค์ก็ทรงมีไฟฉายอันเล็กๆ เดินส่องไปในป่ารกจนไปถึงบ้านลุงวาเดง ตอนนั้นลุงวาเดงอยู่บ้านนุ่งโสร่งตัวเดียวไม่ใส่เสื้อออกมารับเสด็จ พระองค์ทรงซักถามข้อมูลต่างๆ แน่ใจว่าลุงวาเดงนี่เก่งมากรู้ทุกเรื่อง รู้ทุกอย่าง ตรงตามที่ทรงศึกษาข้อมูลมา เป็นประโยชน์ต่อโครงการพระราชดำริ ในการขุดคลองแฆแฆ เพื่อระบายน้ำเปรี้ยวในดินพรุออก และให้น้ำจืดไหลเข้ามาแทนที่ ตลอดการทรงงานที่ได้เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาและเกิดโครงการพระราชดำริต่างๆ ล้วนมาจากน้ำพระราชหฤทัยและพระราชปณิธานที่มุ่งมั่นเพื่อประโยชน์สุขของราษฎรของพระองค์ท่านและได้ถ่ายทอดมายังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันที่ได้ตามเสด็จสมเด็จพระบรมชนกนาถไปหลายพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ทรงเข้าใจโครงการพระราชดำริเกี่ยวกับน้ำอย่างลึกซึ้ง และพระราชทานความช่วยเหลือสนับสนุนหลายโครงการมาโดยตลอด หลายครั้งในขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จติดตามความก้าวหน้าของโครงการเป็นการส่วนพระองค์” องคมนตรีกล่าว

นายวาเดง ถือเป็นแบบอย่างของการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นายวาเดงได้เสียชีวิตด้วยโรคชราเมื่อปี 2555 ซึ่งครอบครัวและประชาชนในพื้นที่ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมอาชีพ จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกปร. และยังคงสานต่อเจตนารมณ์ของนายวาเดง ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ พร้อมน้อมนำแนวพระราชดำริในเรื่องของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติใช้ ส่งผลให้เกิดการขยายผลกลุ่มเกษตรกรโดยเฉพาะที่บ้านบาเลาะ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี จากเดิม 11 ราย ขยายผลเป็น 60 ครัวเรือน เพิ่มพื้นที่การเกษตรจาก 8 ไร่ เป็น 60 ไร่ เกิดเครือข่ายเกษตรกรพื้นที่ดินทรายจัดในพื้นที่หมู่บ้านใกล้เคียง ราษฎรนอกภาคเกษตรกลับมาประกอบอาชีพการเกษตรมากขึ้น ชุมชนมีความรู้ในการประกอบอาชีพ มีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยปีละ 230,000 - 250,000 บาท/ครัวเรือน/ปี

นายอาลียะห์ อาแว เกษตรกร อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี หนึ่งในผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการพัฒนาพื้นที่พรุแฆแฆอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า อดีตพื้นที่แห่งนี้เป็นป่าพรุ น้ำเปรี้ยว ดินเป็นดินทราย ไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ หลังจากมีโครงการฯ แล้ว มีการปล่อยน้ำจืดเข้าป่าพรุ แล้วระบายออก ทำให้น้ำไม่เปรี้ยว สามารถทำการเพาะปลูกพืชได้อย่างหลากหลาย

“ปัจจุบันสามารถประกอบอาชีพ ทำมาหากินดีกว่าในอดีต สามารถปลูกไม้ให้ผลยืนต้น เช่น ทุเรียน เงาะ ลองกอง สะตอ มะพร้าวแกง ควบคู่กับการปลูกพืชผักตามรูปแบบเกษตรผสมผสาน มีรายได้ต่อเนื่อง 50,000 - 60,000 ต่อเดือน สามารถส่งลูกทั้ง 4 คนเรียนหนังสืออย่างไม่ขัดสน ก็ขอกราบขอบพระคุณพระองค์ท่านที่ทรงช่วยเหลือประชาชนชายแดนใต้ที่อาศัยอยู่ใกล้พื้นที่ป่าพรุแฆแฆให้สามารถทำกินได้ทั้งปี” นายอาลียะห์ อาแว กล่าว