วันที่ 26 สิงหาคม 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ นายธิติวัฐ อดิศรพันธ์กุล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นประธานในการเปิดงานสร้างเครือข่ายและประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือการขับเคลื่อนพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านผู้ประกอบการสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green SME Forum 2024: Assembling the path to Sustainability) ณ ห้องประชุมฟีนิกซ์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือของ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงการทำงานของหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มีบทบาทด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านการดำเนินธุรกิจของ SME เข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการสร้างความตระหนักรู้ ส่งเสริมระบบนิเวศ และสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อการปรับตัวให้สามารถรองรับผลกระทบจากมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ทั้งในและต่างประเทศ กระบวนการขอรับรองมาตรฐาน กระบวนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ตลอดจนกระบวนการเข้าสู่ตลาด รวมถึงการผลักดันให้ SME สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องได้อย่างทั่วถึง
ภายในงานมีกิจกรรมที่สำคัญและเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ ได้แก่ พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมและเชื่อมโยงผู้ประกอบการ SME ใน Supply Chain เพื่อความยั่งยืนทางธุรกิจด้านมาตรฐานสินค้าและข้อมูลผู้ให้บริการที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ระหว่าง สสว. กับ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กิจกรรมเสวนา และจัดนิทรรศการร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวจากหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้องรวมกว่า 15 หน่วยงาน กับ 6 Jigsaw ได้แก่ 1. Green Transition Facilitator (หน่วยงานสนับสนุนการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว) 2. Green Standard (หน่วยงานด้านมาตรฐานสินค้าและบริการสีเขียว) 3. Green Enterprise Indicator - GEI (แนวทางการพัฒนาเครื่องมือเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านผู้ประกอบการสีเขียว) 4.Green Financing (หน่วยงานด้านการสนับสนุนแหล่งเงินทุน) 5.Green Incentives (หน่วยงานด้านสิทธิประโยชน์) 6.Market Access and Global Value Chain (หน่วยงานด้านการส่งเสริมตลาด)
โดย ดร.ธิติวัฐ กล่าวว่า ความสำเร็จของงานในวันนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการร้อยเรียงนโยบายและกลไกการส่งเสริมสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของการพัฒนาผู้ประกอบการ SME ของประเทศ ในการปรับเปลี่ยนธุรกิจของตนเข้าสู่การเป็นเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียน ควบคู่ไปกับการบูรณาการ การเชื่อมโยงการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ภาคีภาคเอกชน และองค์กรที่เกี่ยวข้องในทุกมิติ ให้เกิดความสอดคล้อง ต่อเนื่อง เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะเป็นภาพต่อของการส่งเสริมและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านผู้ประกอบการสู่เศรษฐกิจสีเขียวได้อย่างยั่งยืนและมั่นคงในอนาคตต่อไป