หวนกลับมาเขย่าขวัญชาวโลกอีกคำรบ แบบเข้าทำนองที่ว่า สงครามยังไม่จบอย่าเพิ่งนับศพทหาร

สำหรับ สถานการณ์ของ “โรคฝีดาษลิง” หรือ “ฝีดาษวานร” ที่บางคนเรียกขานเป็นภาษาอังกฤษอย่างย่อว่า “เอ็มพ็อกซ์ (MPOX)” เชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งหวนกลับมาแพร่ระบาดอย่างน่าสะพรึงในปีนี้ ภายหลังจากได้ทำให้ชาวโลกได้เป็นที่รู้จักครั้งล่าสุดเมื่อสองปีก่อน คือ ปี 2022 (พ.ศ. 2565) ซ้ำซ้อนกับการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 หรือโควิด-19 ในสถานการณ์แพร่ระบาด ณ เวลานั้น

ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงโรคฝีดาษลิงที่ว่านี้ แท้ที่จริงแล้ว ได้ถูกค้นพบเมื่อปี 1958 (พ.ศ. 2501) ในลิงสำหรับการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ในห้องแล็บ กรุงโคเปนเฮเกน เมืองหลวงของเดนมาร์ก จนถูกตั้งชื่อว่า ฝีดาษลิง หรือฝีดาษวานร ทว่า แม้ได้ชื่อว่า ฝีดาษลิง แต่แหล่งรังโรคไม่ได้มาจากลิง ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ ก็ยังไม่สามารถทราบถึงแหล่งรังโรคที่แน่ชัด

ส่วนโรคฝีดาษลิงที่พบในมนุษย์ครั้งแรก เมื่อปี 1970 (พ.ศ. 2513) ที่ประเทศคองโก แต่ที่นับว่าสร้างความฮือฮาก็เป็นการพบโรคนี้ในประเทศสหรัฐฯ เมื่อ 21 ปีที่แล้ว หรือปี 2003 (พ.ศ. 2546) ซึ่งจุดกำเนิดมาจากร้านขายสัตว์เลี้ยงที่นำ “หนู” จาก “กานา” ประเทศในภูมิภาคแอฟริกาเข้ามาจำหน่าย

หลังจากโรคฝีดาษลิงก็หายไปอยู่พักใหญ่ ก่อนมาปรากฏโฉมอีกครั้ง เมื่อปี 2022 (พ.ศ. 2565) หรือเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งการปรากฏตัวของโรคนี้ ก็ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์การแพร่ระบาดของโรคร้าย เพราะเป็นการพบโรคฝีดาษวานรนอกทวีปแอฟริกาในลักษณะของการแพร่ระบาด

นั่นคือ พบการแพร่ระบาดในประเทศอังกฤษ เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม แล้วหลังจากนั้นตลอดช่วงอีกหลายเดือนต่อมาโรคฝีดาษวานร ก็ยังไปอาละวาดในประเทศอื่นๆ อีก 20 กว่าประเทศ ทั้งในภูมิภาคยุโรป อเมริกาเหนือ เอเชีย และออสเตรเลีย

ส่งผลให้ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกันนั้น ทาง “องค์การอนามัยโลก” หรือ “ดับเบิลยูเอชโอ” หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “ฮู” (WHO : World Health Organization) ต้องประกาศให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสร้ายนี้ เป็น “ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ” พร้อมทั้งประกาศเปลี่ยนชื่อโรคนี้อย่างเป็นทางการว่า “เอ็มพ็อกซ์ (MPOX)” โดยมีสาเหตุก็เพื่อป้องกันการเลือกปฏิบัติ หรือการเหยียดเชื้อชาติระหว่างกันในอนาคต ซึ่งมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในปี 2023 (พ.ศ. 2566)

หลังจากดูเหมือนว่า เจ้าเอ็มพ็อกซ์ที่ทางฮูประกาศเปลี่ยนชื่อใหม่ จะหายหน้า หายตาไปจากพื้นที่หน้าข่าวอยู่พอสมควร ทำให้โลกได้คลายวิตกกังวลกันอยู่พักใหญ่ ทว่าไวรัสร้ายนี้ก็ได้หายไปจากโลกไม่ แต่ได้หวนกลับมาเขย่าขวัญชาวโลกอีกครั้งในปี 2024 (พ.ศ. 2567) นี้

แถมมิหนำซ้ำ การปรากฏตัวของโรคเอ็มพ็อกซ์ครั้งใหม่ในปีนี้ ยังเป็นการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสอีกต่างหากด้วยทั้งแคลด1 (Clade1) แคลด1บี (Clade1B) และแคลด2 (Clade2)

การปรากฏโฉมของโรคฝีดาษลิงในปีนี้นั้น ต้องเรียกว่า เป็นการอาละวาดกันเลยทีเดียว เพราะแพร่ระบาดไปในหลายๆ ประเทศ และรุนแรงยิ่งกว่าเมื่อ 2 ปีก่อน ไม่ว่าจะทั้งในและนอกทวีปแอฟริกา ประชาชนจำนวนไม่น้อยตกเป็นเหยื่อผู้ป่วยติดเชื้อ และผู้ป่วยที่เสียชีวิต เป็นจำนวนมากอย่างสุดสะพรึง

อย่างประเทศในทวีปแอฟริกา ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ปรากฏว่า มีผู้ป่วยเสียชีวิตสูงถึง 450 ราย จากจำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อทั้งหมด 13,791 ราย นอกจากนี้ ยังมีประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคดังกล่าวก็มีผู้ป่วยติดเชื้อจำนวนหลักร้อย หลักสิบ และผู้ป่วยที่เสียชีวิตอีกจำนวนหนึ่ง ทั้งนี้ ยังคาดการณ์กันด้วยว่า จำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อ และผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากฝีดาษลิงในภูมิภาคแอฟริกา อาจจะมีมากกว่าที่รายงานไปข้างต้น เนื่องจากเชื่อว่าอาจจะมีการตกสำรวจ อันสืบเนื่องจากระบบสาธารณสุขที่ยังคงล้าหลังในกลุ่มประเทศของภูมิภาคแถบนั้น

โดยสถานการณ์ข้างต้น ก็ สะท้อนให้เห็นว่า ไวรัสนี้มีการกลายพันธุ์จนเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ทำให้ผู้ติดเชื้อ ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น มีอาการป่วยรุนแรงขึ้น และมีโอกาสที่จะเสียชีวิตได้มากขึ้นกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม ซึ่งก็มีรายงานว่า พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิงนอกภูมิภาคแอฟริกาอีกจำนวนไม่น้อย ในภูมิภาคต่างๆ รวมเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้กระทั่งประเทศไทยเราเอง ก็พบในการระบาดครั้งล่าสุดนี้อย่างน้อย 1 ราย เป็นชาวยุโรปที่เดินทางมาจากประเทศคองโก

ทั้งนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงในรอบล่าสุด ก็ส่งผลให้ทางองค์การอนามัยโลก ต้องประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศกันอีกครั้ง

พร้อมกันนั้น ทางดับเบิลยูเอชโอ ก็ได้ประกาศถึงแนวทางในการรับมือการไวรัสร้ายเป็นประการต่างๆ ซึ่งก็คล้ายกับการจัดการกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคร้ายอื่นๆ เช่น การหมั่นล้างมือ หรือทำความสะอาดมือ การคัดกรองผู้ต้องสงสัย การแยกผู้ป่วยติดเชื้อ รวมถึงมีการระดมเงินทุนเพื่อการวิจัยในการพัฒนาวัคซีนให้มีประสิทธิภาพด้านป้องกันที่ดีขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ยังมีการประสานงาน ความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวด้วย

มาตรการต่างๆ ที่ทางการอินเดียประกาศให้ประชาชนใช้เป็นข้อปฏิบัติสำหรับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษวานรในประเทศ (Photo : AFP)

โดยมีรายงานว่า บางประเทศก็มีการปัดฝุ่นมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 หวนกลับมาใช้ใหม่ในการรับมือกับโรคฝีดาษลิงกันอีกครั้ง เช่น สิงคโปร์ เป็นต้น ออกมาตรการตรวจตรากันเข้มงวดตั้งแต่ท่าอากศยานกันมาเลย หรืออย่างอาร์เจนตินา สั่งห้ามเรือสินค้าที่เดินทางจากกลุ่มประเทศที่โรคฝีดาษลิงกำลังแพร่ระบาดเข้ามาเทียบท่า เป็นต้น

ทางการสิงคโปร์ ออกมาตรการตรวจคัดกรองอย่างเข้มงวดตั้งแต่ท่าอากาศยานก่อนเข้าประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรคฝีดาษลิง (Photo : AFP)

นอกจากนี้ หลายประเทศในภูมิภาคยุโรป ก็ออกคำแนะนำให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิง ก่อนเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง คือ พื้นที่พบการแพร่ระบาด อย่างหลายประเทศในภูมิภาคแอฟริกา เป็นต้น

ในหลายรัฐของสหรัฐฯ จัดสถานที่สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิงแก่ผู้ที่ต้องการรับการฉีดวัคซีน อันเป็นหนึ่งในมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด (Photo : AFP)

สำหรับ อาการของการติดเชื้อโรคฝีดาษลิง ก็จะมีตุ่มน้ำใสๆ หรือตุ่มหนอง บนผิวหนัง มีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอ ไอ อ่อนเพลีย ท้องเสีย และอาเจียน โดยระยะเวลาของการสำแดงโรคอยู่ที่ประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ ส่วนการป้องกันก็อาจจะใช้มาตรการเดียวกับโควิด-19 เช่น หมั่นทำความสะอาดมือ สวมหน้ากากอนามัยในที่ชุมชน เว้นระยะห่างทางสังคมกันไว้ก่อน ก็จะช่วยปลอดโรค ปลอดภัย ห่างไกลจากไวรัสร้ายอย่างไร้กังวล